ใช้เงินแก้ปัญหา! คนรวย "ซื้อพาสปอร์ตย้ายประเทศ" หนีโควิด-19 ระบาด

ใช้เงินแก้ปัญหา! คนรวย "ซื้อพาสปอร์ตย้ายประเทศ" หนีโควิด-19 ระบาด

ใช้เงินแก้ปัญหา! คนรวย "ซื้อพาสปอร์ตย้ายประเทศ" หนีโควิด-19 ระบาด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า แม้คนส่วนใหญ่จะท่องเที่ยวได้น้อยลงในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่สำหรับคนที่ร่ำรวยมหาศาลนั้น สามารถ “ซื้อ” พาสปอร์ตของประเทศอื่นๆ ที่ปกติปิดชายแดนจากประเทศของพวกเขาได้

การซื้อพาสปอร์ตไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด รัฐบาลหลายประเทศมีโครงการมอบสัญชาติหรือวีซ่าให้ชาวต่างชาติที่ลงทุนเม็ดเงินในประเทศเหล่านี้ โดยในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา จุดประสงค์ของผู้ที่ลงทุนเพื่อรับสัญชาติใหม่ที่มีทรัพย์สินตั้งแต่ 2 – 50 ล้านดอลลาร์หรือมากกว่านั้น คือเพื่อเสรีภาพในการย้ายถิ่นฐาน สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือเหตุผลด้านไลฟ์สไตล์เช่น เพื่อเข้าถึงการศึกษาที่ดีขึ้น หรือเสรีภาพพลเมืองที่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ บรรดาครอบครัวเศรษฐีก็มีเหตุผลในการซื้อสัญชาติหรือวีซ่าเพิ่มขึ้นด้วยคือ การรับบริการด้านสุขภาพและการหาประเทศอื่นรองรับเผื่อเหตุการณ์ในอนาคต

โดมินิค โวเล็ค หัวหน้าแผนกเอเชียของบริษัทให้คำปรึกษาด้านการถือสัญชาติและการหาที่พำนัก Henly & Partners กล่าวกับทางซีเอ็นเอ็นว่า คนร่ำรวยมักไม่วางแผนล่วงหน้า 5-10 ปีแต่วางแผนด้านการเงินและความเป็นอยู่ล่วงหน้านานถึงกว่าร้อยปี โดยเฉพาะในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด เนื่องจากนี่อาจไม่ใช่การระบาดครั้งใหญ่เพียงครั้งเดียวในชั่วชีวิตของพวกเขา

ทางบริษัทยังได้รับคำขอรับบริการจากลูกค้ามากขึ้นถึง 49% ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนี้ จำนวนของลูกค้าที่เดินเรื่องลงทุนเพื่อขอสัญชาติและวีซ่ายังเพิ่มขึ้นถึง 42 เปอร์เซ็นต์ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว

มอนเตเนโกร ครองแชมป์ประเทศที่คนรวยอยากถือสัญชาติมากที่สุด

ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มอนเตเนโกรเป็นประเทศที่มีผู้ลงทุนเพื่อถือสัญชาติมากที่สุด โดยจำนวนผู้ขอสัญชาติเพิ่มขึ้นถึง 142% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ตามด้วยไซปรัสที่เพิ่มขึ้น 75% และมอลตาก็เป็นอีกประเทศที่มีผู้สนใจอยากถือสัญชาติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

โวเล็ค อธิบายว่า ไซปรัสและมอลตาได้รับความนิยมเพราะผู้ถือสัญชาติสองประเทศนี้จะได้เสรีภาพในการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอื่นในสหภาพยุโรปด้วยอัตโนมัติ และยังสามารถเข้าถึงการศึกษาและการบริการด้านสุขภาพที่ดีกว่าด้วย

นอกจากนี้ สัญชาติออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นอีกสองสัญชาติที่ได้รับความนิยมสูง เนื่องจากประสิทธิภาพในการรับมือกับภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะนิวซีแลนด์ที่รับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีเยี่ยม

แต่สัญชาติเหล่านี้ก็แลกมาด้วยราคาที่สูง โดยผู้ที่ต้องการถือสัญชาติออสเตรเลียต้องลงทุนด้วยเงิน 1-3.5 ล้านดอลลาร์ ส่วนสัญชาตินิวซีแลนด์มีราคาสูงขึ้นมาที่ 1.9-6.5 ล้านดอลลาร์ โดยโวเล็คกล่าวว่า นักลงทุนหลายคนเลือกวิธีใช้เงินสร้างฟาร์มสัตว์แบบยั่งยืน เพื่อที่พวกเขาจะได้มีสถานที่ให้พักพิง มีอาหารรองรับหากเกิดวิกฤติขึ้นมา

คนร่ำรวยที่ลงทุนซื้อสัญชาติชาวอเมริกัน อินเดีย ไนจีเรีย และเลบานอน มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงเก้าเดือนที่ผ่านมา โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ มีชาวอเมริกันเดินเรื่องขอสัญชาติเพิ่มขึ้นถึง 700 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว นอกจากนี้ เศรษฐีจากจีนและตะวันออกกลางก็เป็นกลุ่มใหญ่ที่ซื้อสัญชาติเช่นกัน

เศรษฐีซื้อสัญชาติ หาสถานที่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19

คนร่ำรวยบางกลุ่มลงทุนซื้อสัญชาติเพื่อหาสถานที่หลบภัยให้ครอบครัว หากเกิดเหตุโรคระบาดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยนูริ แคทซ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทให้คำปรึกษาด้านการเงินระหว่างประเทศ Apex Capital Partners ระบุว่า กลุ่มคนที่ซื้อสัญชาติเห็นว่าประเทศที่มีขนาดเล็กกว่า สามารถรับมือกับโรคระบาดได้ดีกว่า เช่น ประเทศในแถบหมู่เกาะแคริบเบียนที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่ำมาก ในขณะที่ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก

ประเทศหมู่เกาะเหล่านี้มีค่าลงทุนซื้อสัญชาติที่ไม่สูงมาก โดยแคทซ์ยกตัวอย่างว่า หากคุณเป็นเศรษฐีชาวบังกลาเทศ ที่พาสปอร์ตต้องขอวีซ่าเพื่อไปแทบทุกประเทศในโลก แต่หากคุณบริจาคเงิน 1 แสนดอลลาร์พร้อมค่าธรรมเนียมให้รัฐบาลของประเทศแถบแคริบเบียนอย่างแอนติกาและบาร์บูดา ครอบครัวของคุณสี่คนก็จะได้รับพาสปอร์ตของประเทศนี้ภายในเวลาราว 4-6 เดือน

แคทซ์ยังกล่าวด้วยว่า การถือพาสปอร์ตของอีกประเทศหนึ่งยังช่วยเปิดพรมแดนให้ผู้ถือพาสปอร์ตได้มากขึ้น หากในอนาคตมีเหตุการณ์ให้เกิดการปิดพรมแดนประเทศอีก

สำหรับโครงการลงทุนแลกสัญชาติหรือถิ่นพำนักในประเทศต่างๆ นั้น ประเทศแรกที่ทำโครงการนี้คือ ประเทศเซนต์คิตส์และเนวิส ในแถบหมู่เกาะแคริบเบียน ในพ.ศ. 2527 ก่อนที่ประเทศอื่นๆ จะทยอยเปิดโครงการตามมา

บางประเทศอาจกำหนดให้ผู้ขอรับสัญชาติก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งบริษัทที่สร้างงานให้คนท้องถิ่น หรือต้องอาศัยในประเทศตามระยะเวลาที่กำหนด หรือให้ลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาล อสังหาริมทรัพย์ หรือโครงการพัฒนาต่างๆ

เงินลงทุนที่แต่ละประเทศกำหนดก็แตกต่างกัน โดยประเทศแอนติกัวและบาร์บูดากำหนดเงินลงทุนที่ 1 แสนดอลลาร์ ประเทศเซนต์คิตส์และเนวิสกำหนดที่ 250,000 ดอลาร์ กรีซกำหนดที่ 280,000 ดอลลาร์ โปรตุเกสกำหนดที่ 380,000 ดอลลาร์ มัลตากำหนดที่ 1.1 ล้านดอลลาร์และไซปรัสกำหนดที่ 2.4 ล้านดอลลาร์

แม้จะไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่แคทซ์ก็คาดการณ์ว่า ในปีนี้มีผู้ได้รับสัญชาติผ่านการลงทุนเกือบ 25,000 คน เพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อสามปีก่อน ที่คาดว่ามีราว 5 พันคน

อย่างไรก็ตาม การใช้เงินลงทุนแลกกับสัญชาตินี้ก็ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะเป็นเวลาหลายเดือนถึงหลายปี โดยทั่วไป ผู้ยื่นเรื่องขอสัญชาติจะถูกประเมินด้านการงานและประวัติอาญาเพื่อตรวจสอบว่า เงินที่นำมาลงทุนนั้นได้มาอย่างถูกกฎหมายหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น มอลตา ที่มีขั้นตอนตรวจสอบวิเคราะห์สถานะถึงสี่ขั้นตอน ผู้ยื่นขอสัญชาติต้องระบุทรัพย์สินสุทธิ แหล่งเงินทุน และต้องมีหนังสือรับรองความประพฤติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติของประเทศที่เกิด ประเทศที่ถือสัญชาติ และประเทศใดๆ ก็ตามที่พวกเขาพำนักเกินหกเดือนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

การขอสัญชาติประเทศอื่นมีด้านลบหรือไม่?

ถึงแม้ว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งฝ่ายผู้ที่ต้องการสัญชาติและฝ่ายประเทศที่มอบสัญชาติ แต่ก็มีผู้ออกมาวิจารณ์ถึงช่องโหว่ของโครงการนี้เช่นกัน เช่น เครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น Transparency International ที่ระบุว่า โครงการมอบสัญชาติและที่พำนักในมอลตา ไซปรัส โปรตุเกส และสเปน เป็นการขายสัญชาติของประเทศสหภาพยุโรปให้นักลงทุนต่างชาติโดยมีการตรวจสอบและความโปร่งใสเพียงเล็กน้อย

เคท ฮูปเปอร์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์นโยบายของศูนย์คลังสมอง Migration Policy Institute กล่าวว่า โครงการขอสัญชาติของหลายประเทศก็ไม่มีการเปิดเผยขั้นตอนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ ทำให้มีคำถามตามมาว่า ขั้นตอนเหล่านี้คัดกรองคนและสืบหาต้นตอเงินของพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน

จอร์จ ดีมาร์ติโน อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และจริยธรรมระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ ยังเห็นว่า โครงการมอบสัญชาติเหล่านี้เป็นการมอบอภิสิทธิ์ให้กับกลุ่มคนที่มีอภิสิทธิ์อยู่แล้ว โดยให้สิทธิ์กลุ่มคนร่ำรวยที่มีความจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานน้อยที่สุด ในขณะที่กลุ่มคนที่ต้องการอพยพอย่างแท้จริง เช่น กลุ่มที่มีปัญหาทางการเงิน กลับไม่ได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้เลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook