10 ประเด็นสังคม – การเมือง บนเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2020

10 ประเด็นสังคม – การเมือง บนเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2020

10 ประเด็นสังคม – การเมือง บนเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2020
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จบลงไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับการประกวดรอบตัดสิน มิสยูนิเวิร์ส 2020 ซึ่งจัดขึ้นที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา พร้อมกับสาวงามจากเม็กซิโก แอนเดรีย เมซา ที่คว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์ส 2020 ไปครอง แต่นอกจากการแข่งขันกันเรื่องความงามแล้ว เวทีมิสยูนิเวิร์สไม่ว่าปีใด ก็ล้วนแต่เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมืองด้วยเช่นกัน และนี่คือ 10 ประเด็นทางสังคมและการเมือง ที่ถูกนำมาสื่อสารผ่านสาวงามบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส 2020

แอนเดรีย เมซา มิสยูนิเวิร์ส 2020Gettyimagesแอนเดรีย เมซา มิสยูนิเวิร์ส 2020 

โควิด-19

ปัญหาสำคัญระดับโลก ณ ขณะนี้ หนีไม่พ้นสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่แม้หลายประเทศจะได้รับวัคซีนและเตรียมพร้อมกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ แต่ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังคงพบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ที่ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงระบบเศรษฐกิจอีกด้วย

ประเด็นเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ถูกนำมาสื่อสารได้อย่างน่าทึ่ง โดยสาวงามจากประเทศอิสราเอล ตาฮิลา เลวี ซึ่งเธอได้ชุดประจำชาติที่รู้จักกันในชื่อ “ชุดหลังการระบาดโควิด-19” ที่ตัดเย็บขึ้นจากหน้ากากอนามัยจำนวน 300 ชิ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์สะท้อนถึงความหวังในอนาคต ที่ทุกคนไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากในชีวิตประจำวันอีกต่อไป นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงประเทศอิสราเอลที่ถือเป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 สูงสุดในขณะนี้ และยกเลิกมาตรการบังคับใส่หน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ตาฮิลา เลวี ในชุดประจำชาติอิสราเอลGettyimagesตาฮิลา เลวี ในชุดประจำชาติอิสราเอล

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องโรคโควิด-19 ยังปรากฏอีกครั้งในการตอบคำถามรอบ 5 คนสุดท้ายด้วย โดยแอตลีน กัสเทลิน สาวงามตัวแทนจากประเทศอินเดีย ได้รับคำถามว่า จะเลือกการล็อกดาวน์ประเทศเพื่อยับยั้งโรคระบาด แม้จะมีปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือจะเปิดประเทศแม้ว่าจะมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสูง และเธอตอบว่า “จากสิ่งที่อินเดียกำลังเผชิญ เราได้เรียนรู้อย่างหนึ่ง นั่นคือไม่มีอะไรสำคัญกว่าสุขภาพของคนที่คุณรัก และคุณต้องสร้างสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับสุขภาพ และจะทำได้เมื่อรัฐบาลร่วมมือกับประชาชน

ส่วนแอนเดรีย เมซา สาวงามจากประเทศเม็กซิโก ซึ่งภายหลังได้คว้าตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สคนล่าสุด ได้รับคำถามว่า หากเธอเป็นผู้นำประเทศ เธอจะรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด-19 อย่างไร เธอตอบว่า “ฉันเชื่อว่าไม่มีวิธีการรับมือกับโรคระบาดที่สมบูรณ์แบบ แต่สิ่งที่ฉันจะทำคือล็อกดาวน์ก่อนที่ทุกอย่างจะลุกลามบานปลายเช่นนี้ เราสูญเสียมากมาย และเราต้องดูแลประชาชนของเราตั้งแต่ต้น

ธูชาร์ วินท์ ลวิน มิสยูนิเวิร์สเมียนมา ในชุดประจำรัฐชิน ที่ได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมGettyimagesธูชาร์ วินท์ ลวิน มิสยูนิเวิร์สเมียนมา ในชุดประจำรัฐชิน ที่ได้รับรางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยม

รัฐประหารเมียนมา

เรื่องราวของธูชาร์ วินท์ ลวิน มิสยูนิเวิร์สเมียนมา กลายเป็นที่จับตามองไม่น้อย เพราะนอกจากสถานการณ์การเมืองในประเทศเมียนมา ซึ่งเต็มไปด้วยการนองเลือด หลังจากการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เธอยังต้องเจอกับปัญหากระเป๋าเดินทางหายระหว่างการเดินทางมาร่วมการประกวดที่สหรัฐฯ ทำให้เธอไม่สามารถสวมชุดตุ๊กตาล้มลุก ซึ่งเป็นชุดที่นำมาใช้ประกวดในรอบชุดประจำชาติได้

อย่างไรก็ตาม ในการประกวดชุดประจำชาติ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม สาวงามจากเมียนมาผู้นี้ได้เปลี่ยนมาใช้ชุดสำรอง คือเครื่องแต่งกายประจำรัฐชิน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอเอง โดยได้รับการช่วยเหลือจากชุมชนชาวชินในสหรัฐฯ พร้อมถือป้ายที่มีข้อความว่า "Pray for Myanmar" หรือ “อธิษฐานให้เมียนมา” เพื่อสื่อสารให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียดในเมียนมา ซึ่งนอกจากจะได้รับการยกย่องจากกองประกวดว่าเป็นชุดที่ทรงพลังแล้ว ธูชาร์ วินท์ ลวิน ยังคว้ารางวัลชุดประจำชาติยอดเยี่ยมไปครองได้สำเร็จอีกด้วย

ชุดประจำชาติสิงคโปร์ พร้อมข้อความ Gettyimagesชุดประจำชาติสิงคโปร์ พร้อมข้อความ  

กระแสเกลียดชังคนเอเชีย

สถานการณ์โควิด-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดกระแสเกลียดชังคนเอเชีย เนื่องจากต้นตอการระบาดในประเทศจีน โดยในระยะเวลา 1 ปี มีเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงต่อคนเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างมากในโลกตะวันตก ด้วยเหตุนี้ เบอร์เนเดต เบลล์ วู อ่อง ตัวแทนสาวงามจากประเทศสิงคโปร์ จึงเรียกร้องให้มีการยุติความเกลียดชังดังกล่าว ผ่านชุดประจำชาติสีแดง-ขาว ซึ่งเป็นสีของธงชาติสิงคโปร์ พร้อมข้อความ "Stop Asian Hate" หรือ "ยุติกระแสเกลียดชังคนเอเชีย"

มิสยูนิเวิร์สสิงคโปร์เล่าในอินสตาแกรมส่วนตัวของเธอว่า สีแดงที่ใช้ในชุด หมายถึงความเท่าเทียมสำหรับทุกคน ส่วนสีขาวหมายถึงความดีงามอันเป็นนิรันดร์ และสิงคโปร์เป็นประเทศของคนทุกเชื้อชาติ ซึ่งทุกคนต่างภูมิใจในความเป็นชาวเอเชีย

“การประกวดเวทีนี้จะมีความหมายอะไร หากฉันไม่สามารถสื่อสารความคิดของฉันเกี่ยวกับการต่อต้านอคติและความรุนแรง ขอขอบคุณเวทีมิสยูนิเวิร์สที่ให้โอกาสนี้” เบอร์เนเดต เบลล์ วู อ่อง แถลงผ่านอินสตาแกรม

ชุดประจำชาติอุรุกวัย ที่มุ่งสื่อสารเรื่องความหลากหลายทางเพศGettyimagesชุดประจำชาติอุรุกวัย ที่มุ่งสื่อสารเรื่องความหลากหลายทางเพศ

ประเด็นเรื่องเพศ

ในรอบการประกวดชุดประจำชาติ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ตัวแทนสาวงามจากประเทศอุรุกวัย โลลา เดอ ลอส ซานโตส มาในชุดผ้าคลุมสีรุ้ง พร้อมข้อความ “No more hate, violence, rejection discrimination” หรือ “ยุติความเกลียดชัง ความรุนแรง และปฏิเสธการเลือกปฏิบัติ” เพื่อรณรงค์เรื่องความหลากหลายทางเพศ

นอกจากนี้ ในการตอบคำถามรอบตัดสิน 5 คนสุดท้าย จานิก มาเซตา เดล คาสติลโล ตัวแทนจากประเทศเปรู ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับการให้กำลังใจผู้หญิงที่ตกอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศหรือความรุนแรงในครอบครัว ว่า “ฉันจะบอกว่า ฉันชื่นชมความเข้มแข็งของพวกเธอ พวกเธอคือผู้รอดชีวิต ฉันก็เคยเหมือนกัน ฉันเป็นผู้กล้าในชีวิตฉันเอง นั่นคือเหตุผลที่ฉันสนับสนุนช่วยเหลือเด็กผู้หญิงจากการตกเป็นเหยื่อ พวกเธอคือผู้อยู่รอด พวกเธอคือผู้กล้า พวกเธอมีพลัง และอย่าให้ใครมาทำให้คุณเงียบเสียงลง”

ผู้นำหญิง

“ภาวะผู้นำ” หรือ Leadership เป็นคำที่ปรากฏบ่อยครั้งในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2020 และประเด็นเกี่ยวกับผู้นำหญิงก็ถูกหยิบยกมาใช้ในการประกวดความงามครั้งนี้ โดยในการตอบคำถามรอบ 5 คนสุดท้าย จูเลีย การ์มา ตัวแทนจากประเทศบราซิล ได้รับคำถามว่า “ในขณะที่หลายประเทศ ผู้หญิงยังไม่มีโอกาสได้เป็นผู้นำ ให้พยายามโน้มน้าวประเทศเหล่านี้ว่า เหตุใดพวกเขาจึงคิดผิด” ซึ่งจูเลียตอบว่า “ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในสังคม และเนื่องจากผู้หญิงไม่ได้รับการสนับสนุนเหมือนอย่างที่ผู้ชายได้รับ สังคมเราจึงสูญเสียศักยภาพที่สำคัญไป โลกต้องการให้ผู้หญิงทำงาน และฉันต้องการให้ผู้หญิงทุกคนตระหนักว่า เราเป็นผู้นำชีวิตของเรา และเราทำอะไรได้มากมายเพื่อสังคมของเรา จงใช้พลังของคุณ

ด้านคิมเบอร์ลี คิเมเซ สาวงามจากสาธารณรัฐโดมินิกัน ได้รับคำถามว่า ในการประกวดครั้งที่ผ่านมา โซซิบินี ทุนซี มิสยูนิเวิร์ส 2019 ได้อธิบายความสำคัญของการสอนความเป็นผู้นำให้กับเด็กผู้หญิง และในฐานะมิสยูนิเวิร์ส เธอจะทำอย่างไร คำตอบของคิมเบอร์ลีคือ “ฉันมาจากครอบครัวที่มีแต่ผู้หญิง ซึ่งพวกเขาได้ช่วยเหลือฉัน จนกระทั่งฉันได้มาช่วยพวกเขาในวันนี้ โดยการทำงานในองค์กรการกุศลของฉันเอง ดังนั้น ฉันคิดว่าตำแหน่งไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นในการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้อื่น

เหล่าสาวงามผู้ท้าชิงมงกุฎมิสยูนิเวิร์ส 2020 ในรอบ 5 คนสุดท้ายGettyimagesเหล่าสาวงามผู้ท้าชิงมงกุฎมิสยูนิเวิร์ส 2020 ในรอบ 5 คนสุดท้าย 

การเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานความงาม

ในการตอบคำถามครั้งที่ 2 ในรอบ 5 คนสุดท้าย ผู้เข้าประกวดแต่ละคนจะต้องสุ่มจับหัวข้อเรื่องคนละ 1 หัวข้อ และพูดแสดงความคิดเห็นในหัวข้อนั้นภายในเวลาที่กำหนด แอนเดรีย เมซา จากเม็กซิโก ได้หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงของมาตรฐานความงาม” และเธอได้พูดเกี่ยวกับหัวข้อนี้ว่า “เราอยู่ในสังคมที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะที่สังคมก้าวหน้าไป เรากลับมีการเหมารวมที่มากขึ้นด้วย ทุกวันนี้ ความงามเป็นแค่เรื่องของรูปร่างหน้าตาเท่านั้น แต่สำหรับฉัน ความงามอยู่ในจิตวิญญาณ อยู่ในหัวใจ อย่าไปฟังคนที่บอกว่าคุณไม่มีค่า

เสรีภาพในการพูดและสิทธิในการประท้วง

ในการแสดงความคิดเห็นตามหัวข้อที่สุ่มจับได้ ในรอบ 5 คนสุดท้าย แอตลีน กัสเทลิน ผู้เข้าประกวดจากประเทศอินเดีย ได้รับหัวข้อ “เสรีภาพในการพูดและสิทธิในการประท้วง” โดยเธอกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ทุกวันนี้เราได้เห็นการประท้วงเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการประท้วงที่นำโดยผู้หญิง ที่เกิดขึ้นตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียม ซึ่งแม้กระทั่งในตอนนี้เราก็ยังไม่มีความเท่าเทียม การประท้วงคือการส่งเสียงเพื่อต่อต้านความไม่เท่าเทียม มีคนกลุ่มน้อยมากมายที่ลุกขึ้นมาประท้วงในสังคมประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น สิทธิในการประท้วงจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เมื่อคุณใช้สิทธินี้ ทุกสิทธิมาพร้อมกับความรับผิดชอบ และจงใช้มันอย่างมีพลัง

สุขภาพจิต

ประเด็นเรื่องสุขภาพจิตเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่ใช้ในการตอบคำถามในรอบ 5 คนสุดท้าย ซึ่งจูเลีย การ์มา สาวงามจากบราซิล กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ประเด็นเรื่องสุขภาพจิตถือเป็นประเด็นที่ยังคงมีการตีตราอยู่ ส่งผลให้เราไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตได้อย่างถูกต้อง ดังนั้น ฉันอยากให้เราทุกคนที่อยู่ที่นี่ ทำให้การพูดเรื่องปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้า เพราะเราต่างก็เจ็บปวดในบางครั้ง แต่เราไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับมันโดยลำพัง การร่วมมือกันของพวกเราถือเป็นจุดแข็ง หากเราร่วมมือกัน เราจะชนะทุกสิ่ง ขอให้เราสนับสนุนกันและกัน และมีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน”

ปัญหาความยากจน

ปัญหาความยากจนถูกหยิบยกมาพูดถึงโดยคิมเบอร์ลี คิเมเซ ตัวแทนจากสาธารณรัฐโดมินิกัน ในการตอบคำถามครั้งที่ 2 ในรอบ 5 คนสุดท้าย โดยเธอกล่าวว่า “ในสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ ประเทศของฉัน สาธารณรัฐโดมินิกัน ต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนที่เพิ่มขึ้น สำหรับฉัน การที่ได้มาอยู่บนเวทีตรงหน้าของพวกคุณในฐานะตัวแทนของประเทศ ก็เป็นความภาคภูมิใจที่ได้ช่วยโปรโมตการท่องเที่ยวของประเทศ และในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราต้องเรียนรู้ว่ายังมีคนอีกมากมายที่ต้องการความช่วยเหลือ และหากร่วมมือกัน เราสามารถเอาชนะทุกสิ่งได้

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในการตอบคำถามครั้งที่ 2 ในรอบ 5 คนสุดท้าย ก่อนที่คณะกรรมการจะลงมติตัดสินว่าใครจะได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาลประจำปีนี้ จานิก มาเซตา เดล คาสติลโล จากประเทศเปรู กล่าวถึงประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า “เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันในการช่วยเหลือโลกของเรา เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้คนละเล็กละน้อย ไม่ว่าจะเป็นการรีไซเคิล การสอนเด็กๆ ให้รู้จักดูแลรักษาโลกของเรา เราเกิดมาอยู่บนโลกนี้แค่ครั้งเดียว และเราต้องเริ่มลงมือทำได้แล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook