รู้หรือไม่ไทยมีกฎหมายพินัยกรรมชีวิต เปิดช่องปฏิเสธรักษาเลี่ยงทรมานยามสุขภาพทรุด

รู้หรือไม่ไทยมีกฎหมายพินัยกรรมชีวิต เปิดช่องปฏิเสธรักษาเลี่ยงทรมานยามสุขภาพทรุด

รู้หรือไม่ไทยมีกฎหมายพินัยกรรมชีวิต เปิดช่องปฏิเสธรักษาเลี่ยงทรมานยามสุขภาพทรุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อต้นเดือนมกราคม ปีนี้ ผู้เขียนได้ข่าวว่าได้มีผู้ป่วยที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งขณะที่นอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลได้ทำ Living Will (พินัยกรรมชีวิต) ด้วยตนเองโดยลงนามใน "หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข" เป็นรายแรกเท่าที่ทราบที่แสดงความประสงค์ที่จะทำพินัยกรรมชีวิตนี้ด้วยตนเองตาม พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

มาตรา 12 ของกฎหมายดังกล่าวบัญญัติให้บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ เพื่อให้แพทย์และญาติปฏิบัติต่อผู้ป่วยตามความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วย

จากนี้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าว ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 22 ต.ค. 2553 โดยได้ตัวอย่างจากประเทศสิงคโปร์ที่ออกกฎหมายแบบนี้มาเมื่อ 2539 ให้อำนาจแก่การตัดสินใจแก่ประชาชนทุกคนที่มีอายุ 21 ปี ขึ้นไปว่า จะอยู่หรือตายในกรณีที่บุคคลนั้นป่วยในขั้นโคม่า มีชีวิตอยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยชีวิตนานาชนิด อาทิ เครื่องช่วยหายใจหรือให้อาหารทางท่อ เป็นต้น 

คนสิงคโปร์มีสิทธิจะกรอกแบบฟอร์มในรูปพินัยกรรม ที่มีข้อความทำนองว่าหากข้าพเจ้าป่วยถึงขั้นที่ไม่มีทางกลับฟื้นมาดำรงชีวิต อย่างปกติได้และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยชีวิตต่างๆ เท่านั้น เป็นความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ทางโรงพยาบาลยุติการใช้เครื่องช่วยชีวิตเหล่านั้นโดยให้ข้าพเจ้าได้สิ้นชิวิตอย่างสงบ

กฎหมายที่ให้อำนาจคนสิงคโปร์ตัดสินชีวิตของตนเองนั้นมีผลมาจากความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ที่สามารถต่อชีวิตคนป่วยได้เป็นเวลาหลายปีโดยที่คนป่วยไม่รู้สึกตัว (โคม่า) และเกือบทุกกรณีที่แพทย์ได้ลงความเห็นว่าไม่มีทางฟื้นขึ้นมาได้อยางเด็ดขาด  เนื่องจากเซลล์สมองได้ตายไปแล้ว

สิทธิในการปฏิเสธการรักษาพยาบาลตามมาตรา 12 เป็นเรื่องการตายอย่างสงบตามวิถีธรรมชาติ ไม่ใช่จากการช่วยเหลือให้ผู้อื่นฆ่าตัวตายหรือการุณยฆาต (Mercy killing) ซึ่งขัดต่อศีลธรรมและจริยธรรมของแพทย์ โดยทางรัฐรับรองสิทธิผู้ป่วยที่จะทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาที่เกินความจำเป็น ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิทำหนังสือนี้ยังคงได้รับการดูแลรักษาตามอาการแบบประคับประคอง (Palliative Care) มิได้ถูกแพทย์พยาบาลทอดทิ้ง หากผู้ป่วยมีอาการทุกข์ทรมานหรือเจ็บปวดก็จะได้รับการช่วยเหลือหรือบรรเทาอาการจากการให้มอร์ฟีนแก่ผู้ป่วยเป็นอาทิ

วัตถุประสงค์ของการทำ Living Will (พินัยกรรมชีวิต) ของผู้ป่วยกรณีคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยแบบจากโรคที่รักษาไม่หายไม่สามารถเดินได้ติดเตียงและมีอาการเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลาเมื่อการรักษาของแพทย์ที่ต้องการช่วยผู้ป่วยและยืดชีวิตผู้ป่วยให้นานที่สุด และบรรดาญาติที่ต้องการให้ผู้ป่วยผู้เป็นที่รักมีชีวิตอยู่นานที่สุดซึ่งความหวังดี จึงกลายเป็นการเพิ่มความทุกข์ทรมานและทำให้ผู้ป่วยจากไปด้วยความไม่สงบ

เหตุนี้นำมาจึงเป็นที่มาของพินัยกรรมชีวิต (Living Will) คือให้มีการแสดงความจำนงล่วงหน้าโดยใช้ "หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข" 

หลายประเทศได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก สิงคโปร์ ต่างก็มีกฎหมายรับรองเรื่องนี้

หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขมีรายละเอียดชัดเจนเพื่อทำตามความประสงค์ของผู้ป่วยได้เช่น การระบุประเภทบริการสาธารณสุขที่ไม่ต้องการได้รับ เช่น การเจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจ การกู้ชีพเมื่อหัวใจหยุดเต้น การนำเข้าหอผู้ป่วยหนักเมื่ออยู่ในวาระสุดท้าย หรือสถานที่ที่ประสงค์จะเสียชีวิต การปฏิบัติตามประเพณีและความเชื่อทางศาสนา นับเป็นการรับรองสิทธิผู้ป่วยที่จะกำหนดวาระสุดท้ายของชีวิตด้วยตนเอง

ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลนั้น มนุษย์เราทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิตและก็ยังมีสิทธิเลือกที่จะตายอย่างสงบในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้เช่นกันคือ สิทธิส่วนบุคคลที่จะตายตามธรรมชาติ ในวาระที่การรักษาพยาบาลไม่สามารถที่เยียวยาให้หายขาดได้ หรือกรณีที่แพทย์ได้วินิจฉัยว่า จะต้องเสียชีวิตในไม่ช้านี้ 

เมื่อประเทศไทยเขียนกฎหมายรองรับเรื่องนี้เพราะว่าในปัจจุบันถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ต้องรอความเห็นจากญาติ ถ้าญาติเห็นไม่ตรงกันก็จะเป็นปัญหาแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทำให้ผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานแทนที่จะตายอย่างสงบ

ครับ! ผู้ป่วยที่ผู้เขียนอ้างถึงเมื่อตอนต้นของบทความนี้ก็ได้เสียชีวิตโดยสงบได้สั่งเสียญาติพี่น้องตามความปรารถนาและจากไปอย่างไม่มีความห่วงพะวงอะไรโดยสิ้นเชิง เธอเป็นหลานสาวของผู้เขียนเองครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook