กรรชัยถาม อนุทินตอบ หาก 120 วัน เปิดประเทศไม่ได้ ลาออกหรือไม่-ถูกนายกฯ ยึดอำนาจ?

กรรชัยถาม อนุทินตอบ หาก 120 วัน เปิดประเทศไม่ได้ ลาออกหรือไม่-ถูกนายกฯ ยึดอำนาจ?

กรรชัยถาม อนุทินตอบ หาก 120 วัน เปิดประเทศไม่ได้ ลาออกหรือไม่-ถูกนายกฯ ยึดอำนาจ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรณีที่ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ออกแถลงการณ์ ตั้งเป้าประเทศไทยต้อง  เปิดประเทศ ภายใน 120 วัน หวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจจากพิษโควิด – 19 จนทำให้เกิดคำถามว่าจะเป็นไปได้หรือเปล่า รวมทั้งสาธารณสุขพร้อมหรือยัง หากมีคนติดโควิดมากขึ้น ใครจะรับผิดชอบ และหาก 120 วันข้างหน้าทำไม่ได้ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. กระทรวงสาธารณสุข ต้องลาออกหรือเปล่า รวมถึงใครเป็นคนบริหารวัคซีนในตอนนี้กันแน่

รายการโหนกระแสวันที่ 18 มิ.ย. 64 “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ “อนุทิน ชาญวีรกูล” ทุกประเด็นร้อน

ขอถามเรื่องวัคซีน ล่าสุดมีประเด็นออกมา วัคซีนหายไป เหมือนแต่ละส่วนทำงานแล้วไม่มีการประสานกัน เช่นฉีดได้ 2 วันแล้วหายไปอีกแล้ว แล้วมีการออกมาโยนลูกกัน ตกลงการบริหารวัคซีน ใครกันแน่ที่เป็นคนบริหาร สาธารณสุขโดยคุณอนุทิน นายกรัฐมนตรี หรือกทม.?

“ตอบคำถามสำคัญก่อน วัคซีนหายไม่ได้ วัคซีนมีครบทุกขวด ไม่หายแม้แต่ขวดเดียว ในเรื่องของการจัดสรรวัคซีนไปในแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุขก็รับข้อมูล รับคำส่งจากศบค. ให้จัดการส่งไปในกรุงเทพฯ ในต่างจังหวัดทุกจังหวัด เพราะฉะนั้นเมื่อวัคซีนไปถึง ส่วนราชการแต่ละจังหวัดแล้ว หรือกทม.แล้ว ในแต่ละพื้นที่เขาก็จะมีการบริหารจัดการวัคซีนกันไป กระทรวงสาธารณสุขก็มีหน้าที่ส่งวัคซีนไปให้ถึงปลายทางให้เร็วที่สุดตามที่ได้รับการสั่งให้ส่งไป”

ก่อนหน้านี้รัฐบาลหรือสาธารณสุขได้มีการประกาศออกมาเรื่องกระจายฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หลังจากนั้นมีการส่งไปให้ส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเอกชนหรือภาครัฐเอง หรือรพ.ต่างๆ ก่อนหน้านี้มีรพ.นมะรักษ์ ได้มีการออกประกาศว่ามีการเลื่อนฉีดวัคซีน ถ้ามีเหตุขัดข้องต้องการสอบถามข้อมูลหรือสงสัยทำไมถึงเลื่อน โน่น โทรถามท่านรัฐมนตรีเอง หรือทางสาธารณสุขเอง เรื่องนี้ท่านมองยังไง?

“ต้องบอกว่าเป็นการผิดพลาดทางการสื่อสาร ทางท่านที่เป็นผู้บริหารรพ.ที่ว่าอาจจะใจร้อนไปนิดนึง เพราะรพ.นมะรักษ์ เป็นรพ.ที่มาขึ้นทะเบียนเป็นรพ.ฉีดวัคซีนกับกทม. ถ้ามีปัญหา เขาควรรีบโทรไปหาผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ หรือผู้อำนวยการสำนักอนามัยกทม. เพื่อแก้ไขปัญหา กทม.มีจุดฉีดวัคซีนถึง 128 แห่ง อย่างน้อยการเกิดความติดขัดมันเกิดขึ้นได้ แล้วแอปฯ ปีที่แล้วเป็นแอปฯ  ที่บอกว่าคนถูกเทคือบรรดาคนมาลงทะเบียนหมอพร้อมไว้แล้ว ในเมื่อมีการเปลี่ยนการโอนผู้ลงทะเบียนหมอพร้อมมาที่กทม. ตามนโยบายของรัฐบาลหรือศบค. ก็อาจมีการติดขัดเกิดขึ้นได้บ้าง มันไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่โตมโหฬารอะไร สุดท้ายปัญหานี้ถูกแก้ในเวลาไม่เกิน 24 ชม. การฉีดวัคซีนเพิ่งฉีดสัปดาห์แรก เราต้องทำการฉีดให้คนถึง 50 กว่าล้านคน ปัญหาปลีกย่อยแบบนี้ เนื่องจากเรามีโซเชียลมีเดียที่เข้มแข็ง กระจายข่าวได้เยอะ มันก็เลยทำให้เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ทั้งที่ตัวเนื้อปัญหาไม่ได้ใหญ่โตขนาดนั้นเลย”

 เห็นว่าท่านจะไปฟ้องด้วย?

“ผมจะไปฟ้องใคร จะไปทำไม (หัวเราะ) ของแค่นี้จะไปฟ้อง ไม่มีครับ คาใจนิดนึงจะฟ้องใคร”

 เหมือนท่านผอ. ลงบอกว่ามีคนโทรศัพท์มาบอกว่าถ้าไม่คุยกันจะฟ้อง คนเลยมองว่าท่านจะไปฟ้องหรือเปล่า?

“(หัวเราะ) ผมไม่คิดจะฟ้องใครอยู่แล้วผมเป็นผู้แทนนราษฎร ถ้าทำอะไรที่อยู่ในเนื้องานก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าใครมาสบประมาทหรือเอาข้อที่ไม่ใช่เรื่องจริงมาใส่ร้าย อันนี้อีกเรื่องนึง”

เรื่องการสื่อสาร ก่อนหน้านี้ที่มีประเด็นเกิดขึ้นระหว่างสาธารณสุขและกทม. ที่มีการโยนลูกกันว่าออกไปแล้วจำนวนเท่านี้ ไปถามกทม. กทม.บอกไปถามศบค. วนเป็นลูป ประชาชนอยากทราบว่าการสื่อสารของภาครัฐในหน่วยงานต่างๆ จะแก้ไขยังไง?

“จริงๆ ไม่วนเป็นลูปอยู่แล้ว ตอนนี้การแถลงข่าวเกิดขึ้นที่ศบค. สังเกตไหมสมัยก่อน การแถลงข่าวเกิดที่สาธารณสุข เราก็ตกลงกับศบค. ว่าเพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็ให้ศบค. เป็นคนแถลงข่าว หมอทวีศิลป์ที่แถลงข่าวก็แถลงในนามศบค. ทั้งหมดต้องไปรวมศูนย์อยู่ที่นั่น ข้อสั่งการหรือนโยบายต่างๆ ต้องถูกกำหนดไปที่ศบค. และศบค.ก็กระจายลงมา กทม.ก็ดี กระทรวงมหาดไทยก็ดี  กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข ตอนนี้คือผู้ปฏิบัติตามนโยบายของศบค. การถ่ายทอดคำสั่งก็เป็นคำสั่งของนายกฯ ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินอยู่แล้ว

ตอนนี้การบริหารสถานการณ์โควิดจริงๆ ขึ้นอยู่กับนายกฯ หรือสาธารณสุขกันแน่?

“ขึ้นอยู่กับศบค. โดยท่านนายกรัฐมนตรี สาธารณสุขเป็นผู้ปฏิบัติตามศบค. แต่ผมรัฐมนตรีหลายท่าน รองนายกฯ หลายท่านอยู่ในบอร์ด มันก็คือการทำงานรวมกัน การอนุมัติ การหารือทั้งหมดร่วมกัน ก่อนออกมาเป็นแผนปฏิบัติ”

ข่าวลือที่บอกว่าท่านโดนยึดอำนาจนี่ไม่จริง?

“ก็พูดกันไป แล้วผมจะไปแก้ตัวอะไร”

เคยได้ยินไหมที่บอกว่าโดนนายกฯ ยึดอำนาจ ไม่ให้ดูแล้ว?

“เดี๋ยวโชว์ไลน์ให้ดูเลย ท่านนายกฯ สั่งผมไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยออเดอร์ หมุนไลน์จะหาข้อมูลอะไรสักอย่าง ว่าท่านสั่งอะไรมา ต้องปั่นกันจนนิ้วล็อก นี่เป็นการพูดของคนที่ไม่รู้เรื่อง การพูดของผู้ที่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง เพื่อไม่ให้มีความสงบทางการเมืองอะไรก็แล้วแต่ แต่ท่านนายกฯ ก็ดี ตัวผมก็ดี มาถึงขนาดนี้แล้ว ถ้าเรื่องแค่นี้ทำให้หวั่นไหว ก็คงไม่มีวันนี้

มุมวัคซีน ประเทศไทยเรามีโรงงานทำวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า แต่ทำไมยังออกมาไม่เพียงพอ แต่ละล็อตเหมือนไปถูกบล็อกตรงไหน?

“ผมว่าเขาทำตามข้อตกลงที่มีกับกรมควบคุมโรคและสาธารณสุข ผู้ผลิตวัคซีนทุกยี่ห้อที่ใช้อยู่ในประเทศ ตอนนี้หลัก ๆ มีแอสตร้าเซนเนก้า เขาบอกว่าเดือนมิ.ย.จะเริ่มส่ง เขาก็ส่งตั้งแต่ 2 มิ.ย. เขาบอกเดือนนี้จะส่ง 6 ล้านโดส ครึ่งเดือนก็ส่งมาแล้ว 3.8 ล้านโดส ก็เกินครึ่งตามที่เขาบอก เหลืออีกแค่ 2 สัปดาห์เขาก็ต้องส่งตามที่เขากำหนดเอาไว้”

กำลังผลิตเยอะของเราสามารถผลิตได้เยอะขนาดไหนในแต่ละล็อต?

“กำลังผลิตผมไม่ทราบ ต้องไปถามแอสตร้าเซนเนก้า กระทรวงสาธารณสุข หรือรัฐบาลไทยคือผู้ซื้อ เขาจะเอามาจากโรงงานในประเทศไทยก็ได้ ถ้าโรงงานในประเทศไทยเกิดปัญหา ช็อต ส่งไม่ได้ หรือมีอุปสรรคอะไรขึ้นมา เขาก็ต้องจัดหามาจากที่ไหนก็ได้เพื่อให้ตรงกับจำนวนที่เราได้สั่งซื้อเขาไปคือ 61 ล้านโดส ซึ่งตั้งแต่ต้นเดือนมาถึงปัจจุบันเขาก็ส่งตามกำหนด หรือแจ้งเรามาทุกประการ และไม่มีการขาด ไม่มีการหาย หรือส่งน้อยกว่าที่ตกลงกันไว้เลย นอกจากนี้เรายังมีวัคซีนยี่ห้อซิโนแวค ซึ่งเป็นวัคซีนที่คนบอกไม่ให้ขี่ม้าตัวเดียว นี่ไงเราก็ไม่ได้ขี่ม้าตัวเดียว ทุกวันนี้มีวัคซีนซิโนแวค เดือนนี้เข้ามาทั้งหมดอีก 3.5 ล้าน ถ้ารวมกับแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งน่าจะส่งได้ 6 ล้าน บวก 3.5 ล้าน มันก็ 9.5 ล้านนะ ทั้งที่เราคาดการณ์ว่าจะฉีดได้ 6.5 ล้านโดส เรื่องการขาดแคลนวัคซีนไม่มีแน่นอน ประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนแต่ละหน่วยแต่ละพื้นที่ก็ทำการคุ้นชิน บางหน่วยสามารถดึงวัคซีนได้มากจำนวน อย่างวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เขาบรรจุมาเป็นขวดใหญ่ สมมติเราคิดว่าหน้าขวดเขียนว่า 10 เข็ม แต่ที่เดินถามพยาบาล เภสัชกร ทุกคนยิ้มและโชว์ใหญ่เลยว่าบางขวดได้ 11 เข็ม บางขวดได้ 12 เข็ม ซึ่งเราไม่ได้ไปบังคับอะไร เวลาเราส่งไปตัดแค่ 10 เข็ม แต่ถ้าเขาฉีดได้ 11-12 เข็มก็เป็นชัยชนะของประเทศไทยและความภาคภูมิใจ”

แล้วมันจะพอโดสนึงเหรอ ถ้าขวดนึงให้ฉีดได้ 10 โดสแล้วอยู่ดีๆ ไปดึงมา?

“คุณหนุ่มถามแบบนี้คนจะสับสนหมด เพราะถามแบบไม่ได้เช็กข้อมูลก่อน ทางการแพทย์ ถ้าเขาบอกว่าให้ 10 โดสต่อขวด เราก็ต้อง 10 โดสต่อขวด แต่นี่มีเอกสารยืนยันจากองค์การอนามัยโลก ว่าเท่าไหร่ก็ได้ แต่ขอให้ 0.5 ซีซีต่อเข็ม สมมติเขาเกิดความผิดพลาด ใส่มาเกินครึ่งนึง ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น แต่ที่สำคัญอยู่ที่เข็ม ถ้าได้ 0.5 ซีซี นั่นคือปริมาตรวัคซีนที่คนๆ นึงควรได้รับ” 

จะเป็นการเข้าใจไปเอง ถ้าไม่ได้เช็กข้อมูลซะก่อน ก็จะไม่ทราบ?

“ต้องเช็กข้อมูลก่อน และมองทุกอย่างในแง่บวก มองความพยายามของคุณพยาบาล ไม่มีการไปบังคับเขานะครับ ถ้าเขาอยาก ด. 10 ขวดแล้วทิ้งก็ทำได้ แต่เขาไม่ทำ เขาดึงต่อ

 ขวดนึงที่มาไม่ได้มาเป๊ะ ต้องเผื่อ?

“เผื่ออยู่แล้ว เห็นไหมเวลาฉีดยา จะมีน้ำออกมาหยดสองหยด เขาก็ต้องเผื่อเอาไว้ เป็นมาตรฐานการผลิตอยู่แล้ว ที่สำคัญคือทุกเข็มต้องได้ 0.5 ซีซี อันนี้สำคัญกว่า

 ที่ถามเพราะเวลาหน้าขวดเขาเขียนไว้ว่า 5 มิลลิลิตร ในขวดต้องทำเผื่อเอาไว้ แต่คนอาจไม่เข้าใจตรงนี้?

“คนที่วิพากษ์วิจารณ์คงไม่เข้าใจ และออกไปเขียนมากมายเมื่อเดือนที่แล้วทำให้ปั่นป่วนว่ากระทรวงสาธารณสุขไปบังคับคุณพยาบาลให้ได้ 12 โดส เป็นการกดดัน เป็นการทำให้มาตรฐานของยาลดน้อยลง ว่ากันไปโน่นเลย แต่กรมควบคุมโรค สำนักงาน อย. ก็เอาเอกสารที่ยืนยันชัดเจนโดยองค์การอนามัยโลก และเอกสารที่ยืนยันโดยคณะกรรมการวิชาการในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติยืนยันว่าตราบใดที่ได้ 0.5 มิลลิลิตรจากขวดเดียว คุณจะได้กี่เข็มก็เท่านั้น ผมฟังก็ดีใจ ดูดี พอไปลงหน้างาน เดี๋ยวนี้ไม่ต้องถาม ทุกคนโชว์ให้ดู บางขวดได้ 11-12 เขาบอก 0.5 ทุกคน”

ได้ออกมาชี้แจงบ้างไหม?

“ชี้แจงไม่รู้กี่รอบแล้วครับ ผมว่าหน้าที่ของเราคือฉีดให้ 0.5 มิลลิลิตรให้ประชาชนทุกคน ส่วนได้กี่ขวดก็ตามนั้นแหละครับ”

กรณีวัคซีนเราเห็นว่าประกาศว่าเพียงพอ แต่พอถึงเวลาคนไปรอฉีดกันเยอะ มีอยู่ที่นึงคนได้ฉีดเยอะกว่าที่อื่นคือบุรีรัมย์ อยากเรียนถามว่าประเด็นที่เกิดขึ้นอะไรยังไงกันแน่?

“ในแต่ละจังหวัด ผู้บริหารการฉีดวัคซีนคือผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับแพทย์สาธารณสุขจังหวัด การแบ่งวัคซีนต้องเป็นข้อตกลง ที่ศบค. เขามีสูตรกระจายวัคซีนอยู่แล้ว หารจังหวัดเท่ากัน เทียบอัตราส่วนแล้วเอาปัจจัยเสี่ยงเข้าไป บุรีรัมย์นี่ถ้าเทียบกับจังหวัดอื่นน้อยมาก เพิ่งฉีดไปแสนกว่าเข็มเอง มีประชากรล้านสี่ล้านห้า เทียบกับภูเก็ตฉีดไปแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับกรุงเทพฯ ฉีดไปแล้ว 2-3 ล้านคน บุรีรัมย์เพิ่งแสนเศษๆ ดูแล้วไม่ได้มีอะไรที่เด่นกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่น ไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไรทั้งสิ้น การจัดการวัคซีนก็ส่งไปตามข้อตกลงทุกจังหวัด”

เขาลือว่าคุณอนุทินเทวัคซีนลงบุรีรัมย์หมดเลย?

“โห ถ้าผมทำได้ก็ต้องมากกว่านี้สิ เทแค่นี้จะเททำไม ยังไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเลย ผมไม่ทำหรอกครับ คุณหนุ่ม ผมแยกออก ผมเป็นส.ส.บุรีรัมย์ บุรีรัมย์ มี ส.ส.พรรคภูมิใจไทยยกจังหวัด มีรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ 3 คน ยังได้แค่นี้เอง แล้วได้ตามอัตราส่วนที่ไม่ได้เหนือกว่าจังหวัดอื่นใด ถ้าเทียบเหตุผลทุกๆ อย่าง แล้วตัวผมเองเป็นรมว.สาธารณสุขขืนไปใส่บุรีรัมย์เยอะแยะ ผมคิดว่าอันนี้จะหนักกว่าปัญหาอื่นๆ  ที่ผมเจอมา อันนี้ผมทราบอยู่แล้ว ไม่มีอะไรที่แตกต่างไปจากที่อื่น ขนาดใส่ไปแค่นี้ก็ยังจะเป็นประเด็นเอา ส่วนใหญ่เขาลือว่าอย่างโน้นอย่างนี้  ทุกวันนี้เสียงลือถ้าไม่เป็นไปตามความเป็นจริง พวกผมก็ไม่ได้ใส่ใจอะไร ถ้าขืนมานั่งฟังเสียงลือ คนที่ไม่หวังดี ทำให้เกิดความกดดันหรือไม่เข้าใจกับคนที่ทำงาน เราจะเสียเวลาไปกับการแก้ข่าวพวกนี้ แทนที่จะเอาเวลาไปทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ วันนี้เราก็ชินกับการเพิกเฉยต่อเสียงด่าว่าหรือเอาข้อมูลเท็จมา ทำไปก็เหนื่อยเปล่า เราไม่ใส่ใจตรงนั้น เรามีแนวทางปฏิบัติของเราอยู่แล้ว ถ้าปลัด ศบค. นายกฯ ทุกฝ่ายเห็นด้วยผมก็ไปแล้ว ไม่ฟังอย่างอื่น”

มีคำถามนึงที่จำเป็นต้องถาม หลายคนพูดว่าผู้นำสาธารณสุขไม่ได้เป็นหมอหรือมีความรู้ทางการแพทย์ พอมาเป็นผู้อาจมีการบริหารงานที่ผิดพลาด มองยังไง?

“ในอดีตที่ผ่านมา สมมติมี 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่เป็นหมอ 85 เปอร์เซ็นต์นะในกระทรวงสาธารณสุข คนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในยุคที่เราเติบโตกันแล้ว จำความได้ เป็นนายกฯ ไปสองคน หนึ่งท่านชวน หลีกภัย สองท่านชาติชาย ชุณหะวัณ และยังมีอีกหลายท่าน ไม่ได้หมายความว่าคนไม่ได้เป็นหมอจะบริหารกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นะ มีอาจารย์แพทย์หลายท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทุกวันนี้ระบบพื้นฐาน รากฐานระบบสาธารณสุขประเทศไทยถึงเข้มแข็ง เราไม่ได้ไปดูว่าใครเป็นหมอหรือไม่เป็นหมอ เพราะคนมาเป็นรัฐมนตรีคือผู้เข้ามาบริหาร ไม่ได้เข้ามาตรวจคนไข้ ถ้ารัฐมนตรีสาธารณสุขเข้ากับสาธารณสุขซึ่งส่วนใหญ่เป็นแพทย์ได้ เราก็นำข้อเสนอแนะที่ดีๆ นโยบายดีๆ สิ่งต่างๆ นำเข้าไปหางบประมาณให้ นำเข้าครม.อย่างด่วน บรรจุข้าราชการให้ 4 หมื่นกว่าคน”

จะบอกว่าเป็นงานนโยบาย?

“เป็นงานบริหาร”

ไม่ได้มองว่าจำเป็นต้องรู้เรื่องการแพทย์ถึงมาบริหารสาธารณสุข?

“ผมมองว่ามันมีหลายมิติอยู่ หนึ่งเป็นผู้บริหาร ความรู้ประสบการณ์ก็มี ตามสูตรในทางการเมือง ตามข้อตกลงของรัฐบาล  มีหลายมิติรวมอยู่ด้วย”

นายกฯ ออกมาประกาศ 120 วันข้างหน้าจะเปิดประเทศ มันเป็นบททดลองของสาธารณสุขอย่างท่านอนุทินหรือเปล่า ถ้าทำไม่ได้จะมีผลพวงถึงไหม จะลาออกไหม หรือจะยังไงต่อไป?

“ผมว่าทุกอย่างต้องมีการกำหนดเป้าหมาย ผมว่าการที่ท่านนายกฯ ประกาศว่าจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน นั่นคือเป้าหมาย ที่ท่านพยายามจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนได้ไปในทิศทางเดียวกัน ทุกวันนี้การแพร่ระบาดของโรค ถึงแม้เห็นว่ามี 2-3 พันคน แต่มันอยู่ในกลุ่มก้อน จำนวนมากเลยทีเดียว อยู่ในเรือนจำ แคมป์คนงาน โรงงานทั่วไป แต่เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน  ตอนนี้ติดแบบสะเก็ดไฟไม่มี มีแต่ติดเป็นคลัสเตอร์ เป็นกลุ่มเป็นก้อน ทางระดับผู้กำหนดนโยบายมองว่าถ้าเป็นแบบนี้อยู่และเป็นมา 2 เดือนแล้ว มันก็น่าจะถือว่าเราควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้ คนติดเชื้อโควิดอยู่ในหลักเกณฑ์ คือมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีอาการ และมีอาการอยู่ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ อาการหนัก 5 เปอร์เซ็นต์ อาการปานกลาง 10 เปอร์เซ็นต์ ก็อยู่ในกลุ่มก้อนที่เราจะสามารถให้การดูแล ถ้าบอกว่าประเทศไทยสาธารณสุขไม่ดี ไม่ทำงาน ทำไม่ดี ทำไมประเทศไทยเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่คนติดโควิดถึงมือหมอถึงยาทุกคน วันนี้รพ.มีเตียงรองรับผู้ป่วยหนักได้อยู่ เรามีระบบถึงขนาดว่าผู้ติดเชื้อทุกคน ไม่มีใครอยู่บ้านนะ ได้อยู่ฮอสพิเทลก็มีถ้าไม่ใช่คนถือสัญชาติไทยเป็นแรงงานต่างด้าว ถ้ามีอาการหนักขึ้นมาก็มีรพ.สนาม ขนาด 2 พันเตียง ที่เรียกว่ารพ.บุษราคัม มีหมอ มีพยาบาลอยู่ตรงนั้น เราบริหารจัดการทุกอย่างเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าระบบสาธารณสุขเรายังทำงานได้ดีอยู่”

ถ้า 120 วันข้างหน้าทำไม่ได้อย่างนายกฯ พูด ลาออกไหม?

“ต้องดูปัจจัย ไม่ใช่ความผิดของใคร ทุกคนมีความหวังดีต่อบ้านเมือง นายกฯ ห่วงคนติดโควิดก็ห่วง เรื่องการระบาดก็ห่วง แต่ก็ห่วงคนทำมาหากินด้วย เราจำเป็นต้องกำหนดอะไรขึ้นมา การกำหนด 120 วันก็มีข้อกำหนดอยู่ว่าจะมีมาตรฐานอะไรถึงไปถึงจุดนั้นได้”

ไม่ไปตกอย่างที่ท่านเสรีพิสุทธิ์บอกเหรอว่าคุณยังจะไปเชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชาอีกเหรอ?

“ท่านก็ทำงานทุกวันนะ” 

ถ้าไม่ได้อย่างนั้นจะไม่ไปเข้าล็อกทางโน้นเหรอ?

“ถ้าตั้งมาตรฐานแบบนี้ ทุกคนก็บอกว่างั้นอยู่ไปวันๆ ไม่ต้องไปตั้งกฎอะไร ปิดทุกอย่างให้หมดเลย เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อที่ไหนอีก ทำได้ไหมล่ะ ทำไม่ได้ ทุกอย่างต้องควบคู่ไปด้วยกัน การติดเชื้อเรามีเราก็ต้องไปประเมินว่าเป็นยังไง  ถ้ายังมีการติดเชื้อระหว่างเราจะเปิดประเทศด้วย เราจะประคับประคองสถานการณ์อย่างไร สิ่งที่เราทำไปมองเป็นมิติเดียว จุดเดียวไม่ได้ ต้องมองหลายๆ จุด ความพร้อมระบบสาธารณสุขมีไหม สมมตินายกฯ บอกเปิด 120 วัน ถึงวันที่ 120 เปิดตู้ม เกิดมีอะไรขึ้นมา กระทรวงสาธารณสุขบอกว่าไม่มีเตียงรักษาครับ ช่วงนี้ผมลืมซื้อยาไว้เลย เห็นว่าไม่ติดกระจายแล้วเลยใช้ยาเมื่อ 6 เดือนก่อน วัคซีนก็ไม่ได้ซื้อยาไว้เลย เห็นว่าผู้คนฉีดมากพอสมควรเลยไม่ซื้อ แบบนี้ออกแน่นอน ไม่ออกก็ต้องถูกเตะออก แต่ถ้าทำทุกอย่างตามที่กำหนดไว้แล้ว มาตรฐานระเบียบมาแล้ว แล้วยังเปิดไม่ได้ ถ้าเปิดไม่ได้ก็ไม่ใช่ความผิด เพราะทุกอย่างทำตามมาตรฐานหมดแล้ว” 

วัคซีนฉีดไปเท่าไหร่แล้ว?

“รวมทั้งหมดก็น่าจะประมาณ 7.5 ล้าน คาดว่าสิ้นเดือนเกิน 10 ล้าน”

ไม่ถึงครึ่งเลยนะท่าน?

“เราเพิ่งเปิดมา 2 อาทิตย์เองนะ เราก็ตั้งกำหนดไว้ชัดเจนว่าการฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือนมิ.ย. ไปจนถึงสิ้นปี วันนี้วัคซีนเราก็มีครบแล้ว ท่านนายกฯ บอกแล้วว่าเราหาได้แล้ว 100 ล้านโดส เราก็ซีเคียวไว้แล้ว 105 ล้านโดส วันนี้เพิ่งออกมาจากที่ประชุมศบค. กรมควบคุมโรคก็ขอวัคซีนเพิ่มอีก 50 ล้านโดส เพื่อให้มีสัก 150 ล้านโดส ทุกอย่างก็เป็นไปตามภาระหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน”

ระยะห่าง เป็นผู้ประกาศมีฉากกั้น ต้องถอดหน้ากากอนามัยไหม?

“ฉีดวัคซีน 2 โดสแล้ว แต่วัคซีนมี 3 ปัจจัย ลดอัตราป่วยหนัก ติดเชื้อ ไม่ป่วยหนัก ไม่ตาย แต่ไม่ได้บอกว่าจะไม่ติดเชื้อ ตราบใดที่ยังมีโควิดอยู่ก็ใส่ไปเพื่อตัวเราเอง”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook