''ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์'' ทรง ''กู่เจิง''

''ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์'' ทรง ''กู่เจิง''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
กระชับสัมพันธ์ ไทย-จีน

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีกำหนดจะเสด็จเยือนกรุงปักกิ่ง, นครเซี่ยงไฮ้ และเมืองตงกว่าน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 12-25 ธ.ค. 2552 เพื่อทรงแสดงพระอัจฉริยภาพด้านการบรรเลงดนตรี กู่เจิง เครื่องดนตรีโบราณของจีน ในงาน สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน ครั้งที่ 4 ถือเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ ไทย-จีน ด้วยการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมครั้งสำคัญ ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี พระราชทานสัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ว่า ทรงตัดสินพระทัยเล่นกู่เจิงกะทันหัน เพราะทางกระทรวงวัฒนธรรมของจีน กราบบังคมทูลเชิญเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ตอนแรกข้าพเจ้าตกใจมาก ยอมรับว่าทิ้งการเล่นกู่เจิงไป 2 ปีเต็ม เพราะมีงานทางวิชาการแน่นมาก ต้องไปประชุมต่างประเทศหลายแห่ง ทำให้ลืมไปหมดแล้วและเล่นไม่ดีอย่างที่คิด จึงเชิญอาจารย์หลี่ หยาง ซึ่งเป็นพระอาจารย์สอนมารื้อฟื้นกันยกใหญ่ แต่ปรากฏว่ารื้อฟื้นไม่นานก็เล่นได้ พร้อมกันนี้ทรงมีรับสั่งด้วยพระอารมณ์ขันว่า ไม่ทราบว่าทำไมเล่นดีกว่าเดิมได้ สงสัยจะแอบซ้อมในความฝัน

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี รับสั่งว่า ช่วงต้นเดือน มี.ค.-เม.ย. ทรงซ้อมหนักมาก วันละ 5 ชั่วโมง เพราะต้องรื้อฟื้นสิ่งที่ลืมไปแล้ว แต่เทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้ในการเล่นไม่ลืมทีเดียว เมื่อพระอาจารย์มารื้อฟื้นให้ ก็ไปได้เร็วกว่าที่คิด ช่วงนี้ลดการซ้อมลงเหลือเพียงวันละ 2-3 ชั่วโมง โดยได้รับการอนุเคราะห์จากวงดุริยางค์ราชนาวี กองารเรือ ช่วยซ้อมให้เป็นเวลา 2 เดือนแล้ว

จากงานสายสัมพันธ์สองแผ่นดินที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงรู้สึกว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีน ใกล้ชิดและไว้ใจกันมากขึ้น โดยทรงใช้ดนตรีเป็นเครื่องนำ ดนตรีเปรียบเสมือนการประชาสัมพันธ์ของประเทศ และทรงรับเป็นทูตวัฒน ธรรมของประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2545 ทั้งนี้งานสายสัมพันธ์สองแผ่นดินมีความสำคัญมากในสายตาของกระทรวงวัฒนธรรมของจีน ข้าพเจ้าขอเลื่อนมา 2 ปี ธรรมดาการแสดงนี้จะจัดขึ้นทุก 2 ปี แต่คราวนี้ห่างถึง 4 ปี เนื่องจากข้าพเจ้าติดงานทางวิชาการ จึงขอเลื่อนมาเรื่อยกระทั่งข้าพเจ้าไปรับตำแหน่ง อาจารย์กิตติมศักดิ์ของมหาวิทยาลัยภูฏาน เมื่อเดือน มี.ค. 2552 ซึ่งทางรัฐบาลของจีนกระโดดเข้าจับตัวว่า อย่างไรปีนี้ห้ามเบี้ยว

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะทรงเครื่องดนตรีกู่เจิงกับวงดุริยางค์จีน จำนวน 5 เพลง โดยรับสั่งถึงรายละเอียดว่า เพลงเปิด เป็นเพลงประจำส่วนพระองค์ คือ เพลงระบำเผ่าอี้ ด้วยทรงชื่นชอบท่วงทำนองอันไพเราะ, เพลงที่ 2 เพลงเผ่าไทย เพลงดั้งเดิมของไทย เดิมมีชื่อว่า ขับไม้บัณเฑาะว์ ทรงสดับฟัง ครั้งพระเยาว์ คำว่า เผ่าไทย เป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ประพันธ์เนื้อร้องไทย ต่อมานายหลี่ ฮุย นักแต่งเพลงชาวจีน ได้ดัดแปลงเป็นเพลงใช้เล่น กู่เจิง และวงดุริยางค์สากลขนาดใหญ่

เพลงที่ 3 เมฆตามพระจันทร์ เพลงพื้นเมือง กวางโจวอันไพเราะอ่อนหวาน จากผลงานการประพันธ์ของนายเหริน กวง ซึ่งเป็นเพลงบันดาลพระทัยให้ทรงรู้สึกว่าอยากเล่นเครื่องดนตรีกู่เจิง, เพลงที่ 4 เเต้าลาซา หมายถึง ฤดูใบไม้ผลิมาถึงกรุงลาซา เมืองหลวงของทิเบต เป็นเพลงที่ทรงหัดเล่นใหม่และไม่เคยแสดงที่ใดมาก่อน และเพลงสุดท้าย สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงได้พระนิพนธ์เนื้อร้องภาษาไทยร่วมกับ อาจารย์วิรัช อยู่ถาวร ส่วนทำนองประพันธ์โดย นายหลี่ ฮุย

การแสดงดนตรีครั้งนี้ข้าพเจ้าเล่นกู่เจิงมากกว่าปกติ ธรรมดาเล่น 1-2 เพลงเท่านั้น แต่ครั้งนี้เล่น 5 เพลง รับสั่งกับกระทรวงวัฒนธรรมของจีนว่า เป็นการแก้ตัวที่หายไปนาน เพลงที่เล่นอยู่ในระดับค่อนข้างยาก ข้าพเจ้ามีความรู้สึกกลัวเหมือนกัน เพราะกู่เจิงเป็นเครื่องดนตรีของชาวจีน เล่นในประเทศจีน คนที่เล่นกู่เจิงในประเทศจีนมีไม่น้อยทีเดียว และมีหลายคนอยากฟังข้าพเจ้าเล่น ฉะนั้นข้าพเจ้าต้องพยายามเล่นให้ดีจริง ๆ

ส่วนพสกนิกรไทยที่อยากชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านดนตรี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัย ลักษณ์ อัครราชกุมารี รับสั่งว่า หลายคนต้องการชม เพราะไม่สามารถเดินทางตามไปถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ จึงได้ปรึกษากับวงดุริยางค์ราชนาวี กองดุริยางค์ทหารเรือ และ นายชวัช อรรถยุกติ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ จะทรงจัดการแสดงในประเทศไทยในวันที่ 7 ม.ค. 2553 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook