คณะแพทย์สรุปอาการคล้ายอัมพฤกษ์หลังฉีดวัคซีนซิโนแวค เกิดชั่วคราว-พร้อมเดินหน้าต่อ

คณะแพทย์สรุปอาการคล้ายอัมพฤกษ์หลังฉีดวัคซีนซิโนแวค เกิดชั่วคราว-พร้อมเดินหน้าต่อ

คณะแพทย์สรุปอาการคล้ายอัมพฤกษ์หลังฉีดวัคซีนซิโนแวค เกิดชั่วคราว-พร้อมเดินหน้าต่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณะแพทย์ลงความเห็นว่า อาการคล้ายอัมพฤกษที่เกิดในผู้ได้รับวัคซีนโควิดของซิโนแวคบางราย เป็นอาการชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ยืนยันเดินหน้าฉีดต่อเพราะประโยชน์มีมากกว่าผลข้างเคียง

วันนี้ (21 ก.พ.) เมื่อช่วงประมาณ 15.00 น. ที่ผ่านมา ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีน พร้อมด้วย นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา และนายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย และ นพ.เมธา อภิวัฒนากุล รองเลขาธิการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวกรณีบุคลาการทางการแพทย์ 6 ราย ที่ จ.ระยอง เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการรับวัคซีนโควิด-19 ของซิโนแวค

ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า จากการสอบสวนอย่างละเอียดทั้ง 6 ราย มีอาการคล้ายหลอดเลือดสมอง (Stroke) เช่น แขนขาอ่อนแรง ชา ชาครึ่งซีก ยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ส่วนใหญ่เกิดกับสตรีอายุไม่มาก ไม่มีปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน หายภายใน 1-3 วัน จากการสแกน MRI สมอง พบว่าปกติ จึงเรียกว่าเป็นอาการทางระบบประสาท เป็นกลุ่มอาการคล้ายหลอดเลือดสมองที่เกิดชั่วคราว คิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน เนื่องจากเกิดภายในช่วง 5-10 นาที

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนล็อตดังกล่าว ไม่พบความผิดปกติ ไม่มีปัญหาเรื่องมาตรฐานการจัดเก็บวัคซีน ขณะที่วัคซีนล็อตนี้กระจายไป 5 แสนโดส มีผู้รับวัคซีนแล้วมากกว่า 3 แสนราย ยังไม่พบอาการดังกล่าว จึงต้องติดตามต่อไป โดยคณะกรรมการฯ ลงความเห็นว่าให้ใช้วัคซีนล็อตนี้ต่อไปได้ เนื่องจากประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่าอาการที่เกิดขึ้น

“เมื่อมีอาการคล้ายหลอดเลือดสมองตามแนวทางคือรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดตามมาตรฐานไปก่อน แม้ภายหลังตรวจพบว่าไม่เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง เพราะผลสแกนสมองปกติทั้งหมด แต่การรักษาไปก่อนไม่ทำให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด” ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว

นอกจากนี้ ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า บุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดอาการหลังรับวัคซีนยังรับวัคซีนเข็มที่ 2 ต่อได้ เนื่องจากไม่ใช่การแพ้รุนแรง ยืนยันว่าไม่มีข้อห้าม และไม่เคยมีหลักฐานเชื่อมโยงว่ายาคุมกำเนิดหรือประจำเดือนจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากวัคซีนมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้ การควบคุมโรคโควิดต้องใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง และเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากกว่าร้อยละ 70 ของประชากร จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จึงจะถอดหน้ากากออกพร้อมกันได้เหมือนประเทศอิสราเอล ตอนนี้แม้จะรับวัคซีนแล้วยังต้องสวมหน้ากากต่อไป

ขณะที่ นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 5 ราย และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล 1 ราย ทั้งหมดรับวัคซีนโคโรนาแวคของบริษัทซิโนแวคในล็อตเดียวกัน มีอาการภายหลังรับวัคซีน 5-30 นาที โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 1 ราย วันที่ 6 เมษายน 1 ราย วันที่ 8 เมษายน 2 ราย  และวันที่ 9 เมษายน 2 ราย มีอาการคล้ายโรคระบบประสาทและสมอง คือ ชาครึ่งซีก อ่อนแรงที่แขนขา หรือชาแต่ไม่มีอาการอ่อนแรง และพบว่าเป็นผู้มีโรคประจำตัวคือ มะเร็ง 1 ราย ไขมันในเลือดสูง 1 ราย น้ำหนักเกิน 2 ราย และมีประวัติกินยาคุมกำเนิด 4 ราย

ทั้งนี้ มีการฉีดวัคซีนของซิโนแวคแล้วกว่า 6 แสนราย มีการเฝ้าระวังติดตามอาการทุกราย หากมีอาการรุนแรงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ ต่อไป โดยกระทรวงสาธารณสุขพร้อมจะปฏิบัติตามข้อแนะนำของคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ด้าน พญ.ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา และนายกสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แพทย์ที่ จ.ระยอง ตรวจวินิจฉัยผู้ที่มีอาการทั้งหมดพบว่า เกิดอาการอ่อนแรงจริง ชา ปากเบี้ยว พูดไม่ชัดในบางราย คล้ายอาการโรคหลอดเลือดสมอง จึงต้องรักษาตามมาตรฐานด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดใน 4.5 ชั่วโมง เพื่อช่วยชีวิตและลดความพิการตามมาตรฐานการรักษา ซึ่งเป็นการรักษาฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาก่อน แล้วค่อยดูว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

ซึ่งพบว่าหลังรักษา อาการดีขึ้นทุกรายจนกลับมาเป็นปกติ ผลเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองไม่พบว่าผิดปกติ และตรวจเพิ่มด้วยการ MRI สมอง ก็ไม่พบเนื้อสมองตายหรือหลอดเลือดสมองตีบ คิดว่าคล้ายกลุ่มอาการหลอดเลือดสมอง อาจสัมพันธ์กับการฉีดวัคซีน เพราะมีรายงานว่าการฉีดวัคซีนอาจเกิดอาการทางระบบประสาทที่เกี่ยวข้องได้ แต่พบไม่บ่อย มักเป็นเพียงชั่วคราว และดีขึ้นกลับมาเป็นปกติ จึงไม่อยากให้ตื่นตระหนก อย่างไรก็ตาม สาเหตุเชิงลึกต้องศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งจะมีการติดตามต่อไป

ปิดท้ายที่ นพ.เมธา อภิวัฒนากุล รองเลขาธิการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังฉีดวัคซีนไปแล้ว หากพบอาการที่เข้าได้กับระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ส่วนแพทย์ที่ตรวจพบอาการที่เข้าได้กับหลอดเลือดเสมอง ให้รักษาตามแนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่มีข้อบ่งชี้ให้ยาละลายลิ่มเลือด และให้รายงานเข้ามาตามระบบ เพื่อนำไปศึกษาหรือสืบสวนต่อไป อย่างไรก็ตาม ขอให้ลดความกังวล การรักษาจะเป็นไปตามกลุ่มอาการ และมาตรฐานของการรักษา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook