ปูพรมฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกให้ได้ 70% ของประชากร แต่ละจังหวัดสามารถเปิดวอล์กอินด้วย

ปูพรมฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกให้ได้ 70% ของประชากร แต่ละจังหวัดสามารถเปิดวอล์กอินด้วย

ปูพรมฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกให้ได้ 70% ของประชากร แต่ละจังหวัดสามารถเปิดวอล์กอินด้วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บอร์ดวัคซีนฯ มีมติเร่งปูพรมฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรกให้ครอบคลุม 70% ของจำนวนประชากรให้ได้เร็วที่สุด แต่ละจังหวัดสามารถเปิดให้ประชาชน walk-in เข้ามารับการฉีดได้ตามความเหมาะสม

วันนี้ (12 พฤษภาคม 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมทั้งในที่ประชุมและรูปแบบออนไลน์

ทั้งนี้ นายอนุทิน กล่าวว่า คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติได้รับทราบนโยบายของรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ในการจัดหาและให้บริการวัคซีนโควิด-19 ให้เพียงพอกับคนไทยทุกคนและผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทยใน 3 แนวทาง คือ

  1. การเพิ่มจำนวนวัคซีนจากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ 100 ล้านโดส เป็น 150 ล้านโดส 
  2. การเร่งทำงานเชิงรุกเพื่อเจรจากับผู้ผลิตหลายรายมากขึ้น เพิ่มโอกาสในการได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นและเร็วขึ้น และ
  3. การปรับแนวทางการฉีดวัคซีน โดยเร่งปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนจำนวนมากที่สุด ช่วยลดโอกาสรับเชื้อ ลดความรุนแรงและการเสียชีวิต

ดังนั้น จึงต้องลดอุปสรรคการเข้าถึงวัคซีน จึงให้มีการเข้าถึงทั้งรูปแบบการนัดผ่านหมอพร้อม ผ่านองค์กรต่างๆ ที่นำบุคลากรมาฉีดเป็นกลุ่ม และการเดินเข้ามารับวัคซีน ดำเนินการทั่วประเทศ โดยจังหวัดไหนพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันที

"แต่ละจังหวัดจะต้องฉีดให้ได้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร โดยการกระจายวัคซีนจะเน้นพื้นที่ระบาดก่อนเพื่อควบคุมโรค โดยจังหวัดจะกำหนดจุดฉีดวัคซีน และแบ่งสัดส่วนวัคซีนสำหรับระบบนัดและการเดินเข้ามารับวัคซีน ซึ่งปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม แต่ทุกจุดฉีดวัคซีนต้องดำเนินการตามมาตรฐาน เฝ้าระวังอาการหลังฉีด ไม่ว่าเข้ามาในรูปแบบใด เมื่อรับวัคซีนแล้วจะมีการบันทึกข้อมูลใน หมอพร้อม เพื่อติดตามอาการนัดมารับวัคซีนเข็มที่สอง และออกใบรับรองการฉีดวัคซีน" นายอนุทิน กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชากรไทยในปี 2565 โดยให้เร่งรัดเจรจากับผู้ผลิตที่มีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่สามารถครอบคลุมไวรัสกลายพันธุ์ ส่งมอบได้ภายในไตรมาส 1 ของปี 2565 และเร่งรัดการแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยแพลตฟอร์มใหม่ สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนแบบรองรับการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส แนวทางการขึ้นทะเบียนวัคซีนที่วิจัยพัฒนาในประเทศ และแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 3 โดยจะรายงาน ศบค.รับทราบต่อไป

"การจัดหาวัคซีนไม่ได้เป็นการซื้อครั้งเดียวแล้วจบ แต่เป็นกรอบกว้างๆ เพื่อจัดหาวัคซีนให้ได้มากที่สุด ให้ประเทศไทยมีทางเลือกวัคซีนรุ่นใหม่ ยี่ห้อใหม่ ครอบคลุมสายพันธุ์เพิ่มเติมให้มากที่สุด หากประเทศผู้ผลิตต้นทางเกิดสถานการณ์การระบาดที่อาจมีการชะลอการจัดส่ง ทำให้ประเทศไทยมีทางออกในหลายทาง" นายอนุทิน กล่าว

โดยการฉีดวัคซีนจะมี 3 รูปแบบ​ คือ

1. นัดหมายผ่าน แอปหรือไลน์ "หมอพร้อม"

2. การนัดหมายเป็นกลุ่มก้อนของทางหน่วยงาน เพื่อขอรับวัคซีน

3. รับการฉีดแบบไม่นัดหมายล่วงหน้า หรือ Walk-in

โดยให้จังหวัดทำหน้าที่บริหารจัดการเอง กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่กระจายวัคซีนตามคำขอเท่านั้น

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า การฉีดวัคซีนเข็มแรกแบบปูพรมไม่จำกัดแค่พื้นที่ระบาด​ แต่ให้ดำเนินการในทุกพื้นที่ เป็นหน้าที่ของแต่ละจังหวัดรับผิดชอบ ซึ่งจะระบุยอดเป้าหมายการฉีดแต่ละจังหวัด โดยตั้งเป้าการฉีดวัคซีนครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร หากจังหวัดไหนพร้อมเริ่มฉีดได้ทันที

สำหรับการจัดฉีดวัคซีนโควิด​แบบไม่นัดหมายล่วงหน้า จะช่วยลดอุปสรรคของคนที่เข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ไม่มีแอปพลิเคชัน หรือดำเนินการผ่าน หมอพร้อม ไม่ได้ และคนที่ไม่มีประวัติเจ็บป่วยมาก่อน โดยแบ่งสัดส่วนของการฉีด​กับการนัดผ่านหมอพร้อม และโรงพยาบาลนัดหมายเป็นสัดส่วน 30-50-20 ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ นพ.โอภาส ย้ำว่า​ ทุกขั้นตอนการฉีดยังต้องมีมาตรฐาน สังเกตอาการ 30 นาที และแม้จะลดขั้นตอนการลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมในตอนแรก แต่หลังฉีดเสร็จยังต้องลงทะเบียนในแอปฯ หรือไลน์ หมอพร้อม เพื่อกรอกข้อมูลเก็บไว้ใช้ในการติดตามผลของวัคซีน นัดหมายฉีดเข็มที่ 2 และใช้ในการออกใบรับรองว่าได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ส่วนประชาชนที่ไม่มีแอปพลิเคชันหรือเข้าไลน์ หมอพร้อม ไม่ได้ เจ้าหน้าที่จะช่วยกรอกข้อมูลลงระบบต่อไป

นอกจากนี้​ กรมควบคุมโรคได้ร่วมกับสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต จัดหาวัคซีนฉีดให้กับกลุ่มบุคคลที่มีความพิเศษและครอบครัว เพราะส่วนใหญ่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เมื่อติดเชื้อก็มีอาการรุนแรง โดยอาจเป็นการนัดหมายฉีดวัคซีนที่บ้านพักเพื่อลดการเดินทาง ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่จะค่อยๆ ทยอยดำเนินการ โดยวัคซีนทุกยี่ห้อมีความปลอดภัย ไม่อยากให้ประชาชนพิจารณานานว่าสมควรฉีดหรือไม่ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่า ใครมีความเหมาะสมรับวัคซีนยี่ห้อไหน ชนิดไหน เพราะบางคนอาจแพ้วัคซีนบางตัว แต่ทุกๆ การฉีดอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์​ ที่ผ่านมาฉีดไปแล้ว 2 ล้านโดส ไม่พบคนเสียชีวิตหรือพิการ และขณะนี้กระจายวัคซีนไปแล้ว 2.5 ล้านโดส เหลืออีก 1 ล้านโดสที่อยู่ระหว่างการรอตรวจสอบเอกสารต้นทาง

ส่วนข้อกังวลผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิดนั้น อธิบดีกรมควบคุมโรคยืนยันว่า มีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณา และทำงานเป็นอิสระ บางเคสที่สงสัยก็มีการใช้กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ผ่าชันสูตรศพพิสูจน์

ส่วนที่กังวลว่าหาก​วอล์กอินไปจะได้วัคซีนคนละตัวกับคนที่ลงทะเบียนนั้น นพ.โอภาส ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ทุกการพิจารณาฉีดวัคซีนเป็นดุลยพินิจของแพทย์ ส่วนการจัดหาบุคลากรมาสนับสนุนในการฉีด อาจมีการระดมพยาบาลเกษียณอายุเข้ามาช่วยเหลือเพิ่ม ทำให้การฉีดวัคซีนได้รวดเร็วขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook