ราชกิจจาฯ เผยแพร่คำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 5 ปี ทักษิณ คดีถือหุ้น-แก้กฎหมายเอื้อชินคอร์ป

ราชกิจจาฯ เผยแพร่คำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 5 ปี ทักษิณ คดีถือหุ้น-แก้กฎหมายเอื้อชินคอร์ป

ราชกิจจาฯ เผยแพร่คำพิพากษาศาลฎีกาฯ จำคุก 5 ปี ทักษิณ คดีถือหุ้น-แก้กฎหมายเอื้อชินคอร์ป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จําคุก 5 ปี “ทักษิณ ชินวัตร” คดีถือหุ้นชินคอร์ปในระหว่างเป็นนายกฯ และมีการแก้กฎหมายเอื้อธุรกิจจนทำรัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้าน

วานนี้ (14 ม.ค.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ อม. 9/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 ระหว่าง อัยการสูงสุด (โจทก์) และ นายทักษิณ ชินวัตร (จำเลย) เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม หรือคดีหุ้นชินคอร์ป ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการกระทําฝ่าฝืนกฎหมาย โดยยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน 1,419,490,150 หุ้น

ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2563 ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

องค์คณะผู้พิพากษามีมติเสียงข้างมาก ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ จำคุก 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์ สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น จําคุก 3 ปี รวมเป็นจําคุก 5 ปี ให้นับโทษจําคุกจําเลย ต่อจากโทษจําคุกของจําเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 และต่อจากโทษจําคุกของจําเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ข้อหาและคําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวเป็นการกล่าวหา นายทักษิณ หรือ อดีต พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต ด้วยการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต (พ.ศ. 2527) พ.ศ. 2546 เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชิน คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2551

โดยคดีนี้เคยถูกจำหน่ายออกจากสารบบความชั่วคราว​ เนื่องจากจำเลยหลบหนีคดี​ โดยจำเลยถูกออกหมายจับตามขั้นตอนไปแล้ว นำมาพิจารณาต่อตามกระบวนพิจารณา มาตรา 28 พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉบับใหม่ พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งบัญญัติว่า เมื่อสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วจำเลยไม่มาศาลและได้ออกหมายจับแล้ว ถ้าไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือนนับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิจำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ออกหมายจับนายทักษิณ มารับโทษตามคำพิพากษาดังกล่าวนี้ด้วย เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2563

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook