วงการเพลงในภาวะโควิด-19 วิกฤตศรัทธาที่มาพร้อมโรคระบาด

วงการเพลงในภาวะโควิด-19 วิกฤตศรัทธาที่มาพร้อมโรคระบาด

วงการเพลงในภาวะโควิด-19 วิกฤตศรัทธาที่มาพร้อมโรคระบาด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อคนทุกสาขาอาชีพ หนึ่งในนั้นคือ “วงการดนตรี” ที่นอกจากจะเป็นกลุ่มแรกที่ถูกห้ามดำเนินกิจกรรม และยังต้องเผชิญกับการขาดรายได้ เนื่องจากมาตรการปิดผับบาร์ รวมถึงการห้ามชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งทำให้ทั้งศิลปิน นักดนตรี รวมถึงทีมงานและผู้จัดงานต่างก็ต้องสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาลเป็นระยะเวลานานกว่า 1 ปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดานักร้อง นักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้ใช้เวลาในช่วงที่ว่างเว้นจากการออกงานโชว์ตัว หรือแสดงคอนเสิร์ต ไปกับการสร้างพื้นที่ของตนเองบนโลกโซเชียล โดยการนำเฟซบุ๊กแฟนเพจของวงไปคอมเมนต์เล่นมุกตลกสนุกสนานในเพจอื่นๆ กลายเป็นกระแสสุดฮาและถูกพูดถึงในสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลาย ทว่าเมื่อการเล่นสนุกเริ่มมีมากเกินไป ก็กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามถึงบทบาทของคนดังในวงการเพลงในการเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐบาล ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่ส่งผลกระทบทั้งร่างกาย สุขภาพจิต และความเป็นอยู่ของคนในวงการและประชาชนทั่วไปในที่สุด

วงการดนตรีในวิกฤตโควิด

“บางคนอาจจะมองว่าศิลปินที่เดือดร้อนน่าจะมีเฉพาะกลุ่ม แต่ผมพูดได้ว่ามันมาถึงจุดที่เดือดร้อนทุกกลุ่มแล้ว” คุณสุวาทิน วัฒนวิทูกูร หรือ “บ๋อม” นักจัดรายการวิทยุคลื่น RockOnRadio และอดีตมือกลองวง Potato เริ่มเล่าถึงสถานการณ์ของวงการดนตรีในประเทศไทยในวิกฤตโรคโควิด-19

ในช่วงโควิด-19 ผลกระทบอย่างแรกคือ แสดงสดไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือคนรอบข้างของศิลปินนักดนตรีก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะเด็กวง, ช่างเทคนิค, backstage, คนขนเครื่องดนตรี, คนต่อเวที, sound engineer พวกนี้เขารับเงินเป็นรายครั้ง เพราะฉะนั้นก็เปรียบเสมือนเป็นลูกจ้างรายวัน และยังเป็นอาชีพที่ผมไม่แน่ใจว่ารัฐระบุถูกไหมว่าเขาเป็นอาชีพประเภทไหนในการรับเงินเยียวยา เพราะว่ามันเป็นอาชีพที่ไม่ถูกจัดเป็นประเภทอย่างชัดเจนมาก่อน บางคนนอกจากจะเป็นลูกจ้างรายวันรายครั้งแล้ว ยังมีภาระที่ต้องแบกรับ อย่างคนขับรถตู้ ที่เอาค่าวิ่งรับส่งศิลปินมาจ่ายค่าผ่อนรถ ถ้าเดือนไหนงานน้อย เขาก็จะเดือดร้อน” คุณบ๋อมเล่า

นอกจากจะไม่สามารถแสดงดนตรีสดได้แล้ว บรรยากาศของสังคม ณ ขณะนี้ยังไม่เอื้อให้ศิลปินไทยได้ผลิตผลงานใหม่ๆ ด้วย ซึ่งคุณบ๋อมอธิบายว่า เมื่อศิลปินทำเพลงใหม่ ก็ไม่สามารถออกกองถ่ายมิวสิกวิดีโอเพื่อโปรโมตเพลงได้ อีกทั้งยังไม่สามารถเดินทางไปโปรโมตตามสื่อต่างๆ ได้ ซึ่งเขาเองก็ไม่รู้ว่าภาวะเช่นนี้จะดำเนินไปถึงเมื่อไร

ขณะที่ศิลปินเบอร์ใหญ่ยังคงมีเงินเก็บและอาชีพเสริม กลุ่มที่น่ากังวลยิ่งกว่า คือศิลปินทั่วไปที่มีรายได้จากการเล่นดนตรีเพียงทางเดียว โดยคุณสิงห์ เจ้าของเพจดนตรี “โสตศึกษา” ได้สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับชะตากรรมของศิลปินตัวเล็กๆ เหล่านี้ว่า

“ผมเห็นภาพคนโพสต์ขายเครื่องดนตรี เอาเงินไปซื้อมอเตอร์ไซค์ขับรถส่งอาหารหรือไปทำมาหากินอย่างอื่นหมดแล้ว หลังจากนี้เราจะเห็นว่าคนที่มีเงินเหลืออยู่เท่านั้นถึงจะทำอาชีพนักดนตรีได้ ผมว่ามันเจ็บปวดนะ มันเจ็บปวดตรงที่เราอาจจะอยู่ในประเทศที่ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นหนัง ละคร ซีรีส์ หรือวงการดนตรีตอนนี้มันเห็นชัดเจนแล้วว่ามันอยู่ไม่ได้ เขาไปไม่ไหว ก็ต้องลาก่อน แล้วเราก็มาบ่นว่าวงการดนตรีมันไม่ไปไหน มันบ่นไม่ได้ เพราะว่ากำแพงมันอยู่แค่นี้จริงๆ” คุณสิงห์กล่าว

เหตุใดศิลปินจึงปิดปาก

แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อคนในวงการเพลงทุกระดับอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็น่าแปลกใจที่ศิลปินกลับออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและเรียกร้องการเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรมเพียงไม่กี่คนเท่านั้น คุณบ๋อมให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า ปัจจัยหลักที่เหล่าศิลปินไม่ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ น่าจะมาจากการที่สังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับศิลปินและนักดนตรีในฐานะผู้ที่ขับเคลื่อนสังคม แต่เป็นเพียงกลุ่มคนที่มีหน้าที่สร้างความบันเทิงเท่านั้น

“วิชาดนตรีในบ้านเราจัดอยู่ในกลุ่มวิชาไม่สำคัญ คนที่อยากเล่นดนตรีเป็นอาชีพก็จะถูกมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น ศิลปินเลยคิดว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของเขา และโครงสร้างก็รู้สึกว่ามันมีความชอบธรรมที่จะกดคนเหล่านี้เอาไว้ ถ้าคุณพูดเรื่องอื่นนอกจากเรื่องบันเทิง คุณก็โดนเล่นงาน เราก็เห็นๆ กันอยู่ พอศิลปินจะโดนเล่นงาน มันก็กระทบถึงคนรอบตัวเขา ศิลปินบางคนออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองแล้วสปอนเซอร์ไม่เอา ค่ายไม่เอา ไม่เป็นไร แฟนเพลงฝั่งหนึ่งไม่เอา ไม่เป็นไร แต่ฝั่งที่สนับสนุนเขา แล้วยังไงต่อ เขาจะไปเล่นคอนเสิร์ตที่ไหน ร้านที่ว่าจ้างถูกตามไปกดดัน สปอนเซอร์ของร้านนั้นโดนกดดัน คือมันโดนบีบไปทุกทาง” คุณบ๋อมกล่าว

นอกจากนี้ คุณสิงห์ยังเสริมว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักร้องและนักดนตรีไม่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ คือจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันในหมู่สมาชิกภายในวง ก็ทำให้ศิลปินและนักดนตรีแต่ละคนไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างชัดเจน เพราะหากถูกโจมตีจากฝ่ายที่เห็นต่าง ก็อาจส่งผลต่อหน้าที่การงานและรายได้ของทั้งวงเช่นกัน

วิกฤตศรัทธาจากการเพิกเฉย

เมื่อศิลปินที่มีเสียงดังมากกว่าประชาชนคนทั่วไปกลับเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนทั้งในวงการดนตรีและสังคมภายนอก สิ่งที่ตามมาคือการตั้งคำถามจากแฟนเพลงถึง “น้ำใจ” ของศิลปินที่ตนชื่นชอบและสนับสนุน ซึ่งคุณสิงห์มองว่า หากกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงเหล่านี้ไม่หันมามองความทุกข์ของคนอื่นๆ ก็อาจจะนำไปสู่วิกฤตศรัทธาได้

“มันน่าเศร้าที่ว่า พอถึงเวลานั้น มันสมควรที่เขาจะพูด ด้วยถ้อยคำใดๆ ก็ตามแต่ ดันไม่มี ผมว่ามันทำให้คนฟังเขาเสื่อมศรัทธา ไม่มีคนพูดไม่เท่าไร ดันไปเล่นตลก เล่นสนุกทั้งวันทั้งคืน ผมว่าอันนั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เขารู้สึกว่าคนที่เขาศรัทธามาตลอดกลับไม่มีใครพร้อมจะเป็นกระบอกเสียง เพราะอย่างน้อยๆ เขาพูดได้ แต่ไม่มีใครพูด” คุณสิงห์กล่าว พร้อมระบุว่า “ศิลปินที่ถูกคนฟังเพลงคอมเมนต์โจมตี มักจะเป็นศิลปินที่ไม่ได้อยู่เคียงข้างแฟนคลับ”

“ช่วงเวลาตอนที่โลกมันยังไม่เกิดวิกฤตอย่างนี้ คนที่เปย์ คนที่ช่วยเหลือศิลปินก็คือคนฟังนะ เราอาจจะซื้อตั๋วคอนเสิร์ต เราอาจจะช่วยสนับสนุนเขาเต็มที่ แต่พอถึงเวลาที่เราต้องการใครสักคนมาช่วยเหลือเรา มันกลับไม่มีอย่างนั้น ผมว่าวิกฤตศรัทธานี้มันทำให้คนฟังเพลงค่อนข้างรู้สึกเหมือนอกหักน่ะ” คุณสิงห์กล่าวในมุมของแฟนเพลง รวมทั้งแสดงความกังวลว่า การที่ศิลปินละเลยจิตใจของแฟนคลับ อาจจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับแฟนเพลงค่อยๆ ห่างกันออกไปก็เป็นได้

พูดมากไม่ได้ พูดแค่ไหนถึงจะพอ

เมื่อศิลปินมีราคาที่ต้องจ่ายมหาศาลจากการแสดงความเห็นทางการเมือง เพดานที่ต่ำที่สุดที่ศิลปินและนักดนตรีจะสามารถเป็นกระบอกเสียงให้แฟนเพลงได้อย่างปลอดภัยคือแค่ไหน คุณสิงห์ตอบว่า

“ง่ายสุดก็คือ ศิลปินต้องอยู่ข้างประชาชน ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่าคนฟังเพลงเข้าใจในบริบทของสังคมแหละว่า พูดไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ผมเลยมองว่าแฟนเพลงเขาเข้าใจในจุดที่ศิลปินพูดได้ไม่เต็มปาก แต่คุณต้องหันกลับมามองแฟนคลับคุณด้วยนะว่าเขาเจ็บปวดอะไรอยู่ แค่ศิลปินแสดงความห่วงใยผ่านสเตตัสหรืออะไรก็ได้ที่ทำให้แฟนเพลงรู้สึกว่ามันมีหัวจิตหัวใจ การเยียวยาหัวใจมันไม่ต้องใช้เงินน่ะ เรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องที่มนุษย์แสดงออกกับมนุษย์ มันไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองซ้ายขวาอะไรเลย” คุณสิงห์กล่าว

ส่วนคุณบ๋อมมองว่า ศิลปินสามารถแสดงความคิดเห็นหรือเรียกร้องได้ใน 3 ประเด็น ได้แก่ สันติภาพ ปากท้อง และสิ่งแวดล้อม

ผมคิดว่าไม่มีอะไรในโลกนี้สำคัญไปกว่าสันติภาพ ปากท้อง และสิ่งแวดล้อม 3 สิ่งนี้ต้องมาก่อน สันติภาพคือ เมื่อเกิดความรุนแรง ความรุนแรงผิดเสมอ ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาใดๆ ต่อให้คนที่ไม่ถูกต้องที่สุดในสังคม สิ่งที่เขาควรจะโดนไม่ใช่ความรุนแรง แต่ควรจะถูกตัดสินด้วยเครื่องมือทางสังคมที่เรากำหนดร่วมกัน เช่น กฎหมาย เรื่องปากท้อง ความอดอยาก ที่อยู่อาศัย สวัสดิภาพความเป็นอยู่ของคน ภัยพิบัติต่างๆ และเรื่องสิ่งแวดล้อม อย่าง PM2.5 ที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่คนไม่ควรนิ่งเฉย” คุณบ๋อมอธิบาย พร้อมเสริมว่า

“ศิลปินมักจะมองว่าการออกมา call out อาจจะเกิดอันตรายกับเขา เขาก็เลยเลือกที่จะอยู่เฉยๆ ผมเลยอยากจะฝากคำถามกลับไปว่า ถ้าคุณแค่อยากจะลุกขึ้นมาพูดในสิ่งที่คุณคิดว่ามันไม่ถูกต้อง แล้วคุณรู้สึกไม่ปลอดภัยขนาดนี้ มันคือบรรยากาศของสังคมที่ปกติหรือเปล่า แล้วคุณจะอยู่กับบรรยากาศแบบนี้ไปอีกนานเท่าไร”

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ปัณฑพล ประสารราชกิจ หรือ "โอม" นักร้องนำจากวงร็อกชื่อดังอย่าง Cocktail ได้เชิญชวนคนในวงการดนตรีมารวมตัวกันเพื่อประชุมหารือเกี่ยวกับการเยียวยาและแก้ปัญหาในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งแต่งเพลงพิเศษที่มีชื่อว่า "เหนื่อย" เพื่อให้กำลังใจแฟนเพลง และได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากคนฟังเพลงไม่น้อย

ทำไมศิลปินต้อง call out

แต่ไม่ว่าศิลปินจะแสดงจุดยืนอย่างไร ทั้งคุณบ๋อมและคุณสิงห์ก็เห็นตรงกันว่า “ศิลปินไม่ควรนิ่งดูดายกับปัญหาที่เกิดขึ้น” เพราะศิลปินและนักดนตรีต่างก็อยู่ในจุดที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

“การสื่อสารใดๆ มันมีฟีดแบ็กกลับมาเสมอ และการไม่สื่อสารก็คือการสื่อสารชนิดหนึ่ง สมมติว่าคุณ call out จะ call out ฝั่งขวาหรือซ้ายก็ได้ เพราะนั่นมันคือความเห็นของคุณ แล้วคนเห็น แต่ถ้าคุณไม่ call out สิ่งที่คนมองเห็นก็คือ นั่นเป็นการแสดงออกว่าคุณอาจจะเพิกเฉย ถ้าคนฝั่งซ้ายมอง จะสงสัยว่าคุณอยู่ขวา ถ้าคนฝั่งขวามอง จะสงสัยว่าคุณอยู่ซ้าย เขาสามารถตีความอย่างไรก็ได้จากการไม่ call out ของคุณ เพราะฉะนั้น การนิ่งเฉยมันก็มีราคาที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว ถ้าคุณไม่นิ่งเฉย คุณสามารถเลือกได้ตั้งแต่แรกว่าคุณกำลังจะเจอกับอะไร แต่ถ้าคุณนิ่งเฉย คุณจะไม่รู้ว่าจะต้องเจอกับอะไร และเมื่อไรด้วย” คุณบ๋อมกล่าว

นอกจากนี้ คุณบ๋อมยังแสดงความเห็นว่า ขณะนี้สังคมไทยอาจจะเดินมาถึงยุคเปลี่ยนผ่านของคุณค่าทางสังคมบางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป การแสดงความเห็นเรื่องการเมืองสามารถทำได้ง่ายขึ้น และแม้ว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนผ่าน มักจะเกิดแรงกระแทกเสมอ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับและปรับตัวตามโลกที่เปลี่ยนไป

ด้านคุณสิงห์ก็มองว่า ทุกวันนี้คนในสังคม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้อย่างแพร่หลายมากขึ้นว่าในอดีต และแฟนเพลงก็ควรสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ที่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างตรงไปตรงมา ให้มีพลังมากพอที่จะเป็นกระบอกเสียงให้กับคนในสังคมได้ในที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook