กระทรวงศึกษาฯ ขานรับนโยบาย BCG Economy จ่อเลือกพื้นที่ตัวอย่างในทุกจังหวัด

กระทรวงศึกษาฯ ขานรับนโยบาย BCG Economy จ่อเลือกพื้นที่ตัวอย่างในทุกจังหวัด

กระทรวงศึกษาฯ ขานรับนโยบาย BCG Economy จ่อเลือกพื้นที่ตัวอย่างในทุกจังหวัด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงศึกษาธิการ ขานรับนโยบายรัฐบาล ผลักดัน BCG Economy หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ เข้าโรงเรียน-อาชีวะ พร้อมเป็นตัวหลักวางพื้นฐานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง สร้างรากฐานให้แก่เยาวชนไทย เผยเตรียมวางพื้นที่ตัวอย่างรับนโยบายแล้ว

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (19 ม.ค.) ว่า ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการนั้น ก็รับมอบนโยบายเหมือนกับทุกๆ กระทรวง จาก ฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเป็นนโยบายที่เกี่ยวกับ BCG Economy หรือ การพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งประกอบด้วยเศรษฐกิจหลัก 3 ด้าน ที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

“การที่เราจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ จำเป็นต้องปูพื้นฐานที่กระทรวงศึกษาธิการ และในการที่จะรับแนวทางการวิจัยจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มา รวมถึงการให้นักเรียนมีความคุ้นเคยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งก็เป็นโอกาสดีที่เราจะนำเรื่องเหล่านี้มาปลูกฝังและให้เด็กๆ ได้รับทราบถึงแนวทาง ซึ่งเรากำลังจะสร้างเศรษฐกิจด้านนี้ขึ้นมา” รมว.ศึกษาธิการ ระบุ

ทั้งนี้ นายณัฏฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่หากเราผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ คงต้องมีจำนวน หรือมีปริมาณของนักเรียน ที่มีความเข้าใจเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น อันนี้เป็นแนวทางที่ท่านนายกรัฐมนตรีดำเนินการและทำเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นแนวทางของประเทศในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจึงต้องเป็นกระทรวงหลักในการวางพื้นฐานเรื่องนี้ร่วมกับกระทรวงอื่นๆ

ส่วน BCG Economy นั้น ท่านนายกรัฐมนตรีคาดหวังว่ากระทรวงศึกษาธิการจะสามารถวางแผนงบประมาณหรือปรับงบประมาณในส่วนของปี 2564 และปี 2565 เพื่อที่จะให้โครงการนนี้สามารถดำเนินการได้เลย โดยกระทรวงศึกษาธิการจะต้องมีการประชุมกับหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในการเลือกพื้นที่ตัวอย่างในหลายๆ ภูมิภาค หรือในทุกๆ จังหวัด

“เมื่อผมรับฟังมาและรับข้อมูลมาตั้งแต่เมื่อวันก่อน (18 ม.ค.) ซึ่งเป็นการวางแผนสำหรับการประชุมเอเปค เราก็คงต้องดูพื้นที่ตัวอย่าง ซึ่งนโยบายนี้ผมมองว่าตรงกับโรงเรียนต่างๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการวางฐานไว้เหมือนกันสำหรับในการที่จะเป็นโรงเรียนระดับชุมชน เพราะโรงเรียนประจำชุมชนของเราก็ได้คำนึงถึงบริบทของจังหวัดนั้นๆ พื้นที่นั้นๆ ในการทำ ตัวอย่างเช่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) หรืออาชีวะเกษตร ถ้าทำเป็น Excellence Center ก็ต้องนำเอาเรื่อง BCG Economy เข้ามาเกี่ยวข้องพอสมควร” นายณัฏฐพล กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook