ว่าด้วยเรื่อง "พุทธศักราช" กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปี 2484 และ 2564

ว่าด้วยเรื่อง "พุทธศักราช" กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปี 2484 และ 2564

ว่าด้วยเรื่อง "พุทธศักราช" กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปี 2484 และ 2564
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปีนี้คือปี 2564 ผู้เขียนเกิดอยากจะเขียนอะไรสนุกๆ เกี่ยวกับประเทศไทยที่คนไทยไม่ค่อยจะรู้กันกล่าวคือเรื่องการนับวัน นับเดือนและนับปีของบ้านเราที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายครั้ง จนกระทั่งทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศเดียวในโลกที่ใช้พุทธศักราชเป็นปีทางราชการประเทศเดียวในโลก ซึ่งก็น่าจะสำเหนียกไว้เพื่อที่จะได้ไม่เผลอไปใช้ พ.ศ. อ้างอิงในการติดต่อกับชาวต่างประเทศให้สับสนกันวุ่นวายโดยใช่เหตุ

เพราะว่าประเทศที่นับถือศาสนาพุทธอื่น ๆ เช่นศรีลังกา เมียนมาร์ ลาวและกัมพูชาใช้พุทธศักราชเป็นปีทางศาสนาเท่านั้น

สำหรับคำว่า "ศักราช" หมายถึงอายุเวลาซึ่งกำหนดตั้งขึ้นเป็นทางการเริ่มแต่จุดใดจุดหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นที่หมายเหตุการณ์สำคัญเรียงลำดับกันเป็นปีๆ ศักราชที่นิยมใช้กันและที่พบในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยมีดังนี้ คือ

เดิมในสมัยต้นสุโขทัยไทยเราใช้มหาศักราชจากหลักฐานในหลักศิลาจารึกและเอกสารประวัติศาสตร์ของไทยบ้างซึ่งมหาศักราชเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 622 โดยพระเจ้ากนิษกะของอินเดียทรงตั้งขึ้น

แต่ต่อมาไทยเราได้รับอิทธิพลจากพม่าสมัยยังเป็นอาณาจักรพุกาม ไทยเราจึงรับจุลศักราชซึ่งถือเอาวันที่พระพม่ารูปหนึ่งชื่อว่า บุพโสระหันสึกออกจากเพศบรรพชิตมาเพื่อชิงราชบัลลังก์ของอาณาจักรพุกามที่เริ่มนับจากปี 1882 เราใช้มาตั้งแต่ปลายสมัยสุโขทัย ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา และรัตนโกสินทร์

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าควรจะใช้ศักราชแบบไทยจะเหมาะกว่า  ทรงออกพระราชบัญญัติให้ใช้วันอย่างใหม่ ในวันที่ 28 มี.ค. 2430 เลิกใช้จุลศักราช หันมาใช้ รัตนโกสินทรศกโดยให้ปี พ.ศ. 2325 ที่สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นรัตนโกสินทรศก 1 หรือ ร.ศ. 1 แต่ในทางพุทธศาสนาให้ใช้ "พุทธศักราช" หรือ "พ.ศ." ตามแบบธรรมเนียมที่ใช้มาแต่กรุงศรีอยุธยา

ครั้นถึงรัชกาลที่​ 6​ พระบาทสมเด็จ​พระ​มงกุฎ​เกล้า​เจ้า​อยู่​หัว​ทรง​เห็นว่า​ ร.ศ. นั้นไม่เป็นสากลและเป็นการนับศักราชได้แค่ช่วงสั้นๆ​ เฉพาะในสมัยรัตน​โกสินทร์​เท่านั้น​ ถ้าก่อนนั้น​แค่สมัยกรุงธนบุรี​ ก็ต้องคงเป็น​ ร.ศ.​ ติดลบ​ ดังนั้นจึงโปรดให้นำพุทธ​ศักราชมาใช้แทนรัตนโกสินทร์​ศก โดยเริ่มใน​ พ.ศ.​ 2454​  ซึ่งเป็น​ ร.ศ.​130

รวมเวลาที่ใช้​ ร.ศ.​จาก​ ร.ศ​ 108​ ถึง​ ร.ศ.​130​ เพียง​ 22​ ปี เริ่มแรกใช้วันวิสาขบูชาเป็นวันเปลี่ยนศักราชแต่เนื่องจากวันวิสาขบูชานั้นถือทางจันทรคติจึงกำหนดวันแน่นอนแต่ละปีไม่ได้ จึงเปลี่ยนให้วันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายน 2456 เป็นวันเปลี่ยนมาใช้พุทธศักราชตั้งแต่นั้นมา

เมื่อถึงสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วมีนโยบายปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสากล จึงได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งพิจารณาเรื่องวันขึ้นปีใหม่โดยมี หลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม เพราะฉะนั้นในวันที่ 24 ธันวาคม 2483 รัฐบาลออกประกาศชื่อ "ประกาศ ให้ใช้ วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่"

ประกาศนี้มีผลให้ประเทศไทยเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา และทำให้ พ.ศ. 2483 เป็นปีที่สั้นที่สุด จากที่เคยยาวไปถึงวันที่ 31 มี.ค. ก็หดสั้นลงแค่วันที่ 31 ธ.ค. เหลือเพียง 9 เดือน เพราะได้ตัดเอาเดือน ม.ค.-ก.พ.-มี.ค. ซึ่งนับเป็น 3 เดือนสุดท้ายปี พ.ศ. 2483 ตามธรรมเนียมการนับปีเดิม มาเป็นสามเดือนแรกของปี 2484 แทน และตั้งแต่นั้นมาวันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี

ครับ! ปี 2484 เป็นปีที่สำคัญเอาการอยู่โดยประเทศไทยได้ประกาศสถานสงครามกับอินโดจีน เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2484 โดยกองทัพไทยได้เคลื่อนกองทัพบุกเข้าไปในเขมรและลาว มุ่งยึดดินแดนที่เสียให้กับฝรั่งเศสไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 กลับคืนมา

ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในเวลานั้น ซึ่งได้ส่งกำลังทหารมาตั้งฐานทัพที่เมืองฮานอยและเมืองไฮฟองตั้งแต่เดือน ส.ค. 2483 แล้ว เกรงว่าการสู้รบครั้งนี้จะเป็นอุปสรรคต่อแผนการรุกเข้ายึดครองดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบที่จำเป็นในการทำสงครามใหญ่ของญี่ปุ่น ที่จะตึเข้าไปทางอินเดีย เพื่อบรรจบกับกองทัพนาซีเยอรมันที่รุกมาทางรัสเซียต่อไป จึงได้ยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ยเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2484 ตกลงให้มีการหยุดยิงเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2484 และมีการลงนามหยุดยิงบนเรือลาดตระเวนของญี่ปุ่นชื่อนาโตริ หน้าอ่าวเมืองไซ่ง่อน เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2484

หลังสิ้นสุดกรณีพิพาท โดยมีญี่ปุ่นเป็นตัวกลางในการเจรจา ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาโตเกียว เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2484 ผลทำให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาของหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชาคืนมาจากฝรั่งเศส และได้นำมาแบ่งเป็น 4 จังหวัดคือ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง

มีการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไป 59 คนไปในกรณีพิพาทดังกล่าว โดยพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 และจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2485 สถาปนิกผู้ออกแบบอนุสาวรีย์คือ หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล

ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงไทยเราก็ต้องคืนดินแดนที่ได้มาทั้งหมดกลับไปให้ฝรั่งเศสดังเดิม

ปิดท้าย พ.ศ. 2484 วันที่ 8 ธ.ค. 2484 เมื่อญี่ปุ่นส่งกำลังพลเข้ารุกรานไทยในหลายพื้นที่ชายทะเลของไทยได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาถัดมาซึ่งเป็นผลที่ทำให้ประเทศไทยหวุดหวิดจะตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ไปกับกลุ่มประเทศอักษะโดยรอดตัวไม่ถูกอังกฤษเข้ามายึดครองไปอย่างฉิวเฉียด

ครับ! ที่เขียนบทความนี้ขี้นมาก็เพราะเห็นว่าปีใหม่นี้เป็นปี 2564 นับเป็นเวลา 80 ปีพอดีจากปี 2484 จึงเขียนเรื่องสนุกๆ ที่พอมีสาระมาแชร์กับท่านผู้อ่านที่เคารพเป็นมิตรพลีนะครับ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook