คุยกับ 2 สมาชิกวง “BENNETTY” เมื่อ “ความแก่” ไม่อาจหยุดวิถีศิลปิน

คุยกับ 2 สมาชิกวง “BENNETTY” เมื่อ “ความแก่” ไม่อาจหยุดวิถีศิลปิน

คุยกับ 2 สมาชิกวง “BENNETTY” เมื่อ “ความแก่” ไม่อาจหยุดวิถีศิลปิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปี 2563 วงการเพลงไทยได้ต้อนรับวงดนตรีหน้าใหม่แต่วัยเก๋า ที่มีชื่อว่า “BENNETTY” ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกที่เป็นผู้สูงวัยจำนวน 7 คน พร้อมโชว์ฝีมือทางดนตรีอันจัดจ้าน ที่ไม่ใช่ทั้งคลาสสิก ลูกกรุง หรือลูกทุ่ง แต่พวกเขาจับมือกับคนรุ่นใหม่ ทำเพลงแนวอินดีร็อก พร้อมประกาศให้สังคมรู้ว่า คนทุกวัยสามารถอยู่ร่วมกันได้ และแม้สังขารจะร่วงโรย แต่ความฝันนั้น “ไม่มีวันแก่”

ในวันที่สังคมไทยเริ่มเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ด้วยอัตราการเกิดของเด็กที่ลดน้อยลง และคนวัยทำงานก็จะต้องกลายเป็นคนวัยเกษียณในที่สุด เราจะรักษาพลังใจที่มีอยู่ต่อไปอย่างไรในวันที่ร่างกายเสื่อมถอยลง Sanook นัดพบกับสองสมาชิกของ BENNETTY เพื่อพูดคุยถึงเส้นทางชีวิตในฐานะนักดนตรี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และวิธีเก็บกุมแรงบันดาลใจในช่วงบั้นปลายของชีวิตของพวกเขา

คุณชวลิต จำนงไทย (อาอู๊ด) และคุณภาคย์ บุญน้อม (อาไก่) ศิลปินจากวง BENNETTYคุณชวลิต จำนงไทย (อาอู๊ด) และคุณภาคย์ บุญน้อม (อาไก่) ศิลปินจากวง BENNETTY

ออกเดินทางบนถนนสายดนตรี

“ผมมาทางสายศิลป์ อยากจะเป็นจิตรกร แต่พอเราไปอยู่ใกล้กับพวกนาฏศิลป์ตอนเรียน เราก็ได้เชื้อมาจากทางนั้น ได้ฟังดนตรีไทยดีๆ ดนตรีบรรเลงดีๆ แล้วก็มีเรื่องเศรษฐกิจการเงินด้วย พอเรียนจิตรกรรมก็ใช้เงินเยอะ ค่าสี ค่าเฟรม แพง ต้องหาเงินเรียน พอจบออกมา อาชีพนักดนตรีก็เลยกลายเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ทำเงินได้ ถึงจะไม่ร่ำรวย แต่ก็พออยู่ได้ ก็ทำมาเรื่อยๆ 50 ปีแล้ว” คุณชวลิต จำนงไทย หรือ “อาอู๊ด” มือกีตาร์ วัย 74 ปี เล่าย้อนไปถึงก้าวแรกบนถนนสายดนตรี เมื่อเขาเข้าเรียนที่วิทยาลัยช่างศิลป์ ในวัยเพียง 16 ปี

การตั้งวงดนตรีครั้งแรกในชีวิตของอาอู๊ด เกิดขึ้นจากการฝึกเล่นกีตาร์กับเพื่อนที่เป็นนักดนตรีดาวเด่น และพบว่าเพื่อนรับงานเล่นดนตรีในงานปีใหม่ชนกัน 2 งาน เพื่อนของอาอู๊ดจึงบอกให้อาไปหาสมาชิกตั้งวงดนตรีเอง เพื่อรับงานอีกงานหนึ่ง วงดนตรีวงแรกของอาอู๊ดจึงเกิดขึ้นแบบงงๆ

“เล่นงานแรก เป็นงานปีใหม่ เพลงก็ไม่พอ เพลงมันน้อย นักร้องมี 2 คน เล่นตั้งแต่ 2 ทุ่มถึงเที่ยงคืน พอ 4 ทุ่ม เพลงก็หมดแล้ว ก็เลยต้องย้อนกลับไปเพลงแรกใหม่ ตอนแรกคนนั่งดูเต็มเลย เล่นได้ 2 เพลง คนดูหายหมด เหลือแต่เด็ก ในวงมี 5 คน ได้ค่าจ้างคนละ 100 บาท หักค่าเครื่องดนตรี เหลือคนละ 70 ดีใจมากเลย เราไม่เคยเล่นดนตรี เล่นดนตรีมีรายได้ด้วยเหรอวะ” อาอู๊ดเล่า

หลังจากเรียนจบวิทยาลัยช่างศิลป์ และกลายเป็นนักศึกษาคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร งานเล่นดนตรีเป็นแหล่งรายได้หลักที่ช่วยให้อาอู๊ดมีเงินใช้ในการเรียน อาอู๊ดสมัครเป็นนักดนตรีของวง Johnny’s Guitar และหลังจากเรียนจบก็ยังคงเล่นดนตรีควบคู่ไปกับงานซ่อมแซมโบราณสถาน ก่อนที่จะเรียนจบหลักสูตรครูของวิทยาลัยเพาะช่าง และเข้ารับราชการครูในที่สุด

“สมัยนั้น ผมทำงาน 3 ที่เลยนะ ตอนเช้าทำงานที่วัดพระแก้ว พักเที่ยงก็ไปเล่นดนตรีที่ห้องอาหารการบินไทยที่เฉลิมไทย เลิกบ่าย 2 ก็วิ่งมาทำงานที่วัดพระแก้ว 4 โมงเย็นก็เลิก ไปเล่นดนตรีแถวอรุณอมรินทร์ เลิก 5 ทุ่ม แต่ไม่รวยนะ” อาอู๊ดเล่าอย่างอารมณ์ดี

ด้านคุณภาคย์ บุญน้อม หรือ “อาไก่” นักเป่าแซกโซโฟน วัย 75 ปี อีกหนึ่งสมาชิกรุ่นใหญ่ของ BENNETTY เล่าถึงจุดเริ่มต้นในฐานะนักดนตรีว่า เดิมเขาใฝ่ฝันจะเป็นทหารม้า จากภาพลักษณ์สุดเท่ที่เขาเคยเห็นที่บ้านเกิดใน จ.สระบุรี ทว่าด้วยฐานะที่ยากจน ทำให้เขาตัดสินใจเบนเข็มมาสมัครเข้าโรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ เพราะนอกจากจะมีที่เรียนแล้ว ยังมีเงินเดือนและที่พักให้ด้วย ช่วยให้อาไก่ในวัยเพียง 15 ปี สามารถแบ่งเบาภาระของพ่อแม่ได้ และรับราชการอยู่ในวงดุริยางค์ทหารเรือนาน 14 ปี จนได้ยศสิบเอก รวมทั้งรับงานเล่นดนตรีนอกเวลาราชการด้วย

“นักดนตรีสมัยก่อนก็ไม่ได้มีมากมายเหมือนสมัยนี้ มันหาเงินง่าย เพราะว่าสถานที่ให้เล่นมีเยอะ แต่นักดนตรีน้อย ผมไม่เคยคิดว่าจะเป็นนักดนตรี แต่ถ้าคิดจะทำอะไรแล้วต้องทำให้ได้ดี ก็พยายามฝึกฝนจนถึงปี 4 ค่อยเริ่มรับงาน พื้นฐานเรื่องดนตรีของผมก็เลยออกจะเข้มแข็ง คือเราไม่รีบร้อน มันก็เลยทำให้เราเป็นนักดนตรีมา ผมอยู่วงดุริยางค์ปี 2505 ลาออกปี 2518 ตั้งแต่ปี 2518 จนถึงตอนนี้ รับอาชีพนักดนตรีตลอด ไม่ได้รับราชการที่ไหนเลย ก็พอเลี้ยงตัวได้ แต่ไม่รวยหรอก” อาไก่เล่า

แม้ว่าอาชีพนักดนตรีจะไม่ได้ทำให้ทั้งสองร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี แต่ผลตอบแทนที่ได้กลับยิ่งใหญ่กว่านั้น และเป็นขุมพลังชั้นดีสำหรับอาอู๊ดและอาไก่ ในการเติบโตและใช้ชีวิต จนกระทั่งเดินทางเข้าสู่วัยชรา

เป็นนักดนตรีแล้วได้อะไร อย่างแรกเลยคือได้ความภูมิใจ ความสุขมันมาก่อนเลย ทุกครั้งที่จับกีตาร์ เราจะมีความสุข ถึงจะไม่เก่งไม่มีชื่อเสียงอะไรมากมาย แต่เราก็ยังเล่นได้ เรามีความสุข ทำให้คนอื่นมีความสุขด้วยที่เราไปเล่น เพลงเพราะๆ คนก็ชอบ เราก็ดีใจ พอเล่นเพลงลีลาศ เพลงขึ้นปุ๊บ แห่กันมาพรึ่บเต็มฟลอร์เลย เราดีใจ ตอนนั้นไม่ได้คิดเรื่องเงินเลย” อาอู๊ดกล่าว

บั้นปลายชีวิต

ขณะที่ชีวิตวัยหนุ่มสาวเต็มไปด้วยสีสันและความสนุกสนานตื่นเต้น กาลเวลาก็ล่วงเลยไปจนบางครั้งเจ้าตัวก็ไม่ทันได้ตั้งตัว รู้ตัวอีกที สังขารที่เคยแข็งแรงก็เริ่มร่วงโรย อาอู๊ดเล่าว่า วันหนึ่งเมื่อเขาตื่นขึ้นมาและพบว่าตัวเองเป็นไข้ ทั้งที่เมื่อวานร่างกายยังดีอยู่ ทำให้เขารู้สึกว่า เขาเริ่มแก่ตัวลง ทั้งนี้ก็เป็นสิ่งที่อาอู๊ดต้องยอมรับ และพยายามรักษาสุขภาพให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่นเดียวกับอาไก่ ที่ต้องระมัดระวังเรื่องสุภาพร่าง
กายยิ่งกว่าเดิม เพราะหากพลาดพลั้งไป ก็เท่ากับทั้งชีวิตแตกสลายเลยทีเดียว

“ผมเคยเป็นทีหนึ่งนะ เริ่มต้นจากสะบักจม เอี้ยวตัวลุกจากเตียงแล้ว กึ๊ก! แล้วก็เอาเคาท์เตอร์เพนทา เป็นปี มันไม่หาย ก็ลามมาเรื่อยๆ ตอนหลังมันปวดไปหมดเลย ขับรถไม่ได้เลย จนสุดท้าย เป่าแซกโซโฟนมันต้องมีสายห้อย พอห้อยปุ๊บ มันปวดลงมาถึงก้นกบเลย เชื่อไหม ผมนอนร้องไห้เลย ต้องเป่าฟลุตกับคลาริเน็ต เพราะห้อยแซกโซโฟนไม่ได้ แล้วก็นอนตัวงอ เดินก้ม” อาไก่เล่าถึงประสบการณ์อันเจ็บปวด

แต่แม้ว่าวัยชราจะมีเรื่องที่ต้องกังวลมากมาย แต่นักดนตรีรุ่นเก๋าทั้งสองยืนยันตรงกันว่า “ทุกอย่างอยู่ที่ใจ”

“ถ้าคุณท้อแท้ คิดว่าแก่แล้วต้องนอน มันยิ่งไปกันใหญ่เลย ทุกวันนี้ผมนอนอยู่ในห้องเล็กๆ ดูทีวีบ้าง นั่งเขียนโน้ตเพลงบ้าง เฮ้ย! ไม่เอาแล้วเว้ย ลุกก่อน ไปเดินเล่นก่อน รดน้ำต้นไม้ มันก็มีแรงกระตุ้น ไม่ใช่คิดว่าแก่แล้ว แย่แล้ว มันยิ่งไปกันใหญ่ เหมือนต้นไม้ ถ้าเราไม่รดน้ำ มันก็โรยไป แก่แล้วอย่าแก่เลย หาอะไรทำบ้าง” อาไก่อธิบายตามสไตล์ชาวร็อก

ด้านอาอู๊ดก็แนะนำวิธีปรับทัศนคติอย่างง่ายว่า “ผมอายุ 74 มีคนถามว่า ลุงอายุเท่าไรแล้ว เราบอกว่า 74 แล้ว มันแก่ฮวบเลย ถ้าเราบอกว่า เพิ่งจะ 74 เออ... ยังไหว”

เส้นทางที่ไม่รู้จบ

แม้จะล่วงเลยตัวเลขวัยเกษียณมานาน แต่ทั้งอาไก่และอาอู๊ดยังคงรับงานเล่นดนตรีอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาไก่ให้เหตุผลว่า อาชีพศิลปินไม่มีวันจบ และไม่ได้มีอายุเป็นตัวตั้ง ขณะเดียวกัน ความสามารถพิเศษของคนทั้งสอง อย่างการเล่นดนตรี ก็ไม่ควรถูกเก็บซ่อนไว้จนกระทั่งสูญหายเมื่อเวลาผ่านไป

“มันไปด้วยจิตสำนึก ด้วยจิตวิญญาณที่เราเป็นศิลปินน่ะ ไม่กี่วันนี้ ชาลี อินทรวิจิตร นักแต่งเพลงที่ยิ่งใหญ่ เขาไปร้องเพลงงานเดียวกับผม ถือไม้เท้า พอขึ้นร้องบนเวทีเท่านั้นแหละ โอ้โห... ไม่ยอมวางไมค์เลย” อาไก่ว่า

“ตอนเล่นก็กระปรี้กระเปร่า ยิ้มแย้มแจ่มใส พอเลิกแล้ว...” อาอู๊ดทำท่านอนแผ่ประกอบการอธิบายสภาพนักดนตรีอาวุโสหลังลงจากเวที

นอกจากนี้ อาไก่ในฐานะนักเป่าแซกโซโฟน ยังเล่าถึงประโยชน์ของเครื่องดนตรีชนิดนี้ ที่ทำให้เขามีร่างกายที่ยังแข็งแรง แม้จะมีอายุมากแล้ว

“เป่าแซกโซโฟนนี่มันได้ทุกอย่างนะ ปอดมันทำงาน พอปอดทำงานดี หัวใจ เลือดลมมันก็ดี แล้วบังเอิญเมื่อ 2 ปีที่แล้วผมไปตรวจสุขภาพ หมอตกใจ ถามว่าลุงทำงานอะไร ผมบอกว่าเล่นดนตรี หมอบอกว่า นั่นน่ะสิ ไม่เป็นอะไรสักอย่าง ผมเล่นดนตรี มันก็เพลิดเพลิน มันได้ออกกำลังกายตลอด ทั้งจิตใจ ทั้งร่างกายมันก็ไปหมด มันทำให้ไม่แก่ ถึงอายุจะมากแล้ว แต่สภาพร่างกายเรามันยังไปได้น่ะ” อาไก่กล่าว

เผชิญหน้ากับความตาย

หลายคนย่อมคุ้นเคยกับคำพูดที่ราวกับเป็นสัจธรรมว่า “คนเราย่อมหนีความตายไม่พ้น” แต่ไม่ว่าเมื่อไรที่เราคิดถึงความตาย การพลัดพรากจากสิ่งที่รักอย่างไม่มีวันกลับคืน ก็คงจะอดรู้สึกหดหู่สิ้นหวังไม่ได้ เมื่อถามว่าผู้สูงวัยอย่างอาไก่และอาอู๊ดรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร อาอู๊ดยอมรับว่า เขาและภรรยาเคยกลัวความตายเป็นบางครั้ง แต่ก็รู้ตัวดีว่าอาจจะถึงเวลาที่จะต้องบอกลาโลกนี้ได้ทุกเมื่อ จึงพยายามทำสิ่งที่อยากทำ และจัดการเรื่องทรัพย์สินเพื่อไม่ให้คนที่อยู่ข้างหลังต้องลำบาก

ขณะเดียวกัน อาไก่บอกว่า เขาไม่กลัวตาย และเชื่อว่าตัวเองใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่าแล้ว

“ตอนนี้นะ ตายไม่กลัวแล้ว แต่เสียดายเวลา อยากอยู่ต่อไปอีกสักพัก ดูอะไรอีกหน่อย แต่อยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตนะ ไม่ใช่อยู่แบบพิการ อยู่แบบแข็งแรง สามารถไปดูนั่นดูนี่ได้ ไม่อยากอยู่แบบติดเตียงแล้วลูกต้องมาเข็น ไม่เอา ไม่ดี ไม่สนุกเลย เป็นภาระเขาด้วย แต่กลัวตายไหม ไม่กลัวหรอก อายุ 75 แล้ว คุ้มแล้ว” อาไก่กล่าว

เมื่อถามว่าจะหยุดเล่นดนตรีเมื่อไร อาอู๊ดกล่าวว่า เขาเคยคิดจะเลิกเล่นดนตรีหลายครั้ง แต่ไม่เคยสำเร็จ เพราะดนตรีทำให้ชายชราผู้นี้รู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง และไม่เคยลังเล เมื่อเพื่อนรักอย่างอาไก่ชวนไปเล่นดนตรีด้วยกัน เช่นเดียวกับอาไก่ ที่ยืนยันว่าจะไม่เลิกเล่น ถ้ายังมีแฟนเพลงติดตามผลงานอยู่

“ไม่มีหยุด อินฟินิตี จนกว่าใจและสังขารจะไม่ให้” อาไก่สรุปอย่างหนักแน่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook