อนุทิน เผยหน่วยงานรัฐ-เอกชน รวมกลุ่มขอรับการฉีดวัคซีนโควิดได้ ช่วยเพิ่มให้เข้าถึงรวดเร็ว

อนุทิน เผยหน่วยงานรัฐ-เอกชน รวมกลุ่มขอรับการฉีดวัคซีนโควิดได้ ช่วยเพิ่มให้เข้าถึงรวดเร็ว

อนุทิน เผยหน่วยงานรัฐ-เอกชน รวมกลุ่มขอรับการฉีดวัคซีนโควิดได้ ช่วยเพิ่มให้เข้าถึงรวดเร็ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"อนุทิน" แจงหน่วยงานรัฐ-เอกชน รวมตัวขอรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ หรือจัดสถานที่และบุคลากรทางการแพทย์ แล้วขอรับวัคซีนไปฉีดเอง ช่วยเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนอย่างรวดเร็ว แจงผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากเรือนจำและไซต์ก่อสร้างที่เขตหลักสี่ ใช้ Bubble and Seal ควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่สู่ภายนอก ถือว่าควบคุมได้ ยังไม่ถึงขั้นต้องเพิ่มมาตรการ

วานนี้ (17 พ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ได้เข้าพบหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานการบริหารจัดการการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั้งจำนวนวัคซีนที่มีและการกระจายการฉีดวัคซีนใน 3 ช่องทาง คือ ผ่านระบบหมอพร้อม ผ่าน อสม. และการที่หน่วยงานองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนรวมทั้งสมาชิกในครอบครัวรวมกลุ่มกันทำหนังสือมายังกรมควบคุมโรคเพื่อขอรับวัคซีน ทั้งขอรับการฉีดที่สถานบริการและการจัดสถานที่และบุคลากรฉีดวัคซีนเอง รูปแบบนี้จะช่วยแบ่งเบาภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขอย่างมาก เช่น กระทรวงคมนาคมใช้สถานีกลางบางซื่อฉีดบุคลากรขนส่งสาธารณะ หรือกองทัพที่มีพื้นที่และหน่วยพยาบาลดำเนินการฉีดเองได้ หรือกรณีสำนักงานประกันสังคมที่ระบุว่าจะฉีดให้ผู้ประกันตน เป็นต้น เมื่อฉีดแล้วจะตัดบัญชีจากจังหวัดต้นทาง

สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนั้น คลัสเตอร์หลักมาจากเรือนจำซึ่งเป็นพื้นที่ปิดและไซต์ก่อสร้างเขตหลักสี่ที่สั่งปิดแล้วได้ทำเป็นโรงพยาบาลสนาม ทั้งหมดใช้มาตรการ Bubble and Seal ไม่ให้มีการแพร่เชื้อสู่ภายนอก คัดแยกประเภทผู้ป่วยเป็นกลุ่มเขียว-เหลือง-แดง โดยจะนำเฉพาะผู้ติดเชื้อมีอาการที่ต้องถึงมือแพทย์จริงๆ ออกมา

ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อยังเป็นกลุ่มสีเขียว เมื่อครบ 14 วันก็จะหายดี เช่น เรือนจำติดเชื้อ 9 พันกว่าคน เป็นกลุ่มสีเขียวประมาณร้อยละ 70 เมื่อครบ 14 วันจะมีประมาณ 5 พันกว่าคนที่กลายเป็นจำนวนผู้รักษาหาย ทั้งนี้ ได้ให้การสนับสนุนยารักษาโรคและการฉีดวัคซีน ซึ่งสถานการณ์ถือว่ายังควบคุมได้ ไม่ถึงขั้นต้องเพิ่มมาตรการ ส่วนที่มีการผ่อนคลายการรับประทานอาหารในร้าน ขอให้ทุกคนยังคงมาตรการป้องกันควบคุมโรค ทั้งเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ หรือทำงานที่บ้าน

“หลังการผ่อนคลายมาตรการจะมีการประเมินสถานการณ์ หากมีความจำเป็นก็สามารถเข้มมาตรการขึ้นมาได้ ซึ่งการผ่อนคลายและกลับมาเข้ม ไม่ได้แปลว่าบริหารล้มเหลว หลายประเทศมีการผ่อนคลายและกลับมาเข้มเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่ต้องเพิ่มมาตรการ แต่หากจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการหรือล็อกดาวน์ ทาง ศบค.จะมีการพิจารณา แต่สถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น” นายอนุทิน กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook