5 หญิงนักสู้ ผู้ท้าทายอำนาจการเมือง

5 หญิงนักสู้ ผู้ท้าทายอำนาจการเมือง

5 หญิงนักสู้ ผู้ท้าทายอำนาจการเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อว่าหลายคนยังมีภาพจำว่า “การเมือง” เป็นเรื่องของผู้ชาย และต้องต่อสู้แบบ “แข็งกร้าว” เท่านั้นจึงจะสามารถรับมือกับความกดดันทางการเมืองได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “ผู้หญิง” ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองเพิ่มมากขึ้น และได้พิสูจน์ให้สังคมเห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า พวกเธอก็มีศักยภาพในการขับเคลื่อนสังคมไม่น้อยกว่าผู้ชายเลย 

เนื่องในวันสตรีสากล ปี 2021 นี้ Sanook จึงรวบรวมผู้หญิง 5 คน ที่โลดแล่นอยู่ในแวดวงการเมือง และต้องเผชิญหน้ากับ “ความท้าทาย” เรื่องความเห็นต่าง เสียงวิพากษ์วิจารณ์ การคุกคาม และความเป็นเพศ ในสังคมที่หลากหลายและในบริบทวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเธอมีเหมือนกัน คือ “ความตั้งใจ” ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมในบ้านเกิดให้ดีขึ้น และเป็นพื้นที่สำหรับ “ประชาธิปไตย” อย่างแท้จริง                  

คามาลา แฮร์ริส 

รองประธานาธิบดี, สหรัฐอเมริกา 

ชีวิตของแฮร์ริสมักจะเชื่อมโยงกับการเป็น “คนแรก” อยู่เสมอ เมื่อครั้งที่เธอเข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แฮร์ริสกลายเป็น “ผู้หญิงคนแรกและคนผิวสีคนแรก” ที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าว เช่นเดียวกับการเป็นคนแรกในหลาย ๆ ตำแหน่งที่เธอเคยได้รับ ไม่ว่าจะเป็น อัยการเขตหญิงคนแรกของซานฟรานซิสโก, อัยการสูงสุดคนแรกของรัฐแคลิฟอร์เนีย, สมาชิกวุฒิสภาเชื้อสายอินเดียคนแรกของวุฒิสภาสหรัฐฯ และผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีหญิงเชื้อสายอินเดียคนแรก 

แม้แฮร์ริสจะสามารถทำลาย “เพดานแก้ว” ทางการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน แต่เธอก็ต้องเผชิญหน้ากับการโจมตีของฝั่งตรงข้ามหลายต่อหลายครั้ง เช่น นโยบาย “สุดโหด” ของเธอ โดยในช่วงที่แฮร์ริสดำรงตำแหน่งอัยการ เธอมีแนวโน้มที่จะส่งฟ้องหรือดำเนินคดีคนผิวดำหรือคนฮิสแปนิกอย่างรุนแรง จนถูกวิพากษ์วิจารณว่าเธอสนับสนุนระบบยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียม

แต่ท่ามกลางขวากหนามบนถนนที่แฮร์ริสกำลังเดินอยู่ เธอก็ยังยืนหยัดต่อสู้เพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า ผู้หญิงก็สามารถทำงานการเมืองได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย และถึงแม้ว่าเธอจะเป็นผู้หญิงคนแรกในตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่เธอก็มั่นใจว่าเธอจะไม่ใช่คนสุดท้ายอย่างแน่นอน ดังที่เธอได้กล่าวในสุนทรพจน์แรกในฐานะ “รองประธานาธิบดี” ว่า

เพราะเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ทุกคนที่กำลังรับชมอยู่ในค่ำคืนนี้ ได้เห็นแล้วว่า ที่นี่คือประเทศแห่งความเป็นไปได้ และเด็ก ๆ ในประเทศนี้ ไม่ว่าคุณเป็นเพศไหน ประเทศของเราได้ส่งสารชัดเจนแล้วว่า จงฝันด้วยความทะเยอทะยาน ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำด้วยความเชื่อมั่น และมองเห็นคุณค่าของตัวเองในแบบที่คนอื่นอาจมองไม่เห็น เพราะพวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน และเราจะปรบมือให้ในทุกย่างก้าวของคุณ” 

จาซินดา อาร์เดิร์น 

นายกรัฐมนตรี, นิวซีแลนด์ 

จาซินดา อาร์เดิร์น ไม่ใช่ผู้นำประเทศที่อายุน้อยที่สุดในโลก ตอนที่เธอได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ ในปี 2017 เท่านั้น แต่เธอยังต้องทำหน้าที่บริหารประเทศไปพร้อม ๆ กับการทำหน้าที่ “คุณแม่ลูกอ่อน” และพาลูกน้อยเข้าร่วมประชุมใหญ่ระดับนานาชาติมาแล้ว แม้จะมีคนชมว่าเธอเป็น “ซูเปอร์วูแมน” แต่เธอก็มักพูดว่า ผู้หญิงไม่ควรถูกคาดหวังให้เป็นแบบนั้นอยู่เสมอ 

อาร์เดิร์นไม่ใช่ผู้นำที่แข็งกร้าว แต่เธอมักใช้ “ไม้อ่อน” จัดการกับปัญหา พร้อมแสดงท่าทีที่เป็นกันเอง และสร้างความรู้สึกเข้าถึงง่าย จากการไลฟ์พูดคุยกับประชาชนอย่างเป็นกันเอง แต่เมื่อไรก็ตามที่เธอต้อง “เด็ดขาด” อาร์เดิร์นก็สามารถแสดงออกถึงภาวะผู้นำได้อย่างสมบูรณ์แบบ ดังเช่นเหตุการณ์กราดยิงในเมืองไครสต์เชิร์ช ที่เธอกล่าวว่าเป็น “การก่อการร้าย” ทันที พร้อมแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการเหยียดเชื้อชาติและความขัดแย้งทางศาสนา รวมทั้งกล่าวอย่างหนักแน่นว่า จะไม่เอ่ยชื่อผู้ก่อเหตุโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ เพราะไม่อยากให้โลกจดจำเขาเหล่านั้น หลังจากนั้นเพียงไม่นาน อาร์เดิร์นก็ออกกฎหมายห้ามครอบครองอาวุธ จนทำให้เธอได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ 

นอกจากนี้ ช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 อาร์เดิร์นได้เผยแพร่คลิปสรุปผลงานรัฐบาลของเธอภายใน 2 นาที และนั่นได้กลายเป็นข้อพิสูจน์ฝีมือการบริหารที่มีประสิทธิภาพของเธอ และอาร์เดิร์นก็ได้พิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เธอสามารถรับมือกับการระบาดของโรคได้อย่างยอดเยี่ยม จนทั่วโลกต่างชื่นชมว่า นิวซีแลนด์สามารถผ่านวิกฤตโรคระบาดมาได้เพราะผู้นำหญิงที่มากความสามารถคนนี้ 

ออง ซาน ซูจี 

นักการเมือง, เมียนมา  

ออง ซาน ซูจี เป็นบุตรสาวของนายพลอองซาน วีรบุรุษของประเทศเมียนมา เนื่องจากเขาคือผู้เจรจาให้เมียนมาได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ออง ซาน ซูจี จะคลุกคลีอยู่กับแวดวงการเมืองตั้งแต่เด็ก แต่เธอเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างจริงจัง ในช่วงที่มีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษา นำไปสู่เกิดเหตุการณ์ “โศกนาฏกรรม 8888” ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1988 และมีผู้เสียชีวิตหลายพันคน 

หลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ซูจีได้ขึ้นกล่าวปราศรัยเรียกร้องประชาธิปไตย และจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ขึ้น ทว่าบทบาททางการเมืองของเธอ กลับถูกกองทัพเมียนมามองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง และพยายามปิดกั้นเธอ รวมถึงสั่งกักบริเวณในบ้านพัก นานกว่า 15 ปี 

กองทัพเมียนมายังพยายามบีบให้ซูจีออกจากประเทศหลายครั้ง แต่เธอก็ปฏิเสธที่จะเดินทางออกจากประเทศเมียนมา เนื่องจากกังวลว่าจะไม่สามารถกลับเข้ามาต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยได้อีก ส่งผลให้ซูจีไม่ได้พบสามีเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเขาเสียชีวิต เนื่องจากทางการเมียนมาไม่อนุญาตให้เขาเข้าพบเธอ และเธอก็ไม่ได้เดินทางไปรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เมื่อปี 1991 อีกด้วย 

ออง ซาน ซูจี ได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะเธอต่อสู้ด้วยสันติวิธี 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเช้าวันจันทร์ ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมาได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน พร้อมจับกุมตัวซูจี และนักการเมืองอีกหลายคน โดยให้เหตุผลว่าเกิดการทุจริตการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ทำให้พรรค NLD ได้คะแนนเสียงมากกว่า 83% การยึดอำนาจในครั้งนี้ ส่งผลให้ชาวเมียนมาลุกฮือขึ้นมาต่อต้านกองทัพ และเรียกร้องให้คืนอำนาจให้กับประชาชน ส่งผลให้กองทัพใช้ความรุนแรงในการจัดการกับผู้ชุมนุม ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 50 ราย 

การบริหารประเทศภายใต้ระบอบประชาธิปไตยเพียง 5 ปีของรัฐบาลพลเรือน ทำให้ชาวเมียนมาได้สัมผัสกับสังคมประชาธิปไตย เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้น ชาวเมียนมาจึงออกมาสู้เพื่อไม่ให้ประเทศกลับไปอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร และนี่เป็นอีกครั้ง ที่ออง ซาน ซูจี ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 

แอกเนส โจว

นักเคลื่อนไหวทางการเมือง, ฮ่องกง 

แอกเนส โจว หญิงสาววัย 24 ปี ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับฮ่องกงมาเป็นเวลาหลายปี และต้องเผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาที่รุนแรงจากทางรัฐบาล โจวเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มกับเยาวชนในฮ่องกงในชื่อ “Scolarism” เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ของรัฐบาล และวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่กำลังปิดหูปิดตาคนรุ่นใหม่

การเรียกร้องในครั้งนั้น คือครั้งแรกที่โจวได้ร่วมงานกับโจชัว หว่อง จากนั้นพวกเขาก็ได้พบกับนาธาน ลอว์ เพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกคน ก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็นตัวตั้งตัวตีในการประท้วง “ขบวนการร่ม” ในปี 2014 เพื่อเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งผู้ว่าการเกาะฮ่องกงตามหลักประชาธิปไตย และกลายเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของฮ่องกง 

โจวและเพื่อน ๆ ร่วมกันตั้งพรรคการเมือง “Demosisto” ขึ้นเพื่อลงสมัครเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภา โดยมีลอว์เป็นตัวแทนพรรค แต่เขาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองในภายหลัง ทำให้โจวตัดสินใจดร็อปเรียนปีสุดท้าย และสละสัญชาติอังกฤษมาลงสมัครเลือกตั้งซ่อม ก่อนจะโดนตัดสิทธิ์การลงสมัครเช่นเดียวกัน 

แม้การต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับฮ่องกงของโจว ต้องแลกมาด้วยการถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทว่าเธอก็ได้รับการจดจำว่าเป็น “เทพธิดาประชาธิปไตย” จากสื่อของญี่ปุ่น เนื่องจากโจวใช้ความสามารถด้านภาษาญี่ปุ่นของเธอ บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในฮ่องกงให้ชาวญี่ปุ่นฟัง นอกจากนี้ เธอยังถูกขนานนามว่าเป็น “มู่หลานตัวจริง” ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของฮ่องกง ไม่ต่างจากตัวละครมู่หลาน ที่เสียสละตัวเองเพื่อปกป้องบ้านเมืองนั่นเอง

แม้การต่อสู้กับรัฐบาลมหาอำนาจยังทำให้โจวหวั่นไหวอยู่บ้าง แต่เธอก็ยืนยันว่าเธอจะยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยต่อไป

รุ้ง - ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 

นักกิจกรรมทางการเมือง, ประเทศไทย 

ปนัสยาเคยเป็นเด็กหญิงขี้อาย ก่อนจะกลายเป็นหญิงสาวผู้ขึ้นเวทีปราศรัย จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ผู้ทลายเพดาน” ทางการเมืองของไทย และสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างให้เกิดขึ้นในสังคม ในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน 

ปนัสยาเป็นนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสนใจการเมืองตั้งแต่เด็ก แต่เข้มข้นมากขึ้นเมื่อเธอเข้ามหาวิทยาลัย พร้อม ๆ กับเข้ามามีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มเพื่อนนักศึกษา กระทั่งวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ปนัสยาเป็นตัวแทนขึ้นปราศรัยในการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” และเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่ว่าด้วยการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งได้เปลี่ยนอนาคตของเธอไปตลอดกาล

การเคลื่อนไหวทางการเมืองของปนัสยา ทำให้เธอถูกจับกุมและกลายเป็นผู้ต้องขัง “คดีความมั่นคง” ในทัณฑสถานกลางหญิงมาแล้ว แต่คดีความและหมายเรียกมากมายที่เธอได้รับ ก็ไม่ได้ทำให้ปนัสยาย่อท้อหรือถอดใจ เธอยังคงเดินหน้าสู้ต่อไปเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และ “ความเท่าเทียม” มาสู่สังคมไทยเช่นเดิม ความเปลี่ยนแปลงที่ปนัสยาได้สร้างขึ้น คือ การเปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปสามารถพูดเรื่องสถาบันได้อย่างเปิดเผย เช่นเดียวกับการสร้างพื้นที่ของ “ผู้หญิง” ในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องของผู้ชาย เพราะปนัสยาเชื่อว่า เราทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ไม่ว่าจะเป็นใครหรือเพศไหนก็ตาม ด้วยเหตุนี้ สำนักข่าว BBC จึงยกให้ปนัสยาเป็น 1 ใน 3 ผู้หญิงไทยที่ติดอันดับ “100 ผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจ ประจำปี 2020” 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook