เด็กเกือบ 10 ล้านคนทั่วโลกอาจไม่ได้กลับไปโรงเรียน "ตลอดกาล" หลังวิกฤตโควิด-19

เด็กเกือบ 10 ล้านคนทั่วโลกอาจไม่ได้กลับไปโรงเรียน "ตลอดกาล" หลังวิกฤตโควิด-19

เด็กเกือบ 10 ล้านคนทั่วโลกอาจไม่ได้กลับไปโรงเรียน "ตลอดกาล" หลังวิกฤตโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ลอนดอน, 13 ก.ค. (ซินหัว) องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน เมืองหลวงของสหราชอาณาจักร กล่าวเตือนว่าภายในสิ้นปีนี้อาจมีเด็ก 9.7 ล้านคนทั่วโลก “ที่จำต้องออกจากโรงเรียนตลอดกาล” โดยเป็นผลมาจากปัญหาความยากจนที่เลวร้ายลง และการตัดงบประมาณ เนื่องจากการเกิดขึ้นของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

รายงานที่เผยแพร่ลงบนเว็บไซต์ขององค์การระบุว่าใน 12 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง รวมถึงเยเมนและอัฟกานิสถาน เด็กมีความเสี่ยงสูงมากที่จะไม่ได้กลับไปโรงเรียนอีกหลังยกเลิกมาตรการปิดเมือง ขณะที่เด็กในอีก 28 ประเทศ มีความเสี่ยงนี้ในระดับสูงหรือปานกลาง

รายงานเผยว่ามาตรการปิดเมืองในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เด็กทั่วโลกต้องออกจากโรงเรียนมากที่สุดถึง 1.6 พันล้านคน

อิงเกอร์ แอชชิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารขององค์การระบุว่า สถานการณ์ครั้งนี้นับเป็นภาวะฉุกเฉินทางการศึกษาที่ไม่เคยมีมาก่อนและกล่าวว่า “เรารู้ดีว่าเด็กที่ยากจนที่สุด อยู่ชายขอบที่สุด ซึ่งในตอนนี้ก็อยู่รั้งท้ายที่สุดอยู่แล้ว จะต้องเผชิญกับความสูญเสียมากที่สุด”

ในสถานการณ์การใช้งบประมาณระดับปานกลาง ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกบางประเทศจะขาดแคลนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา 7.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.40 ล้านล้านบาท) ในช่วง 18 เดือนข้างหน้า ขณะเดียวกัน ประเทศที่รัฐบาลนำค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาไปใช้รับมือกับโรคโควิด-19 อาจขาดแคลนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงถึง 1.92 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6 ล้านล้านบาท) ภายในสิ้นปี 2021

แอชชิงแสดงความวิตกว่าวิกฤตด้านงบประมาณที่จะเกิดในไม่ช้านี้จะทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนที่มีอยู่ในปัจจุบันถ่างกว้างออกไปยิ่งกว่าเก่า

รายงานระบุว่าเด็กผู้หญิงมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเผชิญความรุนแรงที่เกิดจากเพศสภาพ การแต่งงานในวัยเด็ก และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ในช่วงที่โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอน

ในการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางการศึกษาครั้งนี้ องค์การช่วยเหลือเด็ก ซึ่งมีสมาชิก 29 ประเทศทั่วโลก ได้เรียกร้องให้รัฐบาลของนานาประเทศและผู้บริจาคเพิ่มเงินทุนอุดหนุนการศึกษา โดยธนาคารโลกจะให้เงินสนับสนุน 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.09 ล้านล้านบาท)

รายงานขององค์การยังเรียกร้องให้เจ้าหนี้ทางพาณิชย์พักการชำระหนี้ของประเทศที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งจะทำให้มีเงินลงทุนด้านการศึกษาเพิ่มอีก 1.40 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.37 แสนล้านบาท)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook