“กฎหมายทำแท้ง” สิทธิเนื้อตัวร่างกาย ภายใต้สังคม “อุดมศีลธรรม”

“กฎหมายทำแท้ง” สิทธิเนื้อตัวร่างกาย ภายใต้สังคม “อุดมศีลธรรม”

“กฎหมายทำแท้ง” สิทธิเนื้อตัวร่างกาย ภายใต้สังคม “อุดมศีลธรรม”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“การทำแท้ง” ประเด็นอ่อนไหวที่สร้างการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนทุกครั้งที่หยิบยกขึ้นมาพูดถึง เพราะไม่เพียงแต่การทำแท้งจะผิดศีลธรรมแล้ว ยังผิดกฎหมายอีกด้วย เนื่องจากกฎหมายของไทยกำหนดให้การทำแท้งเป็น “อาชญากรรม” ที่เอาผิดผู้หญิงแต่เพียงฝ่ายเดียว กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติให้ปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 และมาตรา 305 ที่ลงโทษผู้หญิงทำแท้ง นำไปสู่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ที่นำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 20 มกราคม 2564

แม้ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขกฎหมายทำแท้งจะออกมาเป็นรูปเป็นร่างแล้ว แต่หลายฝ่ายก็ให้ความเห็นว่า ร่างดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล และยังติดหล่ม “ศีลธรรม” ที่เอาเปรียบและเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้หญิงเช่นเดิม ด้วยเหตุนี้ “กลุ่มทำทาง” อาสาสมัครที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องทำแท้งมานานกว่า 10 ปี จึงจัดเสวนาออกไลน์ ภายใต้หัวข้อ “มองการทำแท้งด้วยสิทธิมนุษยชน” ขึ้น เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา เพื่อมองการทำแท้งด้วยกรอบสิทธิเนื้อตัวร่างกายที่จะให้คุณประโยชน์ต่อผู้หญิงทุกคนอย่างแท้จริง 

ความคืบหน้าร่างกฎหมายทำแท้ง

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. … เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ว่าด้วยการยุติการตั้งครรภ์ ได้กำหนดให้ผู้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิด แต่หากอายุครรภ์เกินกว่านั้น จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท และแพทย์ที่ช่วยยุติการตั้งครรภ์จะไม่มีความผิด ภายใต้เงื่อนไขเรื่องสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตัวอ่อนในครรภ์มีความทุพพลภาพ การตั้งครรภ์เกิดจากการกระทำผิดทางเพศ (รวมถึงในกรณีที่ผู้หญิง “ยืนยัน” จะยุติการตั้งครรภ์ โดยไม่ต้องแจ้งความหรือร้องทุกข์) และผู้หญิงยืนยันให้แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ 

คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง

ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ตัวแทนเครือข่ายสนับสนุนผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และคณะกรรมาธิการวิสามัญที่ร่วมแก้ไขกฎหมาย ระบุว่า ในขั้นตอนของการพูดคุยเพื่อร่างกฎหมาย ตนได้เสนอให้ยกเลิกกฎหมาย มาตรา 301 เพียงคนเดียว และมีผู้เสนอให้สามารถทำแท้งได้ หากอายุครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์ แต่ถูกโหวตแพ้หมด โดยมีการหยิบยกเรื่อง “สิทธิตัวอ่อน” ขึ้นมาเป็นข้ออ้าง เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้ “ดูความสมดุลของสิทธิของทารกและสิทธิของผู้หญิง” 

“สิทธิทารกถูกสร้างขึ้น มันไม่มีจริง และมันเป็นความเชื่อที่อ้างอิงตามความเชื่อศาสนา เราบอกว่า สิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนเราเกิดขึ้นมาแล้ว ถ้ายังไม่เกิดลูกก็ไม่มีสิทธิ เขาก็อ้างเรื่องสิทธิเด็ก อ้างว่าต้องดูแลเด็กก่อนคลอดจนหลังคลอด ก็เลยบอกว่า ที่ต้องดูแลก่อนคลอด เขาให้ดูแลแม่ ให้ดูแลตัวผู้หญิง เพื่อให้เด็กแข็งแรง” ดร.กฤตยาชี้ 

สอดคล้องกับศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน และสุนัย ผาสุก ตัวแทนจากฮิวแมนไรท์วอทช์ ที่กล่าวว่า การมีสภาพบุคคลธรรมดาจะเริ่มขึ้นเมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารกแล้ว

ขณะที่มาตรา 305 (5) กำหนดให้ผู้หญิงอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์และไม่เกิน 20 สัปดาห์ ที่ “ยืนยัน” จะยุติการตั้งครรภ์ สามารถทำได้หลังจากเข้าไปตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดขึ้นมาตามคำแนะนำของแพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายป้องกันการตั้งครรภ์ของวัยรุ่น 

ร่างกฎหมายที่ไปไม่สุด

แม้ร่างกฎหมายที่ออกมา ดูเหมือนจะช่วยเปิดช่องทางให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงการทำแท้งปลอดภัยมากขึ้น แต่เอมิลี่ ประดิจิต ผู้อำนวยการมูลนิธิมานุษยะ ก็มองว่าประเทศไทยยังไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล เนื่องจากการทำแท้งยังอยู่ในกฎหมายอาญาที่เอาผิดผู้หญิง และยังละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้หญิง โดยคุณเอมิลี่ได้อธิบายว่า สิทธิในการทำแท้งของผู้หญิงได้รับการรับรองในกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (CEDAW) เป็นต้น ซึ่งรัฐไทยมีพันธกรณีที่จะต้องสร้างให้เกิดกลไกและกฎหมายเรื่องการทำแท้ง

“การทำให้การทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำให้การทำแท้งดูเป็นเรื่องแย่ การแก้กฎหมายเปิดเพดานให้ผู้หญิงทำแท้ง แต่ยังทำให้ผู้หญิงเป็นอาชญากร ส่งผลให้การเข้าถึงการทำแท้งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน อีกทั้งยังเป็นการจำกัดสิทธิเนื้อตัวร่างกายและจำกัดการตัดสินใจเรื่องสุขภาพของผู้หญิง” เอมิลี่กล่าว 

AFP

เช่นเดียวกับเพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล ตัวแทนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ก็เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายที่กดขี่และสร้างตราบาปให้คนทำแท้ง และต้องทำให้บริการทำแท้งเป็นบริการทางการแพทย์ที่ผู้หญิงสามารถเข้าถึงได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ เพชรรัตน์ยังย้ำว่า การพยายามผลักดันกฎหมายถือเป็นหนึ่งก้าวที่ดีของขบวนการขับเคลื่อนเรื่องการทำแท้ง 

ทางด้านสุนัยก็ได้แสดงความคิดเห็นว่า การแก้ไขกฎหมายทำแท้งของไทยเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดคิด เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา จึงนำไปสู่การร่วมกันหาทางออกว่าต้องทำอย่างไรให้การทำแท้งสอดรับกับกติกาสากล แต่ “ประเทศไทยก็ยังไม่กล้าไปไกลพอ” ซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มีความพยายามจะแก้ไขกฎหมายทำแท้งเช่นเดียวกัน 

มันเป็นการซ้อนทับกันของพันธกรณีสิทธิมนุษยชนสากลกับหลักคิดด้านศีลธรรม ภายใต้กรอบศาสนาอะไรก็ตาม มันเป็นหลักการที่ซ้อนเหลื่อมกัน แล้วไปด้วยกันไม่ได้” สุนัยชี้ 

ศีลธรรม VS สิทธิเนื้อตัวร่างกาย

“ความเป็นหญิงและวิถีชีวิตของผู้หญิงมักถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการวัดระดับศีลธรรมของสังคม ถ้าผู้หญิงดีก็คือสังคมดี แต่ถ้าผู้หญิงเหลวแหลก สังคมก็จะเหลวแหลก ผู้หญิงจะท้องไม่มีพ่อทั่วไปหมด หรือว่าแต่งงานแล้วก็หย่า คือผู้หญิงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวค้ำยันมาตรฐานทางศีลธรรม ดร.วราภรณ์  แช่มสนิท ผู้จัดการแผนสุขภาวะเพศหญิงและความเป็นธรรมทางเพศ แสดงความคิดเห็น

เมื่อผู้หญิงต้องรับภาระในการทำหน้าที่รักษามาตรฐานทางศีลธรรม และช่วยค้ำยันสังคม สมาชิกคนอื่นในสังคมก็เป็นอิสระที่จะกระทำการบางอย่างได้โดยไม่ต้องติดกรอบทางศีลธรรม ซึ่ง ดร.วราภรณ์ชี้ว่า นี่เป็นกระบวนทัศน์หนึ่งของคนที่พยายามเอาผิดทางอาญากับผู้หญิงที่ทำแท้งหรือคนที่ให้บริการทำแท้ง 

ขณะที่เรากำลังพูดกันจากกระบวนทัศน์อีกอย่างหนึ่ง นั่นคือเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งก็มีหลายด้าน ทั้งสิทธิการกำหนดชีวิตตัวเอง สิทธิเนื้อตัวร่างกาย สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือการต่อสู้ของกระบวนทัศน์สองชุดใหญ่ ๆ ที่มีความแตกต่างกัน แม้ว่าเราจะพูดว่า การแก้กฎหมายยังไม่เป็นไปตามกติกาสิทธิมนุษยชน แต่ดูเหมือนคนที่กำลังนัวเนียกับการแก้ไข เขาไม่ได้มองในมิติเรื่องสิทธิสักเท่าไร เขายังติดอยู่ในกระบวนการคิดแบบเดิมที่ถูกฉาบทาด้วยเรื่องศีลธรรม ศาสนา หรือแพทย์ต้องมีอำนาจในการตัดสินใจ” ดร.วราภรณ์ตั้งข้อสังเกต 

คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง

 

ขณะที่กฎหมายอาญาเกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLAW ก็มองว่า คุณธรรมและศีลธรรมเป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามสังคม เมื่อเวลาเปลี่ยน คนคิดใหม่ กฎหมายก็ต้องแก้ไขได้เป็นธรรมดา เช่นเดียวกับศศินันท์ที่พูดถึงหลักศีลธรรมกับกฎหมายไว้ว่า 

“ศีลธรรม จารีต ประเพณี เป็นที่มาของกฎหมายอย่างหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ต้องอาศัยความก้าวหน้าของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองด้วย เรื่องทำแท้งเป็นเรื่องสิทธิโดยตรงของผู้หญิง ที่มีทางเลือกได้ว่าเราจะตั้งครรภ์หรือเปล่า เราควรมีสิทธิ์ตั้งแต่เราตัดสินใจว่าจะมีเด็กคนนี้ไหม เรามีความพร้อมขนาดไหน หรือมีปัญหาอะไรระหว่างตั้งครรภ์หรือไม่

ความหวังยังผลิบาน

ในส่วนของการพิจารณาร่างกฎหมายในรัฐสภานั้น สุนัยมองว่า ยังมีอีกหลายด่านที่ต้องฝ่าออกไป และคนทำงานยังจะต้องเจอแรงต้านอีกเยอะ เพราะฉะนั้น หากแรงหนุนจากสังคมไม่มากพอ การดันกฎหมายฉบับนี้ก็คงจะเหนื่อยมาก ขณะที่คุณยิ่งชีพย้ำว่า หลังจากที่ร่างกฎหมายทำแท้งผ่านมือคณะกรรมาธิการ และเข้าสู่รัฐสภาในวาระ 2 และวาระ 3 แล้ว ก็มีโอกาสที่หลาย ๆ ประเด็นที่ผ่านในชั้นกรรมาธิการ จะถูกโหวตให้เป็นอย่างอื่น หรืออาจมีคำพูดที่ไม่ดีนักออกมาให้ได้ยินกัน ก่อนแสดงความคิดเห็นว่า ตัวแทนที่เข้าไปทำหน้าที่ในสภาไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องทำแท้งมากนัก และไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องสิทธิเนื้อตัวร่างกาย หรือเรื่องพื้นฐานที่ประชาชนกำลังเดือดร้อน

เราไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย แต่เราต้องแก้ไขที่ระบบการเมือง แก้ไขที่ตัวแทนที่จะเข้าไปนั่งยกมือ แล้วก็อภิปรายให้เหตุผลต่าง ๆ เพื่อทำให้มันมีความแคร์ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่านี้” ยิ่งชีพกล่าว 

AFP

อย่างไรก็ตาม แม้การเดินหน้าแก้ไขกฎหมายจะมีอุปสรรคมากมาย เนื่องจากทัศนคติเรื่อง “ศีลธรรม” ที่ยังมีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตของคนไทยอยู่ แต่หลายคนก็เชื่อว่า การทำงานเชิงความคิดของคนรุ่นใหม่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับการเข้ามาร่วมขบวนการของคนหน้าใหม่ ๆ ซึ่งถือเป็นความหวังของการขับเคลื่อนเรื่องการทำแท้ง 

“ในมุมมองการเคลื่อนไหวทางด้านกฎหมาย อาจจะดูหมดหวัง แต่ในมุมมองทัศนคติในสังคมที่เปลี่ยนไป เรามีความหวังมากขึ้น คนรุ่นใหม่มีความคิดที่ก้าวหน้ามากขึ้น และส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับกฎหมายทำแท้งมากขึ้น แม้การทำงานเชิงปฏิบัติจะหมดความหวัง แต่การทำงานเชิงความคิดมีความหวังมากขึ้น และในอนาคต การเปลี่ยนแปลงก็อาจจะทำได้ง่ายขึ้น” ศศินันท์กล่าวสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook