หมอประเวศเสนอแนวINNปฏิรูป10ด้านพาไทยรอด

หมอประเวศเสนอแนวINNปฏิรูป10ด้านพาไทยรอด

หมอประเวศเสนอแนวINNปฏิรูป10ด้านพาไทยรอด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หมอประเวศ เสนอปฏิรูปประเทศ 10 ด้าน พร้อมเสนอโครงสร้าง INN เพื่อทางรอดพาประเทศไทยออกจากเข่ง บวรศักดิ์ เผยที่มาของความขัดแย้ง 3 ประการ

(11ก.ย.) โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ มีการจัดการประชุมวิชาการเพื่อทำข้อเสนอต่อรัฐบาลและสังคมเรื่อง "ทางรอดของประเทศไทย" ครั้งที่ 1 จัด โดยสถาบันพระปกเกล้า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย องค์กรในเครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย เครือข่ายทางปัญญา สำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่ง มี ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ พร้อมด้วยนักวิชาการ สื่อมวลชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง อาทิ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตรักษาการผบ.ตร. นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุม

ศ.นพ.ประเวศ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ทางรอดประเทศไทย : การปฏิรูปประเทศ" ว่า ปัญหาของประเทศไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมาตั้งแต่สมัยอดีต โดยความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้นมาหลายครั้งและทำให้สังคมไทยต้องดิ้นรนเพื่อ หาจุดลงตัวใหม่ ทั้งนี้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงฉากทัศน์หนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ก็อยากเห็นฉากอื่นที่ดีกว่านั้น จึงต้องมาทำความเข้าใจกันว่าวิกฤติคืออะไร สาเหตุมาจากอะไรและทางรอดอยู่ที่ไหน

นพ.ประเวศ กล่าวว่า ขอเรียกวิกฤตการณ์ปัจจุบันว่าเป็นวิกฤตการณ์คลื่นลูกที่ 4 ซึ่งเป็นสิ่งที่รุนแรงที่สุดและแก้ไขยากที่สุดเพราะไม่รู้ว่าศัตรูคือใคร โดยในสมัยก่อนเมื่อมีความขัดแย้งก็มีพระเจ้าอยู่หัวลงมาช่วย แต่ขณะนี้มองว่าไม่รู้จะช่วยยังไง ทั้งนี้เมื่อวิกฤติดำเนินไปจนสุดทางก็จะเกิด 2 แนวทางคือ มิคสัญญีกลียุค หรือ การปฏิรูปใหญ่

"ถ้าสังคมไปทางมิคสัญญีก็จะเกิดการฆ่ากันตายจนมากพอ เมื่อมีการสูญเสียจนมากพอ จนกระทั่งเกิดความสำนึกใหม่ร่วมกันว่ามันมาทางนี้ไม่ได้แล้ว ก็จะเปลี่ยนไปหาจุดลงตัวใหม่สู่แนวทางการปฏิรูป โดยสิ่งที่เราเรียกว่าวิกฤตินั้น ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เรียกได้ว่าวิกฤติแห่งความซับซ้อน เมื่อมีปรากฏการณ์หนึ่งก็จะกระทบต่อปรากฏการณ์อื่นในลักษณะทฤษฎีผีเสื้อ กระพือปีก" นพ.ประเวศ กล่าว

นพ.ประเวศ กล่าวว่า วิกฤติความซับซ้อนแก้ไขได้ยากมาก ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยอำนาจ แต่ต้องแก้ไขด้วยปัญญา โดยสมัยที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เคยพูดคุยเป็นการส่วนตัวแล้วว่าหากแก้ปัญหาด้วยอำนาจ อำนาจดังกล่าวจะตีกลับมา อย่างไรก็ดีทางแก้ไขต้องใช้ปัญญาแต่บังเอิญว่าปัญญาของคนในสังคมยังมีน้อย จึงทำให้ตกหลุมดำทางปัญญา

เขาบอกว่าหลุมดำหมายถึงแรงดึงดูดมหาศาลที่กลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปในตัวหมด หลุมดำทางปัญญาของสังคมไทยล้อมรอบด้วยกำแพงที่แน่นหนา 4 ด้าน คือ สังคมแนวดิ่ง ระบบอำนาจรัฐรวมศูนย์ ระบบเศรษฐกิจบริโภคนิยม และระบบการศึกษาที่ไม่มีพลังทางปัญญา ซึ่งกำแพง 4 ด้านนี้จะกักขังสติปัญญาของสังคมไทยไว้

นพ.ประเวศ อธิบายว่า สังคมแนวดิ่งคือสังคมที่มีความสัมพันธ์ระหว่างคนข้างบนที่มีอำนาจกับคนข้างล่างที่ไม่มีอำนาจ สังคมนี้มีการเรียนรู้น้อย ใช้อำนาจมาก มีพฤติกรรมการโจมตีแทงข้างหลัง ในสังคมแนวดิ่งเศรษฐกิจ การเมือง และศีลธรรมจะไม่ดี เหมือนประเทศไทยที่พระเจ้าอยู่หัวอยู่ข้างบน ประชาชนรักพระเจ้าอยู่หัว แต่ไม่รักกันเอง

สำหรับระบบอำนาจรัฐรวมศูนย์ นพ.ประเวศ บอกว่า เป็นระบบที่ใช้อำนาจ ไม่ได้ใช้ปัญญา มีการเรียนรู้น้อยเช่นเดียวกับสังคมแนวดิ่ง ไม่มีสมรรถนะในการแก้ปัญหายากๆ มีความฉ้อฉล คอร์รัปชั่นสู่ระบบอำนาจรัฐรวมศูนย์ดึงดูดนักธุรกิจการเมืองให้ยอมลงทุนมหาศาลเพื่อให้ได้ อำนาจรัฐในการกินรวบซึ่งเป็นสาเหตุของความรุนแรง โดยเฉพาะในภาคใต้ ที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมท้องถิ่น

ส่วนระบบเศรษฐกิจบริโภคนิยมนั้น นพ.ประเวศ อธิบายว่า เป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งอาจมีคนอ้างว่ามีข้อดีหลายอย่าง แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย และนำไปสู่ปัญหาด้านต่างๆ อาทิ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง ความขัดแย้ง ความรุนแรง

"50 ปีที่เราพัฒนาระบบเศรษฐกิจ คือการนำเอาทรัพทยากรที่มีอยู่ทั่วประเทศ มาเป็นเงินของคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรง ความเป็นธรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของมนุษย์ ความเป็นธรรมจะช่วยให้เกิดความสงบ" นพ.ประเวศ กล่าว

เขากล่าวถึงระบบการศึกษาที่ไม่มีพลังทางปัญญาว่า ปัจจุบันระบบการศึกษาที่มีอยู่ได้สร้างความทุกข์ยากให้แก่ประชาชน เห็นได้จาก ค่าเล่าเรียน ค่าแปะเจี๊ยะ การใช้เส้นสายเพื่อฝากบุตรหลานเข้าเรียน และการมองว่าการสอบเอ็นทรานด์เป็นเครื่องแบ่งระหว่างสวรรค์กับนรก โดยระบบการศึกษาทำให้ไม่มีพลังทางปัญญาเพื่อที่จะออกจากหลุมดำทางปัญญา เหมือนกับไก่อยู่ในเช่ง

"คนไทยสังคมไทยเหมือนไก่อยู่ในเข่งที่รอวันให้เขาเอาไปเชือดแต่ก็ยังจิกตีกันร่ำไป ทางรอดคือต้องรวมตัวกันเพื่อบินออกจากเข่งให้ได้" นพ. ประเวศ กล่าว

เขาบอกว่า เมื่อสุดทางไปก็เกิดมิคสัญญีกลียุคหรือปฏิรูปใหญ่ โดยการปฏิรูปเป็นกลไกลเพื่อความอยู่รอด ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าสังคมไทยมีมายาคติที่ทำให้หมดกำลังปฏิรูป ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ เพราะจิตสำนึกใหม่จะให้พลังมหาศาลประดุจพลังนิวเคลียร์ในตัวมนุษย์ ทั้งนี้มีนักปราชญ์ฝรั่งหลายคนบอกว่ามนุษย์ชาติจะอยู่รอดได้เพียงทางเดียว คือการปฏิวัติจิตสำนึก

หมอประเวศ แนะ10แนวทางปฏิรูปประเทศไทย พร้อมเสนอโครงสร้าง INN

สำหรับแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย นพ.ประเวศ กล่าวว่า เป็นการปฏิรูปแบบยกเครื่องทั้ง 10 เรื่อง ได้แก่ 1.สร้างจิตสำนึกใหม่ 2.ระบบเศรษฐกิจใหม่สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ 3.ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น 4.สร้างระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤติ 5.ธรรมมาภิบาลการเมืองการปกครอง ระบบความยุติธรรมสันติภาพ 6.ระบบสวัสดิการสังคมที่ก้าวหน้าต้องเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นคนทุกคน 7.ระบบพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่มีดุลยภาพ 8.กระปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อสุขภาวะของคนทั้งมวล 9.การวิจัยยุทธศาสตร์ชาติ 10.สร้างระบบการสื่อสารที่ผสานการพัฒนาทุกเรื่อง ซึ่งหากมอง 10 เรื่องนี้เป็นเรื่องยากก็จะไม่มีเวลาทะเลาะกัน ต้องช่วยกันปฏิรูป

นพ.ประเวศ บอกว่า ทั้งสิบเรื่องนี้เป็นเรื่องยากและคงไม่มีหน่วยงานไหนสามารถกระทำได้เพียง ลำพัง ดังนั้นต้องมีการรวมตัวกัน อย่างไรก็ตามเครื่องมือของรัฐมีลักษณะเป็นแท่งอำนาจ ใช้อำนาจมากกว่าปัญญา จึงไม่มีพลังในการออกจากโครงสร้างที่ซับซ้อน จึงเสนอโครงสร้างการทำงานใหม่คือ INN โดย I มาจากคำว่า Individual หรือปัจเจกบุคคลที่มีจิตสำนึกในศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคน N มาจากคำว่า Nodes หรือการรวมกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน รวมตัวกันทำเรื่องดีๆ และ N มาจากคำว่า Networks หรือเครือข่ายเชื่อมโยงกันระหว่างบุคคลและเครือข่าย

ทั้งนี้ INN เป็นโครงสร้างที่คนไทยทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกองค์กร ทุกสถาบัน จะร่วมปฏิรูปประเทศไทย ทั้งที่แยกกันทำและเชื่อโยงกันทำให้เต็มประเทศก็จะสามารถทำเรื่องยากๆ ได้

"สิ่งสำคัญเฉพาะหน้าคือต้องป้องกันความรุนแรงเพื่อให้เวลาประเทศไทย จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องป้องกัน ซึ่งวิธีหนึ่งคือการสร้างกรอบ กติกา และกลไก ที่สังคมจะเข้ามามีส่วนในการควบคุม เช่น การสลายการชุมนุม ต้องมีรายละเอียด มีข้อตกลงไว้ล่วงหน้าว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ต้องให้สังคมรู้ด้วย สังคมจะได้เข้าใจและเข้ามากำกับว่า ทำผิดกติกาหรือไม่ เรือล่มแล้วมาหัดไหว้น้ำมันไม่ทัน" นพ.ประเวศ กล่าว

นพ.ประเวศ กล่าวว่า คนไทยสามารถไปเล่นฟุตบอลได้ทั่วโลก ในการเล่นฟุตบอลมีกรอบกติกาและกลไกชัดเจน กรอบคือสนามว่าเราจะเล่นกันเฉพาะในสนามนี้เท่านั้น กติกาคือจะไม่ชกต่อยกัน ไม่ด่ากัน ไม่ถ่มน้ำลายรดกัน กลไกคือจะมีกรรมการและผู้กำกับเส้น โดยกรรมการและผู้กำกับเส้นอาจจะโกงได้ แต่เหตุที่ทำไม่ได้เพราะมีคนดูทั้งสนามและคนดูทางบ้านที่รู้กรอบ กติกา และกลไก คอยกำกับอีกทีหนึ่ง

บวรศักดิ์ เผยที่มาของความขัดแย้ง 3 ประการ

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า เครือข่ายหยุดทำร้ายประเทศไทย จะไม่ยอมให้สังคมตกอยู่ภายใต้ความหวาดเกรงต่อความรุนแรงและเข้าไปเป็นส่วน หนึ่งของความรุนแรง โดยจากความขัดแย้งในปี 2548 จนนำไปสู่การรัฐประหารปี 2549 และสู่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดนั้นความขัดแย้งยังคงมีอยู่ ทั้งนี้จากผลงานด้านวิชาการต่างๆ มีผู้พยายามวิเคราะห์วิจารณ์ว่าสาเหตุของความขัดแย้งเกิดจากอะไร และพยายามวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เป็นความขัดแย้งเหล่านั้นจะมีทางออกอย่างไร

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า งานวิชาการเกือบทุกชิ้นเห็นตรงกันว่าปัญหาสำคัญของความขัดแย้งมีด้วยกัน 3 ประการ คือ ปัญหาเรื่องความชอบธรรมของรัฐบาล โดยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในอดีตหรือปัจจุบันก็มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมที่ถูก ผู้ไม่เห็นด้วยท้าทาย ซึ่งบางส่วนเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับอุดมการณ์และบทบาทขององค์กรต่างๆ ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้จบลงแค่การถูกท้าทายเท่านั้น แต่ยังเป็นคำถามถึงความชอบธรรมขององค์กรต่างๆ ที่เป็นองค์กรทางการในรัฐธรรมนูญด้วย อาทิ ป.ป.ช. ศาล

สำหรับประการที่สองนั้น นายบวรศักดิ์ บอกว่า เป็นเรื่องของประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาที่ถกเถียงมาตั้งแต่อดีตว่ารัฐบาลสามารถบริหารประเทศและรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายได้หรือไม่ รวมถึงผลของการบริหารเป็นอย่างไร ส่วนประการที่สามคือ ปัญหาความเกี่ยวพันกับความเป็นธรรมของกติกา ความเป็นธรรมของการบริหารบ้านเมือง และความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรและความมั่นคั่งของประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook