กรมอุตุฯ เปิดรายชื่อ 7 จังหวัด ที่อากาศหนาวเย็นที่สุดของปีนี้
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/ns/0/ud/1656/8281906/winter(2).jpgกรมอุตุฯ เปิดรายชื่อ 7 จังหวัด ที่อากาศหนาวเย็นที่สุดของปีนี้

    กรมอุตุฯ เปิดรายชื่อ 7 จังหวัด ที่อากาศหนาวเย็นที่สุดของปีนี้

    2020-10-24T14:57:49+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง การเริ่มต้นฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ. 2563 ความว่า ประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2563 โดยลมที่พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยที่ระดับความสูง 100 เมตร ถึงความสูง 3,500 เมตร ได้เปลี่ยนเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมตะวันออก

    ส่วนลมระดับบนที่ความสูงตั้งแต่ 5,000 เมตรขึ้นไป ได้เปลี่ยนเป็นลมฝ่ายตะวันตก ประกอบกับอุณหภูมิต่่าสุดในช่วงเช้าบริเวณประเทศไทยตอนบนลดลงอยู่ในเกณฑ์อากาศเย็นเกือบทั่วไปแล้ว

    อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นของฤดูหนาวในปีนี้ ลักษณะอากาศบริเวณประเทศไทยตอนบนยังคงแปรปรวน โดยจะมีฝนตกในบางช่วงแต่ปริมาณไม่มากนัก ส่วนบริเวณภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป จึงประกาศให้ทราบทั่วกัน

    พร้อมเผย 7 จังหวัดที่อาจจะหนาวที่สุดของปีนี้เอาไว้ด้วย ซึ่งได้แก่ จังหวัดพะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน สกลนคร เลย และ นครพนม

     

    กรมควบคุมโรค ออกประกาศเตือน 5 โรค 2 ภัยสุขภาพ ช่วงฤดูหนาว

    นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งบางพื้นที่จะมีอุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศที่หนาวเย็นอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย จึงขอให้ประชาชนหมั่นดูแลร่างกายให้อบอุ่นและแข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาสที่จะเจ็บป่วยจากโรคและภัยสุขภาพ และได้ออกประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย พ.ศ.2563 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 1.โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ (โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ) 2.โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ (โรคอุจจาระร่วง) 3.โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว (โรคหัด โรคมือ เท้า ปาก) และ 4.ภัยสุขภาพ (การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว และการขาดอากาศหายใจจากการสูดดมก๊าซพิษจากอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มความอบอุ่นร่างกาย)

    สำหรับกลุ่มที่ 1 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่
    1.โรคไข้หวัดใหญ่
    2.โรคปอดอักเสบ
    สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากอนามัย

    กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง ป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัย เลือกทานอาหารที่ผลิตอย่างปลอดภัย ปรุงสุก สะอาด ดื่มน้ำสะอาด อาหารค้างมื้อควรเก็บในตู้เย็น และอุ่นให้ร้อนทุกครั้งก่อนทาน

    กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว ได้แก่
    1.โรคหัด ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนเข็มแรกตอนอายุ 9-12 เดือน เข็มสองตอนอายุ 2 ปีครึ่ง
    2.โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก หากพบอาการสงสัยว่าป่วย ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติทันที รีบพาไปพบแพทย์ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ

    กลุ่มที่ 4 ภัยสุขภาพ ได้แก่
    1.การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว คือ โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่มีผ้าห่มหรือสวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่ไม่เพียงพอ รองลงมาคือ มีโรคประจำตัว และมีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ สำหรับการป้องกัน ควรเตรียมความพร้อมร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลสุขภาพแก่บุคคลกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว งดการดื่มแอลกอฮอล์
    2.การขาดอากาศหายใจจากการสูดดมก๊าซพิษ ซึ่งฤดูหนาวจะมีประชาชนท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเรื่องที่น่าห่วงคืออาจได้รับพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) คาร์บอนมอนนอกไซด์(CO) จากการใช้อุปกรณ์เพิ่มความอบอุ่น เช่น ตะเกียง เตาอั้งโล่ และเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส โดยระบบเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ ทำให้ก๊าซสะสมของในปริมาณมากจนอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน จึงควรระมัดระวังการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สและอุปกรณ์ทำความอบอุ่นต่างๆ ในการป้องกันคือ ไม่ควรจุดตะเกียงหรือเตาไฟที่ใช้น้ำมัน หลีกเลี่ยงการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงภายในเต็นท์และภายในที่พักอาศัยที่ไม่มีการระบายอากาศเพียงพอ ตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และการบำรุงรักษาเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส ติดป้ายเตือนอันตราย และข้อควรปฏิบัติในการใช้งานอย่างชัดเจน ควรเว้นระยะเวลาการอาบน้ำต่อกันหลายคนอย่างน้อย 15-20 นาที เพื่อให้อากาศระบายออก ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ และสถานประกอบการควรมีถังออกซิเจนขนาดเล็ก เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ หากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก ควรรีบปิดเครื่องทำน้ำอุ่นและรีบออกจากห้องน้ำ หรือพบเห็นคนหมดสติขณะอาบน้ำ ควรเปิดประตูเพื่อระบายอากาศ นำผู้ป่วยไปยังพื้นที่โล่ง ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และโทรศัพท์แจ้งสายด่วน 1669 เพื่อนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด