16 ปีที่รอคอย ไทยเฮ "กลุ่มป่าแก่งกระจาน" ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว

16 ปีที่รอคอย ไทยเฮ "กลุ่มป่าแก่งกระจาน" ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว

16 ปีที่รอคอย ไทยเฮ "กลุ่มป่าแก่งกระจาน" ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก มีมติอนุมัติให้ "กลุ่มป่าแก่งกระจาน" ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว

วันนี้ (26 ก.ค.) เมื่อเวลา 18.35 น. ในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 ซึ่งมีสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเจ้าภาพ โดยจัดประชุมผ่านระบบทางไกล ได้พิจารณาวาระของประเทศไทยในการเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 3 ของไทย หลังจากเลื่อนการพิจารณามาแล้ว 2 ปี

ล่าสุด ที่ประชุมได้มีมติขึ้นทะเบียน “กลุ่มป่าแก่งกระจาน” เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงภายหลังการลงมติว่า นี่เป็นของขวัญสำหรับคนไทยทุกคน และต้องขอบคุณทุกหน่วยงาน รวมถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกฯ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่คอยติดตามประเด็นนี้จนสำเร็จ

ขณะที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความว่า “กลุ่มป่าแก่งกระจาน มรดกโลก มรดกแห่งมวลมนุษยชาติ”

กว่า 16 ปี ที่ประเทศไทยมุ่งมั่น ผลักดันพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2548 และเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก ถึง 3 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2558 พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2562 จนเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 44 ในปี พ.ศ. 2564 และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ด้วยเกณฑ์ข้อที่ 10

ซึ่งนับเป็นความสำเร็จในการดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่ถิ่นที่อยู่อาศัยที่มีความสำคัญสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่นกำเนิด รวมไปถึงการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืช และ/หรือ สัตว์ ที่มีคุณค่าโดดเด่นเชิงวิทยาศาสตร์ หรือ เชิงอนุรักษ์ระดับโลก

พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นแหล่งมรดกโลก แห่งที่ 6 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของไทย นับตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ - ห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ. 2534 และ กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่ ในปี พ.ศ. 2548

พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน อยู่ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 4 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ (4,089 ตารางกิโลเมตร) มีความยาวตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของพื้นที่ มากกว่า 200 กิโลเมตร

พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำภาชี เป็นป่าผืนใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วย เขตสัตวภูมิศาสตร์ ได้แก่ Sundaic, Sino-Himalayan, Indochinese และ Indo-Burmese

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook