กทม. สั่งปิดสถานที่ถึง 31 ส.ค. ไฟเขียว "ร้านอาหารในห้าง" ขายเดลิเวอรี่ถึง 2 ทุ่ม

กทม. สั่งปิดสถานที่ถึง 31 ส.ค. ไฟเขียว "ร้านอาหารในห้าง" ขายเดลิเวอรี่ถึง 2 ทุ่ม

กทม. สั่งปิดสถานที่ถึง 31 ส.ค. ไฟเขียว "ร้านอาหารในห้าง" ขายเดลิเวอรี่ถึง 2 ทุ่ม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เช็กประกาศ กรุงเทพมหานคร ฉบับ 39 สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวถึง 31 ส.ค. ให้ "ร้านอาหาร' ในห้าง" ขายเดลิเวอรี่ ได้ถึง 20.00 น.

วานนี้ (2 ส.ค.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 39) มีเนื้อหาระบุว่า

ด้วยได้มีการประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 โดยจำเป็นต้องบังคับใช้บรรดามาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติต่างๆ อย่างเข้มงวดกวดขันเพื่อการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องออกไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง และยกระดับบางมาตรการเพื่อให้การควบคุมการระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและป้องกันมิให้การระบาดเพิ่มความรุนแรงขึ้น

จากการที่ได้ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน โดยปิดสถานที่ก่อสร้าง และบริเวณที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับคนงาน

ตลอดจนได้มีการกำหนดมาตรการปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยง บางกรณีเพื่อประโยชน์ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งผลการดำเนินการในช่วงเวลาที่ผ่านมา ปรากฏว่าได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการและผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงสถานที่พักคนงานและการสุขาภิบาลให้ถูกสุขลักษณะ การปรับปรุงสถานประกอบกิจการและเตรียมมาตรการด้านป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งการกำกับติดตามให้เป็นไปตามมาตรการที่ทางราชการกำหนดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จึงสมควรปรับการบังคับใช้บางมาตรการต่อกลุ่มบุคคล สถานที่ และกิจการ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังคงให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและกำกับติดตามการป้องกันและควบคุมโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัดต่อไปด้วย

โดยขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กำหนดให้บรรดามาตรการ ข้อห้าม และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนด (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 และมาตรการควบคุมบูรณาการเร่งด่วนสำหรับสถานที่ กิจการหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยง

รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบได้กำหนดขึ้นภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าวเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดนี้ ยังคงใช้บังคับต่อเนื่องออกไปสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทุกจังหวัด จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ

ให้ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลส์หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา โดยให้ดำเนินการได้เฉพาะการจำหน่ายในรูปแบบการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านการบริการขนส่งอาหาร (Food Delivery Service) เท่านั้น

โดยไม่มีการจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรงเพื่อลดการติดต่อระหว่างผู้จำหน่ายกับผู้บริโภคจำนวนหลายคนและต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด

ดังนั้น เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ.2558 ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 และ (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 23/2564 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

1.ให้ปิดสถานที่และให้ดำเนินการตามที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่  32) ลงวันที่14 มิถุนายน 2564 (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2564 (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม2564(ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 และ (ฉบับที่ 38) ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศนี้

2.ให้ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 นาฬิกา โดยให้ดำเนินการ ได้เฉพาะการจำหน่ายในรูปแบบการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มผ่านการบริการขนส่งอาหาร (Food Delivery Service) เท่านั้น โดยไม่มีการจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรงเพื่อลดการติดต่อระหว่างผู้จำหน่ายกับผู้บริโภคจำนวนหลายคน และต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ให้ผู้จัดการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน จัดให้มีระบบการคัดกรองและตรวจสอบการลงทะเบียนผู้ขนส่งอาหารก่อนเข้าภายในอาคารหรือพื้นที่ การจัดระบบคิวและกำหนดพื้นที่เป็นการเฉพาะสำหรับรอคิว มีบริเวณพักคอย ซึ่งมีการเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่งหรือยืนที่เหมาะสม และต้องกำกับดูแลให้มีการดำเนินมาตรการดังกล่าวรวมถึงมาตรการด้านสาธารณสุขอื่นๆ ตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

3.ให้พื้นที่หรือสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคาร สถานที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับแรงงาน งานก่อสร้าง และการเดินทางเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งได้เคยมีประกาศหรือคำสั่งให้ปิดสถานที่หรือหยุดการดำเนินการ ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2564 หรือเคยได้รับการผ่อนคลายแบบมีเงื่อนไข ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 แต่ต่อมาสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ตามมาตรฐานทางสาธารณสุข หรือได้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้สถานที่มีสภาวะที่ถูกสุขลักษณะแล้ว เปิดหรือดำเนินการได้ภายใต้หลักเกณฑ์ มาตรการ และแนวทางกำกับติดตามประเมินผลที่กระทรวงสาธารณสุขหรือทางราชการกำหนด ซึ่งรวมถึงการดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) เพื่อป้องกันการระบาด ในแรงงานก่อสร้าง และเมื่อเกิดการระบาดในพื้นที่ต้องมีการปรับระดับความเข้มข้นของมาตรการ

ทั้งนี้ ยังคงให้ดำเนินกิจการต่อไปภายใต้มาตรการการเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างที่พักและสถานที่ทำงานภายใต้การกำกับควบคุม (Sealed Route) มีการบริหารจัดการในการแยกผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อ และกลุ่มเปราะบาง มีบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งมีการจัดเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่ที่สถานที่ตั้งอยู่แจ้งเจ้าของสถานที่ที่สามารถเปิดดำเนินการได้ทราบ

ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตาม มาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศ

ประกาศ ณ วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2564

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook