สหรัฐฟื้นนโยบายคอนเทนเมนต์ ดึงพันธมิตรเอเชียกีดกันจีนทุกวิถีทาง

สหรัฐฟื้นนโยบายคอนเทนเมนต์ ดึงพันธมิตรเอเชียกีดกันจีนทุกวิถีทาง

สหรัฐฟื้นนโยบายคอนเทนเมนต์ ดึงพันธมิตรเอเชียกีดกันจีนทุกวิถีทาง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นโยบายคอนเทนเมนต์ (Containment Policy) เป็นยุทธศาสตร์ของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์จากสหภาพโซเวียตโดยเข้าไปช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในยุโรปและเอเชียจากการคุกคามขยายอำนาจของคอมมิวนิสต์จากสหภาพโซเวียตทุกวิถีทาง

ความพยายามดังกล่าวเน้นความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมวัฒนธรรมและการทหารเพื่อให้ประเทศต่างๆ สามารถยืนหยัดต่อต้านการคุกคามและการรุกรานจากสหภาพโซเวียต

นโยบายคอนเทนเมนต์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือแผนมาร์แชลล์ เป็นโครงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของสหรัฐแก่ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก เพื่อป้องกันการพังทลายทางเศรษฐกิจและเพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของรัฐชาติของยุโรปตะวันตกขึ้นมาใหม่

แผนมาร์แชลล์นี้ ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตกยุโรปได้เงินมากกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งในรูปเงินกู้และเงินช่วยเหลือจากสหรัฐตลอดระยะเวลาระหว่างปี 2491-2494 ทำให้ประเทศต่างๆ ฟื้นตัวจากเศรษฐกิจที่ใกล้จะล้มละลายจนสามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงแข็งแรงขึ้นมาได้จนรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของการขยายตัวของคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต

อีกโครงการหนึ่งของนโยบายคอนเทนเมนต์ก็คือการก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เพื่อรักษาความมั่นคงร่วมกันในหมู่ประเทศสมาชิกในทวีปยุโรปที่มีสหรัฐเป็นผู้นำเนื่องจากการตื่นกลัวภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาโดยยึดถือหลักการที่ว่า "การโจมตีประเทศสมาชิกประเทศหนึ่งประเทศใดจะถือว่าเป็นการโจมตีประเทศสมาชิกทั้งหมด"

องค์การนาโตประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงโดยขยายตัวจากเดิมเมื่อก่อตั้งมีสมาชิก 12 ประเทศมาเป็น 30 ประเทศในปัจจุบัน

ส่วนในทวีปเอเชียนั้นนโยบายคอนเทนเม้นท์ของสหรัฐไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนักองค์การเซ็นโตและองค์การซีโตอันเป็นองค์การเพื่อรักษาความมั่นคงร่วมกันในหมู่สมาชิกประเทศในภูมิภาคเอเชียกลางและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีสหรัฐเป็นผู้นำ ก็ล้มเหลวและล้มเลิกไปในที่สุด

มิหนำซ้ำประเทศในกลุ่มอินโดจีนอันได้แก่ เวียดนามใต้ กัมพูชา และลาวก็ตกเป็นเหยื่อของการขยายตัวของคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน

เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงเมื่อปี 2534 ทำให้การเมืองโลกสิ้นสภาพการเมืองแบบสองขั้วระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียตแล้ว เหลือเพียงสหรัฐที่ยังคงดำรงความเป็นอภิมหาอำนาจเพียงประเทศเดียวในโลก

เมื่อเวลาล่วงเข้ามาสู่ศตวรรษที่ 21 สาธารณรัฐประชาชนจีนพัฒนาแบบก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐเท่านั้น ขณะเดียวกันสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ขยายอำนาจออกไปทั่วทุกทิศโดยเฉพาะการอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ทั้งหมดทำให้สหรัฐต้องทำการโต้ตอบโดยการนำนโยบายคอนเทนเมนต์กลับมาดัดแปลงเพื่อใช้การอีกครั้งหนึ่ง

เยือนอินเดีย ที่เพิ่งขัดแย้งรอบใหม่กับจีน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีนี้คือการที่สหรัฐและอินเดียเพิ่งลงนามข้อตกลงสำคัญด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการทหาร พร้อมสัญญาที่จะยกระดับความสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจการด้านความมั่นคงและยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยสหรัฐอ้างว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดขึ้นนี้เพื่อต้านอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ นายไมค์ พอมเพโอ แถลงที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียว่าผู้นำของทั้งสหรัฐกับอินเดียต่างก็ตระหนักดีว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นไม่ได้เป็นมิตรกับระบอบประชาธิปไตย หลักนิติธรรม ความโปร่งใส หรือแม้แต่เสรีภาพในการเดินเรือ ซึ่งเป็นรากฐานของความมีเสรีภาพ การเปิดกว้าง และความรุ่งเรืองของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ดังนั้นการทำข้อตกลงความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลจากดาวเทียมระบุพิกัดทางภูมิศาสตร์ (BECA) ที่เพิ่งลงนามกันในวันอังคารที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมานี้จะช่วยให้อินเดียสามารถเข้าถึงข้อมูลทางภูมิศาสตร์ ทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ซึ่งมีความสำคัญต่อการระบุตำแหน่งเป้าหมายสำหรับการโจมตีด้วยขีปนาวุธและโดรนต่างๆ อย่างพร้อมมูล

นอกจากนี้สหรัฐยังขายอาวุธต่างๆ แก่อินเดีย เป็นมูลค่ากว่า 21,000 ล้านดอลลาร์ และทั้งสองประเทศยังได้ลงนามในข้อตกลงแบ่งปันข้อมูลสำคัญสำหรับใช้ในอุปกรณ์ทางการทหารที่มีความทันสมัยสูงอีกด้วย

ดึงพันธมิตรในภูมิภาคร่วมซ้อมรบ

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ นายมาร์ก เอสเปอร์ ที่เดินทางไปอินเดียพร้อมกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ก็แสดงความยินดีที่ออสเตรเลียจะเข้าร่วมในการซ้อมรบทางทะเลบริเวณอ่าวเบงกอลในเดือนพฤศจิกายนระหว่าง 3 ประเทศ คือ สหรัฐ อินเดีย และญี่ปุ่น โดยก่อนหน้านี้ จีนคัดค้านการซ้อมรบดังกล่าวซึ่งจีนมองว่าเป็นความพยายามต้านทานอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

ที่ผ่านมา อินเดียมีท่าทีโอนอ่อนตามจีนจนกระทั่งเกิดการกระทบกระทั่งระหว่างสองประเทศบริเวณเทือกเขาหิมาลัยถึงขั้นปะทะกันด้วยอาวุธเมื่อเดือน มิ.ย. ปีนี้ ทำให้ทหารอินเดียต้องเสียชีวิตไปถึง 20 นาย

ทั้งนี้ รัฐมนตรีนายไมค์ พอมเพโอ และ นายมาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ กำลังอยู่ระหว่างการเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีประจำปี โดยกรุงนิวเดลี เป็นหนึ่งในสี่จุดหมายของการเดินทางไปเอเชียของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะยกประเด็นภัยคุกคามของจีนขึ้นมาปรึกษาหารือกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

ส่วนจุดหมายอื่นๆ คือ ศรีลังกา มัลดีฟส์ และอินโดนีเซียอีกด้วยอันเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่าสหรัฐได้นำนโยบายคอนเทนเมนต์กลับมาใช้ต่อต้านสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook