เผย ชุดตรวจ "โควิดนัดจ์" ที่ "ทักษิณ" ร่วมทุน แม่นยำเทียบเท่าผลแล็บ รอผลแค่ 90 นาที

เผย ชุดตรวจ "โควิดนัดจ์" ที่ "ทักษิณ" ร่วมทุน แม่นยำเทียบเท่าผลแล็บ รอผลแค่ 90 นาที

เผย ชุดตรวจ "โควิดนัดจ์" ที่ "ทักษิณ" ร่วมทุน แม่นยำเทียบเท่าผลแล็บ รอผลแค่ 90 นาที
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วารสารการแพทย์ของอังกฤษเผยแพร่งานวิจัยด้านการทดสอบชุดตรวจ "โควิด" ผลิตโดยบริษัทที่อดีตนายกฯ "ทักษิณ ชินวัตร" ร่วมลงทุน แม่นยำเทียบผลตรวจจากแล็บ แต่ใช้เวลาประมวลผลราว 90 นาที น้อยกว่าส่งตรวจแล็บหลายเท่า

ทีมนักวิจัยจากอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน เผยแพร่ผลงานวิจัย Assessing a novel, lab-free, point-of-care test for SARS-CoV-2 (CovidNudge): a diagnostic accuracy study ลงในวารสารการแพทย์แลนเซ็ต เมื่อวันที่ 17 ก.ย. โดยกล่าวถึงการทดสอบความแม่นยำของชุดตรวจโควิด-19 แบบเร็ว "โควิดนัดจ์" (CovidNudge) ที่ผลิตโดยบริษัท "ดีเอ็นเอนัดจ์" 1 ใน 2 บริษัทเอกชนที่รัฐบาลอังกฤษจัดซื้อชุดตรวจมาใช้ในการปูพรมตรวจโรคโควิด-19 ในประเทศ เพื่อคัดกรองแยกผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะกักตัว

การทดสอบจัดทำขึ้นโดยเครือข่ายนักวิจัย The Lancet Microbe ระบุว่าชุดตรวจโควิดนัดจ์ เป็นการตรวจเชื้อในทางเดินหายใจ (RT-PCR) และดำเนินการได้อย่างง่ายดายด้วยตัวเอง วิธีการคือใช้สำลีพันไม้ที่มาพร้อมชุดตรวจเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อในโพรงจมูกและลำคอ จากนั้นจึงนำสำลีพันไม้ไปใส่ตลับชุดตรวจและนำไปเข้าเครื่องประมวลผล โดยใช้เวลาประมาณ 90 นาทีก็จะสามารถพรินต์ผลตรวจออกมาได้

สำนักข่าว Reuters และ Yahoo News รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ ศ.แกรห์ม คุก หัวหน้าทีมวิจัย ระบุว่า ผลตรวจของชุดตรวจแบบเร็ว "โควิดนัดจ์" มีความแม่นยำเทียบได้กับการส่งเชื้อตรวจในห้องแล็บ โดยอัตราความแม่นยำของผลตรวจผู้ติดเชื้อโควิด-19 คิดเป็น 94.4% ขณะที่ผลตรวจผู้ที่ไม่ติดเชื้อแม่นยำถึง 100%

สื่อต่างประเทศรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ชุดตรวจโควิด-19 แบบเร็ว มีปัญหาที่ความคลาดเคลื่อน และไม่แม่นยำเท่ากับการส่งตรวจที่ห้องแล็บ แต่การตรวจโดยแล็บปฏิบัติการก็ใช้เวลานานกว่า 24 ชั่วโมง เมื่อมีชุดตรวจสอบแบบเร็ว และประชาชนทั่วไปสามารถทดสอบได้ด้วยตัวเอง ก็จะช่วยให้การตรวจคัดกรองและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำได้ง่ายขึ้น ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลอังกฤษตั้งเป้าปูพรมตรวจคัดกรอง ได้แก่ โรงเรียนประถมและมัธยมทั่วประเทศ

ทั้งนี้ บริษัท ดีเอ็นเอนัดจ์ เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการตรวจดีเอ็นเอในอังกฤษ เพื่อดูเรื่องสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการกินอาหาร เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอล อาหารที่แพ้ และเตือนผู้ใช้ให้ระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน แต่สามารถนำเทคโนโลยีตรวจดีเอ็นเอมาใช้กับการตรวจหาเชื้อโควิดได้ด้วย

ผู้ร่วมก่อตั้ง "ดีเอ็นเอนัดจ์ ได้แก่ "คริส ทาวมาโซ" และ "มาเรีย คาเวลา" และบริษัทนี้เป็นข่าวฮือฮาในไทยช่วงต้นปี 2563 เพราะอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร เปิดเผยว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงทุน ทั้งยังเดินทางไปยังนครลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา พร้อมกับอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อร่วมงานเปิดตัว "ดีเอ็นเอนัดจ์" ที่งานแสดงผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ CES 2020 (Consumer Electronics Show 2020) เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook