รัฐมนตรีดอน ปัดข่าวนายกฯ ลงนาม CPTPP แค่ขยายเวลาศึกษา ลั่นต้องผ่านรัฐสภาก่อน

รัฐมนตรีดอน ปัดข่าวนายกฯ ลงนาม CPTPP แค่ขยายเวลาศึกษา ลั่นต้องผ่านรัฐสภาก่อน

รัฐมนตรีดอน ปัดข่าวนายกฯ ลงนาม CPTPP แค่ขยายเวลาศึกษา ลั่นต้องผ่านรัฐสภาก่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ชี้แจงถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา ที่เกิดการบิดเบือนข้อมูลว่า นายกรัฐมนตรีเห็นชอบการเข้าร่วมข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าข้ามแปซิฟิก (CPTPP/ซีพีทีพีพี) แล้ว โดยยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ซึ่งถือเป็นข้อมูลปลอม

พร้อมชี้แจงว่า นายกรัฐมนตรี ให้นโยบายจะต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบเป็นพิเศษ โดยที่ผ่านมา ได้ให้ทางสภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยได้เชิญผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ และภาคเอกชนมาให้ความเห็น ก่อนเสนอมายังคณะรัฐมนตรี จากนั้นคณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ และ กนศ. พิจารณาข้อมูลจากกรรมาธิการฯ อีกครั้งหนึ่งให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่กระทรวงการต่างประเทศ และ กนศ. เห็นว่า ระยะเวลาดังกล่าว ยังไม่เพียงพอต่อการพิจารณาในรายละเอียด จึงขอขยายระยะเวลา 90 วัน ซึ่งครบกำหนดในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

โดยระยะเวลาดังกล่าว ได้จัดประชุมและเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาหารือร่วมกันหลายครั้ง ซึ่งแม้จะได้ข้อสรุปในเบื้องต้นแล้ว แต่เห็นว่า ยังควรทบทวนในรายละเอียด เพื่อให้เกิดความรอบคอบอีกครั้ง จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรี ในการประชุม 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อขอขยายระยะเวลาการพิจารณาออกไปอีก 50 วัน เพื่อพิจารณาเตรียมการเจรจาในประเด็นที่อาจทำให้ไทยเสียเปรียบ รวมถึงการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกให้ได้มากที่สุด แต่หากผลกระทบใดลดลงไม่ได้ ก็เตรียมการพิจารณากลไกเยียวยา และให้เกิดความยั่งยืน ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยหากรัฐบาล เห็นว่ามีความพร้อมแล้ว ก็จะเสนอต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ต่อไป

นายดอน ยังเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 25 มิ.ย.นี้ เรื่องดังกล่าวจะเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งคณะรัฐมนตรี จะเป็นผู้ตัดสินว่า จะเข้าการเจรจาหรือไม่ ซึ่งการเจรจาดังกล่าว ยังไม่ใช่การตอบรับเป็นสมาชิกภาคี แต่เป็นการเจรจาเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไทย ซึ่งหากจะตอบรับเป็นสมาชิก ก็จะนำข้อมูลทั้งหมด ทั้งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ข้อสังเกตต่าง ๆ รวมไปถึงกระบวนการต่าง ๆ ในอนาคต ไปพิจารณา และอาจขอเวลาเพิ่มเติมในการพิจารณาเข้าร่วมเป็นภาคีได้ ซึ่งอาจจะเป็น 5 ปี 20 ปี หรือ 25 ปี เพื่อให้เกิดเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อไทย และการจะตอบรับเข้าร่วมเป็นสมาชิกนั้น ก็จะต้องขอมติจากรัฐสภาด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรี จะลงนามแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้

นายดอน ยังเกรงว่า หากไทยไม่เข้าร่วม CPTPP จะเสียเปรียบการแข่งขันทางเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน และโดยเฉพาะในบริเวณเอเชียแปซิฟิก ที่ตอบรับเข้าร่วม CPTPP เพราะจะทำให้เกิดโอกาสการลงทุนจากนานาประเทศอย่างกว้างขวาง สามารถเปิดตลาดใหม่ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงสู่ตลาดโลกการค้า การลงทุน และการบริการต่างๆ ได้ พร้อมย้ำว่า การตอบรับเข้าร่วมภาคี CPTPP ของไทย จะดำเนินการเมื่อมีความพร้อม และมั่นใจว่า จะต้องไม่เสียเปรียบประเทศอื่นๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook