“ดนตรีกลางคืน” เสียงเพลงที่หายไปในวิกฤตโควิด-19

“ดนตรีกลางคืน” เสียงเพลงที่หายไปในวิกฤตโควิด-19

“ดนตรีกลางคืน” เสียงเพลงที่หายไปในวิกฤตโควิด-19
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเวลา 1 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 มาตรการมากมายถูกหยิบมาใช้เพื่อยับยั้งการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งแม้ที่ผ่านมาจะสามารถควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยน้ำตา สุขภาพจิต หรือแม้กระทั่งชีวิตของประชาชนจำนวนมากที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โรคระบาดดังกล่าว ทว่าหนึ่งในบรรดาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด นั่นคือ นักดนตรีกลางคืน รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจผับบาร์ ที่เป็นผู้สร้างสีสันยามค่ำคืนในวันที่บ้านเมืองดี แต่กลับเป็นกลุ่มที่ถูกสั่งห้ามดำเนินกิจการก่อนใคร และมีพื้นที่ในการ “ส่งเสียง” ขอความช่วยเหลือน้อยกว่าใคร จนกระทั่งถูกลืมไปจากสายตาของภาครัฐโดยสิ้นเชิง

1 ปีแห่งความเงียบเหงา

“ผมเคยมีรายได้เกือบ 2 หมื่นบาทต่อเดือน หลังจากนั้นหายไปเยอะเลย จากงานเกือบ 10 รอบ ต่อสัปดาห์ เล่นเกือบทุกวัน เหลือแค่ 3 – 4 รอบ” คุณเป๊ก นักดนตรีกลางคืนคนหนึ่งเล่าให้ฟังเกี่ยวกับงานของเขาในช่วงก่อนและหลังเกิดโรคระบาด ตามด้วยมาตรการของรัฐ ที่สั่งปิดสถานบันเทิงทั่วประเทศเพื่อชะลอการระบาด

เช่นเดียวกับคุณเฟิร์น นักดนตรีกลางคืนและหนึ่งในสมาชิกวงร็อก Ritalinn ที่นอกจากจะขาดรายได้จากการเล่นดนตรีในผับ ยังเสียโอกาสในการเล่นดนตรีในงานคอนเสิร์ตและอีเวนต์ต่างๆ ด้วย

“ไม่ว่าจะเป็นงานเล่นในผับบาร์และสายศิลปิน ก็ไม่มีงานเลย ไม่มีใครจองคิวแบบเป็นจริงเป็นจัง วงของผมก็จะไม่มีงานโชว์เลย ฝั่งผู้จัดก็ไม่อยากจ่ายเงินที่เป็นต้นทุนสูงๆ ถ้าเป็นงานต่างจังหวัด พวกผมก็ไปไม่ได้ มันก็จะมีค่าทีมงาน ค่าคนขับรถตู้ งบประมาณที่มีก็ไม่สามารถจ่ายได้ ส่วนงานในผับบาร์กระทบแน่นอน จากที่สามารถเล่นได้วันหนึ่ง 2 ที่ หรือ 3 ที่ เหลือแค่วันละที่ ก็กระทบรายได้เลย เพราะผมก็ไม่มีงานประจำ ทำแต่งานดนตรีล้วนๆ เมื่อก่อนรายได้ประมาณ 20,000 บาท แต่ตอนนี้เหลือแทบจะไม่ถึง 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่พอจ่ายอะไรทั้งนั้น” คุณเฟิร์นเล่า

AFP

ด้านคุณนนทเดช บูรณะสิทธิพร หรือคุณลูกเต๋า ผู้บริหาร The Rock Pub ก็ได้เล่าถึงภาพรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาว่า ในระยะแรกที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ความตื่นตระหนกของประชาชน รวมทั้งการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติงดเดินทาง ส่งผลให้ผับมีลูกค้าลดน้อยลงอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงให้กับทางผับมากกว่าเดิม คือมาตรการปิดสถานบันเทิงทุกแห่ง เนื่องจากถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด

“สิ่งที่คนอื่นไม่เข้าใจคือการขายเหล้าเบียร์ มันมีวันหมดอายุเหมือนกัน มีการต้องสต็อกของ เราต้องเอาของออกมาขาย ปล่อยให้มันเน่าไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เขาสั่งปิด เขาจะแจ้งเราล่วงหน้าแค่ 1 – 2 วัน เท่านั้น ณ ตอนนั้น เบียร์สดที่ร้านผมมี 6 ประเภท ทุกประเภทก็เต็มแม็กซ์ 80% เบียร์สดมันหมดอายุเร็วมาก ก็ต้องแจกนักดนตรีให้ทุกคนกินฟรีหมดเลย หรือสต็อกที่ยังมีอยู่ ช่วงแรกๆ ก็ยังโปรโมตออนไลน์ขายให้ลูกค้า ลดราคา แต่มาตรการที่มีอยู่ก่อนก็คือ ห้ามโฆษณาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามโน่นห้ามนี่ จนช่องทางการขายของเรามันหมดเลย” คุณลูกเต๋าเล่า

นอกจากต้นทุนด้านวัตถุดิบที่ต้องสูญเสียไปเปล่าๆ แล้ว พนักงานในผับของคุณลูกเต๋าก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน เนื่องจากทางผับไม่มีรายได้ พนักงานหลายคนขอลาออก บางคนย้ายกลับไปอยู่บ้านของตัวเองแทนการเช่าห้องอยู่ใกล้ร้าน และเดินทางเป็นระยะไกลมาทำงาน รวมถึงพนักงานที่เป็นแรงงานต่างด้าว ที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ทั้งที่ไม่มีรายได้ และแม้ว่าผับจะกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้งในช่วงสั้นๆ เขาก็ยอมรับว่า รายได้ไม่เท่าเดิม และบรรยากาศยังเงียบเหงามากขึ้นด้วย

“ช่วงหลังจากที่มีโควิดผมรู้สึกว่าพฤติกรรมการเสพดนตรีและมาเที่ยวก็จะต่างออกไปแล้ว แบบไปสุดไม่ได้ เช่น ‘วันนี้ผมมาเที่ยว สั่งชุดเดียวพอ’ ‘ไปแล้วนะครับ อยากดูต่อจังเลย แต่ต้องประหยัด’ แม้กระทั่งคอนเสิร์ต เขาก็จะเลือกที่เป็นงานใหญ่ๆ จริงๆ เลย ที่เป็นแบบงานเล็กไม่ดูแล้ว ขอรอดูทีเดียวเลยนะ เพื่อเป็นการประหยัด แล้วมันก็กระทบตรงที่ว่า สมมติคอนเสิร์ตเคยรับคน 1,000 คน ตอนนี้ก็จะเหลือประมาณ 300 คน ซึ่งมันก็ไม่สามารถรองรับอะไรได้เลย ทั้งที่เป็นส่วนการทำงานและค่าจ้าง คนมาน้อยก็ไม่คุ้มอยู่ดี” คุณเฟิร์นขยายความในมุมของนักดนตรี

AFP 

ท่ามกลางการตีตราว่าสถานบันเทิงยามราตรีเป็นแหล่งมั่วสุมและแพร่เชื้อ สมควรถูกปิดทำการ ยังมีอีกหลายชีวิตที่ดำเนินไปในโลกกลางคืน และต้องเดือดร้อนจากมาตรการปิดสถานบันเทิง โดยคุณลูกเต๋าเล่าว่า ร้านอาหารโต้รุ่ง ธุรกิจจัดอีเวนต์ ซาวด์เอนจิเนียร์ ซัพพลายเออร์ที่ให้เช่าเครื่องแสงสีเสียง รวมไปถึงงานอย่างสาวเชียร์เบียร์ และคนขับแท็กซี่ ล้วนได้รับผลกระทบจากการปิดสถานบันเทิงทั้งสิ้น

“มันเป็นวงจรนะครับ คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจและไม่เคยรับรู้นะว่าจริงๆ แล้ว เศรษฐกิจตอนกลางคืน เม็ดเงินมันเยอะแค่ไหน ในการที่จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจ มันเยอะมาก ถ้าส่วนนี้หายไป กลางวันกระทบ 100% ครับ ถ้าเศรษฐกิจไม่ได้รับการกระตุ้นในช่วงกลางคืน กลางวันผมไม่ไปใช้จ่ายนะครับ มันกระทบหมด” คุณลูกเต๋ากล่าว

เพราะเป็น “สีเทา” เขาจึงมองไม่เห็น?

แม้จะดูเหมือนว่าสถานบันเทิงเป็นแหล่งรวมตัวของคนจำนวนมาก จึงเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 นำไปสู่การออกมาตรการปิดสถานบันเทิงเป็นอันดับแรกๆ แต่คุณลูกเต๋ากลับตั้งข้อสังเกตว่า ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีผู้คนเบียดเสียดกัน แต่กลับไม่มีคำสั่งให้ปิดทำการ ขณะเดียวกัน ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็ไม่ได้ติดเชื้อจากการเที่ยวกลางคืนทั้งหมด แล้วเหตุใดผับบาร์จึงต้องปิดทำการก่อนอยู่เสมอ อีกทั้งยังไม่เคยได้รับการเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งคุณลูกเต๋ามองว่าอาจจะมีสาเหตุมาจากทัศนคติของรัฐและสังคม ที่เหมารวมให้ธุรกิจกลางคืนทั้งหมดเป็น “สีเทา” และขัดต่อจารีตประเพณีอันดีงามของไทย

“ไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไรก็ตาม ไม่ว่าการระบาดทั่วโลกหรือในประเทศไทยจะมาจากกลุ่มไหน เราโดนชี้มาตลอดก่อนเสมอ ทุกครั้ง เพราะฉะนั้น ผมก็เลยรู้สึกว่าสังคมหรือผู้มีอำนาจเขามองอาชีพกลางคืนเป็นอาชีพที่ไม่ถูกต้องตามศีลธรรม จารีตประเพณี การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เต้นกินรำกิน อย่างที่คนสมัยก่อนชอบพูด มันก็เลยเชื่อมโยงได้ว่า สังคมเคยชินกับการแบนพวกเรา เคยชินกับการชี้ว่าพวกเราเป็นธุรกิจสีเทา ทั้งที่เราก็ทำอาชีพสุจริต และความเสี่ยงก็ไม่ได้ต่างจากอาชีพอื่นๆ” คุณลูกเต๋ากล่าว

AFP 

นอกจากนี้ งาน “เต้นกินรำกิน” อย่างนักดนตรีกลางคืน ยังไม่ถูกยอมรับว่าเป็นอาชีพในสายตาของภาครัฐ แม้ว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนผู้เสียภาษีได้ก็ตาม ยิ่งประกอบกับมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่บังคับให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิต่างๆ ก็ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดว่า นักดนตรีไม่เคยอยู่ในสารบบของทางการ ซึ่งคุณลูกเต๋าเล่าว่า ในการเปิดให้ลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือครั้งแรกนั้น นักดนตรีรวมกับพนักงานของ The Rock Pub ราว 30 คน ไปลงทะเบียน แต่ได้รับเงินจริงๆ เพียง 2 คนเท่านั้น

อาชีพนักดนตรีมันไม่มีในสารบบของทางการ ถ้าจะลง เราก็ต้องลงว่าเป็นอาชีพอิสระหรือรับจ้างแรงงาน ซึ่งเอาแค่ตรงนี้มันยังไม่มีในระบบเลย แล้วสวัสดิการมันจะมาถึงเราได้อย่างไร มันก็ไม่มีทางที่เขาจะนึกถึงอยู่แล้ว เพราะเราไม่ได้อยู่ในระบบ อาชีพนี้มีอยู่จริง แต่ไม่ได้รับการตระหนักถึงอย่างเป็นทางการ ยิ่งผับบาร์ก็ไม่ต้องห่วงเลย เพราะว่าเขาไม่สนใจเราอยู่แล้ว”

“ความรู้สึกที่เราได้รับจากภาครัฐก็คือ เขาตัดเราได้ เราจะเจ๊งเขาก็ไม่แคร์ เขาไม่ได้มองเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ เขามองว่าเราเป็นอะไรบางอย่างที่ไม่สำคัญต่อการใช้ชีวิต นโยบายสนับสนุนมันก็ไม่มีอยู่แล้ว คนทั่วไปภาคกลางวัน หาเช้ากินค่ำ คนที่ลำบากมากๆ ไม่มีเน็ตมือถือ ได้รับการเยียวยาหรือเปล่า เอาแค่คนพวกนี้ก่อน ถ้าเขาไม่ได้ ไม่ต้องมาถึงพวกผมหรอก เพราะว่าสังคมนึกถึงพวกผมช้าสุดอยู่แล้ว” คุณลูกเต๋ากล่าว

The Rock Pub กับการปรับตัวโดยหันมาขายกาแฟดริปและอาหารในช่วงกลางวันThe Rock Pub - Bangkok's House Of RockThe Rock Pub กับการปรับตัวโดยหันมาขายกาแฟดริปและอาหารในช่วงกลางวัน

สู้และส่งเสียง

เมื่อถามถึงการปรับตัวของนักดนตรีกลางคืนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คุณเป๊กเลือกที่จะจำกัดการใช้จ่าย ในยามที่มีงานลดน้อยลง

“ผมเซฟตัวเอง เก็บตัวอยู่ในบ้าน กินข้าวบ้าน ประหยัดให้มากที่สุดครับ ตอนแรกมันก็มีผลกับจิตใจบ้าง แต่ตอนนี้อยู่ไปเรื่อยๆ ก็เริ่มชิน ต้องอยู่ให้ได้ มันก็เครียดนะ คนที่เคยทำงานแล้วไม่ได้ทำงาน มันก็เป็นปกติ” คุณเป๊กกล่าว

ด้านคุณเฟิร์นก็หันมาเปิดคอร์สสอนดนตรีออนไลน์ แม้รายได้ไม่เท่าเดิม แต่เขาก็ถือว่าเป็นการเอาตัวรอดอย่างหนึ่ง

“รายได้ไม่เท่าเดิมไม่เป็นไร แต่มันก็ไม่ใช่อาชีพเรา ผมไม่ใช่ครู เรียกว่าเป็นติวเตอร์ดีกว่า แล้วอีกอย่างคือมันเป็นแค่การเอาตัวรอด ไม่ใช่อะไรที่จะยั่งยืน แต่ก็ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ มันไม่ใช่เรื่องแย่เลยนะ เราได้เจอเด็กๆ ที่มีความคิดความอ่านแปลกๆ เราก็เรียนรู้กันไป” คุณเฟิร์นกล่าว

สำหรับเจ้าของธุรกิจอย่างคุณเต๋า ที่ไม่ได้แบกภาระค่าใช้จ่ายส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังมีลูกน้องอีกหลายชีวิตที่เขาต้องดูแล คุณลูกเต๋าเล่าว่า ช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดครั้งแรกและเขาต้องปิดผับ เขาหันมาทำคอนเทนต์ออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าไม่ลืม รวมทั้งจัดคอนเสิร์ตในร้านผ่านการไลฟ์และให้ลูกค้าโอนเงินบริจาค และกลับมาทำธุรกิจขายเสื้อยืดวงดนตรีอีกครั้ง หลังจากที่หยุดทำไปเมื่อหลายปีก่อน เพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง

“สำหรับรอบนี้ ผมเปลี่ยนรูปแบบมาเปิดกลางวัน แล้วก็ขายอาหารอย่างเดียว เอากาแฟมาดริปขาย อะไรทำได้ก็ทำ คือผมคุยกับน้องๆ ที่ร้านแล้วว่าจะไม่เลิกจ้างเขาเหมือนเดิมแล้ว คือหวังว่ารอบนี้จะโดนปิดรอบเดียว แต่การปรับตัวรอบนี้ผมไม่ได้มองถึงกำไรหรือว่าร้านจะอยู่อย่างไร แต่ผมโฟกัสที่พนักงานเป็นหลักแล้ว ดูว่าเขาจะอยู่กันอย่างไรให้ได้” คุณลูกเต๋าอธิบาย

กรอบโปรไฟล์ที่เหล่าคนกลางคืนนำมาใช้เพื่อส่งเสียงเรียกร้องในสถานการณ์โควิด-19The Rock Pub - Bangkok's House Of Rockกรอบโปรไฟล์ที่เหล่าคนกลางคืนนำมาใช้เพื่อส่งเสียงเรียกร้องในสถานการณ์โควิด-19

ไม่เพียงแค่การปรับรูปแบบธุรกิจเท่านั้น คุณลูกเต๋ายังมองว่า การเรียกร้องให้รัฐและสังคมหันมาฟังเสียงของกลุ่มคนในโลกกลางคืน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด ยังต้องอาศัยเสียงของคนหลายๆ คน ช่วยกันสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจกลางคืนอย่างถูกต้อง ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงความคิดและในเชิงสังคมได้ในที่สุด ดังนั้น เขาจึงระดมพี่น้องในวงการธุรกิจกลางคืน ทั้งผู้ประกอบการและนักดนตรี ช่วยกันส่งเสียงผ่านแฮชแท็ก #อย่าทิ้งคนหาค่ำกินเช้า และ #Saveคนกลางคืน เพื่อให้เสียงของพวกเขาส่งไปถึงคนวงนอกให้ได้มากที่สุด

“ในสังคม ในประเทศที่มันไม่ยอมรับ ไม่ให้สิทธิเสรีภาพคนอย่างเท่าเทียมกันหมด แล้วก็ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย 100% มันมีมุมมองหลายอย่างจากคนที่มีอำนาจในสังคม สามารถนำพาสังคมไปในทิศทางหนึ่งได้ เราอยู่ในสังคมแบบนี้ เราทำอาชีพแบบนี้ บทเรียนหนึ่งคือ คุณต้องระวังตัวมากๆ แล้วคุณไม่ควรอยู่เฉยๆ เพราะมันพิสูจน์มาแล้วว่า การอยู่เฉยๆ ไม่ใช่การอยู่รอด การอยู่เฉยคือ ถ้ามีสิ่งที่ไม่ดีเกิดขึ้น เราโดนก่อน แล้วเราจะตาย การอยู่เฉยๆ ไม่ใช่การไปทะเลาะกับใคร แต่คือการส่งเสียง เราต้องออกมาส่งเสียง เพื่อให้เขาเข้าใจเราให้ได้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่สามารถใช้ชีวิตแบบที่เราต้องการได้ ทำธุรกิจแบบที่เราต้องการได้” คุณลูกเต๋ากล่าว

AFP

นักดนตรีกลางคืน = ประชาชน

แม้ว่ามาตรการปิดสถานบันเทิงในสถานการณ์โรคระบาดจะส่งผลให้เหล่านักดนตรีและผู้ที่อยู่ในธุรกิจกลางคืนต้องขาดรายได้ แต่นักดนตรีอย่างคุณเฟิร์นกลับยินดีให้ปิดสถานที่ทำงานของตน ขอเพียงแต่รัฐบาลมีสวัสดิการหรือมาตรการรองรับความเป็นอยู่ของพวกเขา

“พวกผมไม่เครียดมากเรื่องการถูกสั่งหยุด พวกผมพร้อมจะยอมหยุดเพื่อชาติ จริงๆ เลยนะ หยุดได้ ไม่เป็นไร แต่ผมแค่ต้องการมาตรการรองรับ เพราะว่าผมทำงานไม่ได้ ถ้ามีสวัสดิการสนับสนุนรายจ่ายรายเดือนที่มันไม่หยุด เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าข้าว พื้นฐานมนุษย์ ข้าวของสิ้นเปลืองไม่ต้องหรอก เพราะพวกผมไม่ได้ใช้กันนานแล้ว ถ้าค่าน้ำค่าไฟฟรี ผมก็อยู่ได้ หยุดจนโรคหายไปก็ได้ เราก็ไม่ต้องโดนด่าว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อด้วย” คุณเฟิร์นกล่าว

ด้านคุณเป๊กก็เสริมว่า “อยากให้ช่วยเรื่องการพักชำระหนี้ อันนี้สำคัญเลย เพราะถ้าไม่มีงานทำเราก็ไม่มีเงินจ่ายค่างวด แต่ถ้าจะให้ดี เปิดผับให้เราทำงานดีกว่า บางคนอยากเที่ยว บางคนไม่อยากเที่ยว ก็ต้องป้องกันตัวเอง ถ้าปิดมันก็พังกันหมด ถ้าเปิด อย่างน้อยก็ต้องเซฟ ป้องกันตัวเอง ก็น่าจะพอไปรอด”

ทว่าสำหรับคุณลูกเต๋า การเยียวยาที่แท้จริง คือการไม่ปิดสถานบันเทิงอีก

“เรื่องการเยียวยา ผมไม่อยากให้เขามาโฟกัสกับเรากลุ่มเดียว ผมอยากให้เขาโฟกัสกับทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ รัฐต้องคุยกับเขาครับ เพราะคุณไม่เข้าใจ มันพิสูจน์แล้วว่าคุณไม่เข้าใจอะไรเลย การดำเนินการของประเทศที่มันควรจะเป็นมันไม่ควรมีการเรียกร้องจากคนที่ลำบากฝั่งไหนเลย รัฐควรลงมาดูแลทันทีเพื่อให้คนอุ่นใจว่าคุณไม่ทิ้งเรา เราโดนทิ้ง โดนลอยแพมานานเป็นปี และตอนนี้เราไม่ได้โดนทิ้งอย่างเดียว เราโดนเตะลงเหวแล้ว ทุบๆๆ จนมันเกินไปมากๆ แล้ว” คุณลูกเต๋ากล่าว

และเมื่อถามว่า เหตุใดรัฐบาลจึงจำเป็นต้องฟังเสียงของคนกลางคืน คุณลูกเต๋าตอบอย่างหนักแน่นว่า

“ก็ต้องถามกลับไปว่า พวกผมเป็นประชาชนของประเทศไทยหรือเปล่า และอาชีพที่พวกผมทำมันเป็นอาชีพถูกกฎหมายและสุจริตหรือเปล่า พวกคุณอนุญาตให้พวกผมทำหรือเปล่า ถ้าใช่ คำตอบก็เหมือนกับที่คุณแคร์ท่องเที่ยว ครู นักเรียน ธุรกิจทุกแขนง ทุกขนาด คุณต้องฟังทุกอาชีพ คนกวาดถนน ธุรกิจพันล้าน หรือธุรกิจขนาดเล็ก ขายได้วันละพัน คุณต้องฟังหมด เพราะนั่นคือคนของคุณ นั่นคือประชาชนที่คุณต้องดูแล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook