“กลุ่มคนดูแลกันเอง” อาสาสมัครที่ไม่ควรเกิดขึ้น หากรัฐรู้หน้าที่ของตัวเอง

“กลุ่มคนดูแลกันเอง” อาสาสมัครที่ไม่ควรเกิดขึ้น หากรัฐรู้หน้าที่ของตัวเอง

“กลุ่มคนดูแลกันเอง” อาสาสมัครที่ไม่ควรเกิดขึ้น หากรัฐรู้หน้าที่ของตัวเอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของผู้ที่ติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังมีผู้คนจำนวนมากที่กำลัง “ตายทั้งเป็น” จากมาตรการของรัฐบาลที่ขาดความรัดกุมและไร้การช่วยเหลือเยียวยาอย่างเหมาะสม หนึ่งในนั้นคือแรงงานหลักแสนคน ที่ต้องถูกขังอยู่หลังรั้วสังกะสี จากมาตรการปิดแคมป์คนงานเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ที่ไม่ได้คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่และความอยู่รอดในฐานะมนุษย์ของคนกลุ่มนี้

เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับผลกระทบกลุ่มอื่นๆ ขณะที่รัฐได้แต่ออกคำสั่งแต่ไม่มีสวัสดิการรองรับใดๆ คนที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มแรงงานกลับเป็นเหล่าอาสาสมัครที่มาจากประชาชนคนธรรมดา ซึ่งรวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มคนดูแลกันเอง”

AFP

เมื่อประชาชนต้องดูแลกันเอง

“กลุ่มคนดูแลกันเอง” เป็นการรวมตัวของคนธรรมดาราว 20 คน ที่ต้องการช่วยเหลือแรงงานในแคมป์ที่ถูกสั่งปิดจากคำสั่งของรัฐบาล โดยให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนโดยไม่ต้องมีเอกสารพิสูจน์ตัวตนใดๆ เพราะพวกเขาเชื่อว่า “ความหิวรอไม่ได้”

คุณลัลนพัทรียา ลัลนสิรวัค หรือ “ลั้ล” หนึ่งในอาสาสมัครของกลุ่มเล่าว่า บทบาทของกลุ่มคนดูแลกันเอง คือการเป็นคนกลางที่ประสานระหว่างแคมป์แรงงานที่ต้องการความช่วยเหลือและผู้ที่บริจาค ซึ่งแตกต่างจากการระดมทุนหรือให้ความช่วยเหลือแคมป์คนงานเองโดยตรงเหมือนอย่างที่หลายคนทำในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ที่ร่วมก่อตั้งกลุ่มเป็นเพียงคนธรรมดา ไม่ได้มีทุนทรัพย์หรือสายป่านที่ยาวพอจะช่วยเหลือผู้อื่นได้เป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตที่ยังไม่เห็นจุดจบเช่นนี้

“หลายๆ คนเป็นคนธรรมดา เป็นพนักงานเงินเดือน เป็นเจ้าของธุรกิจ สตาร์ตอัพ ที่เริ่มทำธุรกิจจากเงินส่วนตัวของตัวเองไม่เท่าไร ไม่ได้เป็นนักธุรกิจหรือนายทุนยิ่งใหญ่เลย ถ้าเราทำอย่างนั้น คงทำครั้งสองครั้งแล้วก็คงจบ อย่างน้อยก็มีภาษีดีหน่อยตรงที่ว่า มีคนรู้จักมากหน่อย มีชื่อเสียงในวงที่กว้างหน่อย ก็อาจจะระดมทุนได้นานขึ้นหน่อย แต่สุดท้ายมันก็ต้องหมดไปอยู่ดี เพราะเราไม่รู้เลยว่าปัญหานี้มันจะจบวันไหนกันแน่” คุณลั้ลกล่าว

noonecares1AFP

นอกจากนี้ คุณลั้ลยังอธิบายว่า กลุ่มคนดูแลกันเองไม่ได้ประสานแค่ระหว่างผู้ให้การช่วยเหลือกับแคมป์แรงงานเท่านั้น แต่ยังทำงานร่วมกับแคมป์แรงงานต่างๆ เพื่อกระจายความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง

“คนในแคมป์ที่ช่วยเหลือกันเองมีเยอะมาก มีตัวแทนการแจ้งประสานงานกับเรา เช่น เราขอให้เขาแจ้งว่าเขาได้ของเท่าไรแล้ว เพื่อที่จะไม่มีกรณีที่ว่าแคมป์นี้มีคนให้เยอะมาก อิ่มอยู่แคมป์เดียว แต่เราขอให้เขาช่วยแจ้งว่า เขามีพอแล้วใน 1 สัปดาห์ และขอแบ่งมาให้กับคนอื่นๆ เพื่อให้สมดุลกันมากที่สุด เขาก็ยินดีทำให้ ทั้งที่เขาไม่บอกเราก็ได้ เขาก็ช่วยเหลือเรา”

อย่างไรก็ตาม คุณลั้ลกล่าวว่า การทำงานของกลุ่มคนดูแลกันเองไม่ใช่ “การทำบุญ” หรือ “การสงเคราะห์” แต่เป็นการส่งต่อความช่วยเหลือจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และทางกลุ่มก็พยายามส่งต่อแนวคิดนี้ไปยังคนอื่นๆ

“เราพยายามที่จะถ่ายทอดทัศนคติให้กับคนในแคมป์ว่า คุณไม่ต้องเจียมเนื้อเจียมตัว บางคนยกมือไหว้เราท่วมหัวเหมือนเราประทานอะไรให้เขาเลย ซึ่งมันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น มันเป็นสิ่งที่เขาควรจะได้ เขาควรจะมีกิน หลายๆ คนบอกว่า ขอบคุณนะคะพี่ พี่ต้องได้บุญเยอะแน่เลย คือเรารู้ว่าเขาพูดด้วยเจตนาที่ดี แต่เราต้องการจะบอกว่า เราไม่ได้ทำเพื่อบุญคุณหรือว่าทำแล้วบอกว่าฉันเป็นคนดี หรือเคลมว่าตัวเองมีคุณค่า แค่อย่างเดียวเลยคือเรารู้ว่าคนหิวเป็นอย่างไร แค่นั้นเลย แล้วเราก็อยากจะทำตรงนี้เพื่อกระจายทัศนคติแบบนี้ให้คนอื่นด้วย”

กลุ่มคนดูแลกันเอง

กลุ่มคนดูแลกันเองเปิดตัวครั้งแรกบนโลกออนไลน์เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม โดยใช้เทคโนโลยีสร้างแผนที่แคมป์แรงงานทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมประกาศหาอาสาสมัครเพื่อลงพื้นที่สำรวจสภาพความเป็นอยู่และความต้องการของแรงงานในแคมป์แต่ละพื้นที่ จากนั้นจึงส่งข้อมูลกลับมายังส่วนกลาง การทำงานของอาสาสมัครกว่า 500 คน ทำให้ทางกลุ่มสามารถสร้างฐานข้อมูลแคมป์แรงงานที่อัพเดตกว่าข้อมูลของกระทรวงแรงงานถึงกว่า 650 แห่ง และยังเป็นข้อมูลที่มีความละเอียดสูงมากอีกด้วย ซึ่งคุณลั้ลเล่าถึงข้อดีของวิธีนี้ว่า

“แกนนำในการทำงานอาสาของเรามีแค่ 20 กว่าคน แต่อาสาสมัครมี 500 กว่าคน เราไม่มีเวลามาสื่อสารอะไรกันมากมาย เราไม่สามารถโฟกัสได้ว่าวันนี้มาจัดยา วันนี้ลงพื้นที่ วันนี้โทรหาแคมป์ และเราไม่สามารถให้เขาเลือกได้โดยเสรีด้วยว่าอยากจะทำอะไร มันก็ต้องมีระบบ คือเรามองว่าวิธีนี้มันง่ายที่สุดในการที่คุณไปพื้นที่ที่ใกล้ที่สุด หรือว่าเลือกมาเลยว่าสะดวกที่ไหน แจ้งข่าวสารเรา หรือถ้าคุณหาผู้บริจาคไม่ได้ บอกเรา เราจะจับคู่ให้ มันใกล้เขา มันง่ายต่อเขา เขาสามารถเลือกวิธีการเองได้”

อย่างไรก็ตาม จากการทำงานในช่วงไม่กี่สัปดาห์ ทำให้ทีมงานมองเห็นถึงปัญหาด้านการสื่อสารกับอาสาสมัคร ดังนั้น กลุ่มคนดูแลกันเองจึงจัดทำเว็บแอปฯ https://noonecaresbangkok.web.app เพื่อจัดระบบการสื่อสารให้เป็นขั้นเป็นตอน และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ให้อาสาสมัครสามารถส่งความช่วยเหลือไปยังแคมป์แรงงานให้เร็วที่สุด ทำให้ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แรงงานหลายชีวิตได้มีอาหารกิน มียาบรรเทาอาการเจ็บป่วย และได้รับกำลังใจจากมนุษย์คนอื่นๆ ผ่านความช่วยเหลือรูปแบบต่างๆ

“เราจะสบายใจก็คือวันนี้แคมป์ไม่แดง มันคือความโล่งใจที่พี่เขาอิ่มแล้ว” คุณลั้ลกล่าวถึงความรู้สึกของตัวเอง

กลุ่มคนดูแลกันเอง

สิ่งที่ได้เห็นและสิ่งที่ไม่เห็น

จากข้อมูลของเพจกลุ่มคนดูแลกันเอง ปัญหาหลักที่พบในแคมป์แรงงานที่ถูกปิด ประกอบด้วย สภาพที่อยู่อาศัยที่ไม่เหมาะสม ขาดแคลนอาหาร ผู้ป่วยไม่ได้รับการดูแล มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งยังมีคนกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กและหญิงมีครรภ์ ขณะเดียวกัน การเข้าถึงข้อมูลของแคมป์แรงงานต่างๆ ยังถูกขัดขวางอีกด้วย ซึ่งข้อความตอนหนึ่งในแถลงการณ์ของกลุ่ม เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ระบุว่า

“จากประสบการณ์ร่วมกันลงพื้นที่ พบว่า รัฐไม่มีความจริงใจในการดูแลผู้ใช้แรงงานเลย แทบไม่มีแคมป์ไหนได้รับความช่วยเหลืออะไรเลย คนติดเชื้อบางแคมป์ต้องนอนบนพื้นปูนในเต็นท์ผ้าใบ หน่วยงานรัฐบางแห่งแจกอาหารเพียงมื้อเดียวต่อวัน ให้กับคนเพียงแค่ครึ่งเดียวในแคมป์ก่อสร้าง บางแห่งไม่แจกเลย บางแห่งไม่ยอมให้ข้อมูลกับอาสาที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือ และยอมให้นายทุนปกปิดสภาพความเป็นอยู่ในแคมป์ ไม่ยอมเปิดเผยจำนวน และที่อยู่ของแคมป์ ไม่ยอมให้แคมป์ที่อยู่ใกล้พื้นที่โรงงานระเบิด อพยพไปในที่ที่ปลอดภัย นอกจากจะไม่ทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว ยังขัดขวางหน่วยงานอื่นที่ต้องการให้ความช่วยเหลืออีกด้วย”

กลุ่มคนดูแลกันเอง

จากปัญหาที่ทีมงานพบ ทำให้หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานประกันสังคม ถูกตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบ โดยในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า

“ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ไม่เคยใช้ได้จริง แรงงานหลายแคมป์ถูกทิ้งให้อยู่เพียงลำพัง มีแม่กุญแจล็อกจากข้างนอก ไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าไปดูแลโดยอ้างว่าไม่มีชื่อพวกเขาอยู่ในระบบ ลักลอบเข้ามา เป็นคนต่างด้าว หากเอาความเป็นมนุษย์มาประเมินแล้ว ไม่มีข้ออ้างใดที่รัฐจะไม่เข้าช่วยเหลือพวกเขาในทันที แต่พวกคุณ ก็ไม่ได้สนใจ “คน” ด้วยกันเลย ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนอื่น”

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มคนดูแลกันเองจึง “ออกคำสั่ง” ถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้คืนความเป็นมนุษย์แก่แรงงานในแคมป์ก่อสร้างที่ถูกรัฐสั่งปิด และให้ทำงานรับผิดชอบผลกระทบอย่างจริงใจ ให้ประชาชนเข้าถึงได้ทันที ไม่ต้องมีขั้นตอน โดยมีข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ได้แก่

1. เงินเยียวยาเข้าถึงได้ทันที
2. ข้าวเยียวยา กินได้ทันที ครบมื้อ
3. ยา อุปกรณ์การรักษา แพทย์ เข้าถึงได้ทันที ทำยังไงก็ได้ให้แรงงานที่ป่วยหาย
4. ข้อมูล เรียบเรียงให้เป็นระบบมากที่สุด และเปิดออกมาให้ประชาชนได้ช่วยกันเยียวยา ไม่มีข้อมูลก็ไม่มีใครช่วยได้
5. ทุกอย่างต้องทำอะไรก็ได้เพื่อเยียวยาประชาชนให้ได้มากที่สุด เข้าถึงได้ทันที เอกสารทำทีหลัง
6. หยุดพูดให้พวกเราดูแลตัวเอง พวกเราทำมามากพอแล้ว นี่ไม่ใช่งานของพวกเรา

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายของแถลงการณ์ มีการระบุด้วยว่า “ถ้านายสุชาติ ชมกลิ่น ไม่ออกมารับคำสั่ง ไม่ออกมาเจรจาหรือแถลงการณ์แก้ไขใดๆ หรือจะด่าซ้ำกลับมา กลุ่มคนดูแลกันเองจะยกระดับการสื่อสารทั้งต่อคุณและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องคนอื่นๆ ต่อไป” ก่อนที่จะลงท้ายแบบ “ฟาดๆ” ว่า “ขอแสดงความนับถือผู้ใช้แรงงานทุกคน (ลงชื่อ) กลุ่มคนดูแลกันเอง ซึ่งไม่เคยต้องเกิดขึ้นเลยตั้งแต่ต้น”

กลุ่มคนดูแลกันเอง

เพราะทุกคนคือแรงงาน

สำหรับเป้าหมายสูงสุดของกลุ่มคนดูแลกันเองนั้น คุณลั้ลกล่าวว่า ทางกลุ่มต้องการที่จะจบการช่วยเหลือให้เร็วที่สุด ซึ่งจะบรรลุเป้าหมายได้ก็ต่อเมื่อรัฐทำหน้าที่ของตัวเอง และกลุ่มนายทุนต้องรู้จักเสียสละในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้

“เราอยากให้เขารู้ว่ามันไม่ใช่หน้าที่ของเราที่ต้องมาดูแลกันเอง เราอยากสู้กับนายทุน ไม่ได้สู้แบบตีกัน ทะเลาะกัน เอาให้ตายนะ แต่อยากสู้ให้เขาเห็นสักทีว่ากำลังในมือเขามีมากพอที่จะทำได้ดีกว่าเราแน่ๆ ถ้าเขาขยับทำ กำลังเราแค่หัวไม้ขีดเรายังจุดไฟได้เลย ตอนนี้คือเราต้องการพลังงานที่มันสูงมาก แค่เขาขยับนิดเดียวเพื่อจุด ทำไมเขาไม่ทำ และถ้าเขาทำ เขาจะเห็นว่าเขาไม่ได้สูญเสียเยอะอะไรเลย” คุณลั้ลกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภารกิจของกลุ่มจะสิ้นสุดลงเมื่อรัฐและนายทุนเข้ามาดูแลแรงงานอย่างเหมาะสม แต่กลุ่มคนดูแลกันเองก็จะยังคงเคลื่อนไหวต่อไปในประเด็นที่ใหญ่ขึ้น นั่นคือ “สวัสดิการแรงงาน” ที่ครอบคลุมคนทุกระดับได้จริง

“การมีรัฐสวัสดิการที่ดีจะทำให้เราไม่กลัวจน เพราะมั่นใจได้ว่ายังเข้าถึงบริการพื้นฐานที่รัฐควรมอบให้กับประชาชนทุกคน และอยากให้รู้ไว้ว่า เราทุกคนคือแรงงาน ตราบใดที่เรายังหยุดทำงานเพื่อหาเงินไม่ได้ เราก็ล้วนอยู่ในสถานะเดียวกัน คือ แรงงาน ต่างแค่สถานที่ทำงานเท่านั้น แรงงานในไซต์ก่อสร้าง แรงงานในออฟฟิศ แรงงานหน้าคอมพิวเตอร์ แรงงานในสถานที่ราชการ ทุกคนคือแรงงาน” ใจความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook