สกอตแลนด์ อาณาจักรทางเหนือเกาะบริเตน ที่อาจเลือกเอกราชของตัวเองอีกครั้ง

สกอตแลนด์ อาณาจักรทางเหนือเกาะบริเตน ที่อาจเลือกเอกราชของตัวเองอีกครั้ง

สกอตแลนด์ อาณาจักรทางเหนือเกาะบริเตน ที่อาจเลือกเอกราชของตัวเองอีกครั้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สกอตแลนด์ เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร (ประเทศอังกฤษ) โดยครอบคลุมพื้นที่หนึ่งในสามทางตอนเหนือของเกาะบริเตนใหญ่ มีพรมแดนร่วมกับประเทศอังกฤษทางทิศใต้ ส่วนที่เหลือล้อมรอบด้วยมหาสมุทรแอตแลนติก นอกเหนือจากแผ่นดินใหญ่แล้ว ประเทศสกอตแลนด์ยังมีเกาะอีกกว่า 790 เกาะ

นอกจากนี้น่านน้ำสกอตแลนด์ประกอบด้วยทะเลแอตแลนติกเหนือและทะเลเหนือ ซึ่งมีปริมาณน้ำมันสำรองใหญ่สุดในสหภาพยุโรป ทำให้เมืองแอเบอร์ดีน นครใหญ่สุดอันดับสามในสกอตแลนด์ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงน้ำมันของทวีปยุโรป

FrankRamspott / iStock by Getty Images

สกอตแลนด์มีประชากรประมาณ 5,463,300 คนนับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอิงแลนด์ (อังกฤษ) ซึ่งมีประชากรถึง 56,286,961 คน แบบว่าสกอตแลนด์นั้นมีประชากรน้อยกว่าอิงแลนด์ร่วม 10 เท่า จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อรบกันทีไรอิงแลนด์ก็มักจะได้รับชัยชนะอยู่เสมอ

ต้องเข้าใจนะครับว่า ชาวสกอตเป็นคนอีกชาติหนึ่งต่างไปจากชาวอังกฤษโดยมีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเองต่างหากจากชาวอังกฤษและไม่ค่อยถูกกันเท่าไรนัก

ราชอาณาจักรสกอตแลนด์เป็นประเทศอิสระที่ไม่ขึ้นกับประเทศอังกฤษจนถึงปี 2146 (ตรงกับสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของไทยเรา) เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสกอตแลนด์ครองบัลลังก์อังกฤษโดยทรงใช้พระนามว่า พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษเนื่องจากพระองค์เป็นพระปนัดดาของพระนางเอลิซาเบธที่ 1 ผู้สวรรคตโดยไม่มีรัชทายาทจึงมีผลให้ทั้งสองประเทศมีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวกัน เรียกว่า การรวมราชบัลลังก์ (Union of the Crowns)

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลของทั้งสองยังคงแยกจากกันอยู่จนกระทั่งในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีแอนน์ อังกฤษและสกอตแลนด์ได้รวมตัวกันด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ ตามพระราชบัญญัติสหภาพ พ.ศ. 2250 (ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือของไทย) มีผลให้รวมเข้ากับราชอาณาจักรอังกฤษและกลายเป็นราชอาณาจักรบริเตนใหญ่

ระบบกฎหมายของสกอตแลนด์ยังแยกจากระบบกฎหมายของอังกฤษ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ โดยสกอตแลนด์อยู่ในเขตอำนาจศาลของตัวเองต่างหาก ทั้งในทางกฎหมายมหาชนและเอกชน การคงไว้ซึ่งสถาบันกฎหมาย, การศึกษา, และศาสนาของตนอย่างเป็นอิสระจากอังกฤษ ส่งผลให้วัฒนธรรมสกอตแลนด์และความเป็นชาติของชาวสกอตสามารถคงความต่อเนื่องไว้ได้ แม้ว่าสกอตแลนด์จะถูกรวมเข้าเป็นสราชอาณาจัดรมาตั้งแต่ปี 2250 แล้วก็ตาม

เมื่อปี 2540 มีการผ่านกฎหมายการถ่ายโอนอำนาจ (Devolution) ส่งผลให้มีการจัดตั้งรัฐบาลและรัฐสภาขึ้นต่างหากในสกอตแลนด์เมื่อปี 2542 โดยมีอำนาจเหนือกิจการภายในของสกอตแลนด์เอง จนกระทั่งเดือนพฤษภาคมปี 2554 พรรคชาติสกอตชนะการเลือกตั้งโดยมีเสียงข้างมากในรัฐสภาสกอตแลนด์ ทำให้นำไปสู่การลงประชามติเอกราชสกอตแลนด์ ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2557

Jeff J Mitchell/Getty Images

ผลในครั้งนั้นประชากรสกอตแลนด์ข้างมาก 55.3 % ไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวออเป็นเอกราช ซึ่งทำให้กระแสเรียกร้องเอกราชของสกอตแลนด์สงบลง จนกระทั่งมีการลงประชามติเรื่องสหราชอาณาจักรจะขอแยกตัวออกเป็นเอกเทศจากสหภาพยุโรปหลังจากที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปมานานแบบว่าอังกฤษต้องการเอกราชคืน 100% โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ของสหภาพยุโรปอีกต่อไปเมื่อปี 2559

ทั้งสหราชอาณาจักรได้ลงคะแนนเสียงเห็นด้วยกับการแยกตัวออกเป็นเอกเทศของอังกฤษด้วยคะแนนเสียง 51.9% โดยเสียงส่วนใหญ่ของสกอตแลนด์ลงคะแนนเสียงไม่ต้องการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป ผลของการแยกตัวออกเป็นเอกเทศของอังกฤษ (Brexit) นี้ จึงเป็นหัวข้อสำคัญในการรณรงค์หาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ในสกอตแลนด์ในการเลือกตั้งรัฐสภาของสกอตแลนด์ในวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา คือ สกอตแลนด์ควรจะแยกตัวออเป็นเอกราชแล้วสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปดีกว่าการคงอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร

ปรากฏว่าพรรคชาติสกอตซึ่งเป็นรัฐบาลมาแล้ว 4 สมัยและเป็นพรรคที่มีนโยบายที่ต้องการแยกสกอตแลนด์ออกเป็นประเทศเอกราชจากสหราชอาณาจักรและจะสมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด คือ 64 ที่นั่งในรัฐสภาสกอตแลนด์ที่มีที่นั่ง 129 ที่นั่งโดยยังขาดอีก 1 ที่นั่งจึงจะเป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงข้างมาก แต่ก็ได้พรรคกรีนซึ่งได้ 8 ที่นั่ง สนับสนุนให้สกอตแลนด์แยกตัวออกเป็นเอกราชเพื่อสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปเหมือนกันเข้าร่วมรัฐบาลด้วย

Jeff J Mitchell/Getty Imagesนางนิโคลา สเตอร์เจียน รัฐมนตรีคนที่หนึ่งของสกอตแลนด์

เหตุนี้รัฐมนตรีคนที่หนึ่ง (First Minister) ของสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลของสกอตแลนด์ คือ นางนิโคลา สเตอร์เจียน ประกาศอย่างแข็งขันว่าการลงประชามติครั้งที่ 2 เพื่อให้ชาวสกอตตัดสินใจว่าจะแยกตัวออกเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักรต้องเกิดขึ้นแน่นอนเพียงแต่ต้องใช้เวลาเท่านั้น เนื่องจากการจะลงประชามติดังกล่าวนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลที่กรุงลอนดอนก่อน ซึ่งขณะนี้มีนายบอริส จอห์นสัน เป็นนายกรัฐมนตรี จากพรรคอนุรักษ์นิยม คงไม่ยอมให้มีการลงประชามติครั้งที่ 2 ง่ายๆ แน่นอน

แต่นางนิโคลา สเตอร์เจียน มั่นใจว่าจะต้องมีการลงประชามติครั้งที่ 2 ภายใน 5 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอนคือก่อนที่สมัยการเป็นรัฐบาลของเธอจะสิ้นสุดลงนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook