นายกฯ ไม่ท้อ! ขอเอาชนะสงครามโควิด นำเข้าไฟเซอร์ 5-20 ล้านโดส-เคาะมาตรการเยียวยา

นายกฯ ไม่ท้อ! ขอเอาชนะสงครามโควิด นำเข้าไฟเซอร์ 5-20 ล้านโดส-เคาะมาตรการเยียวยา

นายกฯ ไม่ท้อ! ขอเอาชนะสงครามโควิด นำเข้าไฟเซอร์ 5-20 ล้านโดส-เคาะมาตรการเยียวยา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกฯ ผุดตั้ง รพ.สนามที่ "อิมแพค เมืองทองธานี" สั่งกระทรวงสาธารณสุขนำเข้าวัคซีนโควิดจากไฟเซอร์ 5-20 ล้านโดส เร่งกระจายฉีดวัคซีน เกาะติดคลัสเตอร์คลองเตย ใช้โมเดลสมุทรสาคร ร่ายอ่านเอกสารออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจ

วันนี้ (5 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ โดยระบุว่า จากการได้รับทราบสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างในหลายจังหวัด ในฐานะนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศบค. ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยได้สั่งการเพิ่มเติมสำหรับการจัดหาเตียงผู้ป่วย และโรงพยาบาลสนาม พร้อมแบ่งกลุ่มอาการออกเป็นระดับ ตั้งแต่ระดับสีเขียว สีเหลืองและสีแดง พร้อมให้คัดกรองผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสนามเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลหลัก และรักษาเตียงว่างไว้ให้กับผู้ป่วยที่จำเป็น และเพิ่มจำนวนผู้รับโทรศัพท์​สายด่วน 1668 1669 และ 1330 ให้เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์แรกรับและส่งตัวผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อช่วยแยกตัวผู้ป่วยออกจากชุมชนเพื่อรอส่งรักษาตัวต่อไป ได้ถึง 96% พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงกลาโหม และกรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการ ให้เพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามให้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้สามารถติดต่อผู้ป่วยที่รอเตียงตกค้างทั้งหมดเข้าสู่ระบบการรักษา ตามที่ได้แบ่งไว้ 3 กลุ่ม ที่ปัจจุบันไม่มีผู้ป่วยรอเตียงเกิน 48 ชั่วโมงแล้ว ซึ่งจากความพยายามในการเพิ่มเตียงให้พร้อมรองรับผู้ป่วยที่มากขึ้นทั้ง Hospitel และโรงพยาบาลสนาม ทำให้มีเตียงเพิ่มขึ้นจากช่วงสงกรานต์เกือบ 10,000 เตียง และมีเตียงว่างรวมทั่วประเทศมากกว่า 30,000 เตียง

พร้อมกันนี้ ยังจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มเติมที่กรุงเทพฯ โดยใช้พื้นที่อิมแพคอารีนา เมืองทองธานี เพื่อรองรับผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถแก้ไขปัญหาสายด่วนเพื่อส่งต่อผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างทันการณ์ การเตรียมผู้ป่วย ตนขอบคุณทุกคนทุกหน่วยงานทุกองค์กร และจิตอาสาที่ได้ให้การร่วมมือจนสามารถแก้ไขปัญหาในระยะนี้ได้ในระดับหนึ่ง และในระดับที่ดี

สั่ง สธ.นำเข้าไฟเซอร์ 5-20 ล้านโดส ตั้งเป้าฉีดเดือนละ 15 ล้านโดส

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการจัดหาและการฉีดวัคซีนโควิด ว่า ได้กำหนดเป็นมาตรการเร่งด่วน โดยมีเป้าหมายในสิ้นปีนี้ ประชากรในประเทศไทยต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70 หรือประชากร 50 ล้านคน หรือใช้วัคซีนทั้งสิ้น 100 ล้านโดส ประเทศไทยมีวัคซีนตามแผนแล้ว 63 ล้านโดส โดยจะเริ่มฉีดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคประจำตัวในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ กว่า 16 ล้านคน ส่วนในเดือน พ.ค.นี้ จะได้รับวัคซีนซิโนแวคตามแผนอีก 3.5 ล้านโดส เพื่อระดมฉีดให้เป็นรางวัลด่านหน้า และผู้อยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้ได้มากที่สุด

ขณะเดียวกัน ยังให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม คือ วัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 5-20 ล้านโดส และ สปุตนิกวี จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และ ซิโนแวค บริษัทละ 5-10 ล้านโดส พร้อมยืนยันว่ามีการวางแผนการกระจายวัคซีนอย่างเป็นระบบ ผ่านระบบหมอพร้อมที่มีประชาชนมาจองคิวแล้วมากกว่า 1 ล้านคน พร้อมกับผ่านเครือข่ายโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและเครือข่าย อสม. ทั่วประเทศ โดยใช้แผนการบริการวัคซีนตามกระทรวงสาธารณสุขและการสร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคม จัดลำดับกลุ่มเสี่ยงอย่างเร่งด่วนตามพื้นที่เศรษฐกิจ โดยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการเพิ่มจุดบริการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าจะต้องฉีดวัคซีนให้ได้เดือนละ 15 ล้านโดส และชนะสงครามโควิด -19 ครั้งนี้ให้ได้

เกาะติดคลัสเตอร์คลองเตย ยึดโมเดล "สมุทรสาคร"

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า ตนได้ติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษกรณีคลัสเตอร์คลองเคย โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังในการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยใช้ประสบการณ์จากการจัดการในจังหวัดสมุทรสาครได้สำเร็จมาปรับใช้ โดยใช้โมเดล “ตรวจเชื้อ ติดต่อ คัดกรอง แยกตัว ส่งต่อ และรักษา” เน้นไปที่การตรวจเชิงรุก Active Case Finding ที่ระดมตรวจกลุ่มเสี่ยงในชุมชนที่มีการติดเชื้อให้ได้อย่างน้อย 1,000 คนต่อวัน โดยหน่วยเคลื่อนที่ และรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทาน โดยจะตรวจเชิงรุกให้ได้อย่างน้อยทั้งหมด 20,000 คน จากนั้นก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปทันที นั่นคือ การแยกผู้ป่วยตามระดับอาการ แล้วส่งตัวเข้าสถานพยาบาลแรกรับ เพื่อส่งไปรักษาตัวต่อ ก็จะเป็นการจำกัดวงการแพร่ระบาดให้วงเล็กที่สุด และในเวลาเดียวกันก็จะระดมการฉีดวัคซีนโควิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งแนวทางนี้พิสูจน์ว่าประสบความสำเร็จมาแล้วจากกรณีสมุทรสาคร

ซึ่งล่าสุดได้รับรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้จัดพื้นที่ตรวจเชิงรุกให้กับพี่น้องชาวชุมชนคลองเตยได้อีกถึง 700 คนต่อวัน

ขณะเดียวกันยังมีการสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งขณะนี้ยังมีเพียงพอ แต่ต้องมีการขยายเพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนักในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเมื่อวานนี้มีการเปิดโรงพยาบาลสนามที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นอีก 432 เตียง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีแผนการบริหารจัดการการดูแลผู้ป่วยอาการหนักที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดการสูญเสีย

ส่วนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า มีความกังวลเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยหาเช้ากินค่ำ ผู้ประกอบการอื่นๆ ที่เป็นห่วงโซ่สำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย ตนได้ตั้งคณะกรรมการ ศบศ. ศูนย์บริหารสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยได้มีมาตรการออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งโครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน และมาตรการทางการเงิน

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบนี้ จำเป็นต้องออกมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ ที่เกิดผลกระทบกับประชาชนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะนี้มีคำสั่งให้กระทรวงการคลังและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน

คลอด 3 มาตรการหลักเยียวยาประชาชน

สามารถสรุปมาตรการได้ดังต่อไปนี้ มาตรการในระยะที่ 1 มี 3 มาตรการหลักที่สามารถดำเนินการได้ทันทีได้แก่

1. มาตรการด้านการเงิน มีจำนวน 2 มาตรการ คือ

1.1 มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับประชาชน ผู้ประกอบการ และเกษตรกร โดยธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก

1.2 มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้ขยายระยะเวลาการพักชำระหนี้เงินต้นให้แก่ลูกหนี้ออกไปถึงสิ้นปีนี้ เพื่อลดภาระนำเงินส่วนนี้ไปเสริมสภาพคล่อง

2. มาตรการด้านการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย ลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าและประปา ให้กับประชาชนและกิจการขนาดเล็กทั่วประเทศ ในช่วงเดือน พ.ค. ถึง เดือน มิ.ย. 2564 เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนและกิจการที่ถูกปิด

3. มาตรการต่อเนื่องด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ประกอบด้วย 2 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 85,500 ล้านบาท ได้แก่

3.1 การเพิ่มวงเงิน "เราชนะ" อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือน มิ.ย. 2564 วงเงินประมาณ 67,000 ล้านบาท

3.2 เพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตน โครงการ ม.33 เรารักกัน อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยให้สิ้นสุดเวลาการใช้จ่ายในเดือน มิ.ย. 2564 วงเงินประมาณ 18,500 ล้านบาท

ส่วนมาตรการในระยะที่ 1 นั้น คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการในส่วนของมาตรการด้านการเงินทั้ง 2 เรื่อง ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เห็นชอบให้ดำเนินการตามมาตรการลดค่าใช้จ่ายน้ำประปาและค่าไฟฟ้า ในช่วงเดือน พ.ค. และ มิ.ย.นี้ ส่วนการเพิ่มวงเงินในโครงการเราชนะ และ ม.33 เรารักกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบจะเร่งดำเนินการเสนอโครงการตามที่รับผิดชอบ ซึ่งตนได้กำหนดให้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ อาทิ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ด้วยการขยายระยะเวลาช่วยเหลือออกไปถึงสิ้นปีนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์มีประมาณ 3 ล้านคน รวมทั้งการชดเชยผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ต้องกักตัวหรือต้องหยุดทำงาน

นอกจากโครงการระยะสั้นแล้ว รัฐบาลได้วางแผนช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยถึงสิ้นปีนี้ โดยมาตรการในระยะที่ 2 ช่วงระหว่างเดือน ก.ค. - ธ.ค. 2564 เชื่อว่าหากร่วมมือกันจำกัดการแพร่ระบาดได้อย่างเต็มที่ สถานการณ์การแพร่ระบาดจะคลี่คลายลงจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินการในระยะที่ 2 ได้

โดยมาตรการในระยะที่ 2 ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก อยู่ในกรอบวงเงิน 140,000 ล้านบาท ได้แก่ มาตรการลดภาระค่าครองชีพ ประกอบด้วย 2 โครงการ คือ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โดยให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติม 200 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค. 2564 ครอบคลุมประชาชน 13.6 ล้านคน และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเดือนละ 200 บาท เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค. 2564 ครอบคลุมประชาชน 2.5 ล้านคน

กระตุ้นกำลังซื้อคลอด "คนละครึ่ง" เฟส 3

รวมทั้งยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นกำลังซื้อให้กับประชาชนกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและมีรายได้สูง ประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ คนละครึ่ง ระยะที่ 3 ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ หมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจ และช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานรากโดยตรง และโครงการ "ยิ่งใช้ยิ่งได้" ซึ่งถือเป็นโครงการใหม่ โดยภาครัฐจะสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Voucher) ให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิ์ โดยใช้การชำระเงินผ่าน G-wallet บนแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" ให้กับร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งติดตั้งแอปพลิเคชัน "ถุงเงิน" ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อสูงให้นำเงินออกมาใช้จ่าย

โดยมาตรการในระยะที่ 2 ทั้งสี่โครงการข้างต้นจะครอบคลุมเป้าหมายกว่า 51 ล้านคน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 473,000 ล้านบาท

ลั่นไม่ท้อถอย ย้ำช่วยให้ประชาชนปลอดภัย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ทั้งหมดนี้คือการทำงานและดำเนินการอย่างเต็มที่ของรัฐบาลและ ศบค. ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิด -19 ทั้งทางด้านการควบคุมการแพร่ระบาดและการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

"ผมในฐานะนายกรัฐมนตรีและ ผอ.ศบค. พร้อมด้วยทุกภาคส่วน จะไม่มีวันท้อถอยหรือท้อแท้ ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาใดๆ และจะต้องไม่หยุดในการคิดและหยุดทำ ช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัย และให้ประเทศไทยที่รักของทุกคนก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงแข็งแรงยั่งยืน" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าวของนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ไม่ได้มีการตอบคำถามสื่อมวลชนในประเด็นการเมืองทั้งในประเด็นที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีออกมาพูดผ่านคลับเฮาส์ และกระแสเรื่องการย้ายประเทศแต่อย่างใด โดยนายกฯ เน้นการอ่านเอกสารเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ เมื่อครบถ้วนแล้วก็เดินออกจากบริเวณแถลงข่าวทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook