โครงเลี้ยงเซลล์กระดูกเทียมจากไหมไทย

โครงเลี้ยงเซลล์กระดูกเทียมจากไหมไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ปัญหาการสูญเสียกระดูกจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น อุบัติเหตุ เนื้องอกหรือการติดเชื้อ ถือเป็นปัญหาที่พบบ่อยในประชาชนทุกเพศทุกวัย

ปกติเมื่อกระดูกแตกร้าว จะมีการประสานสร้างเซลล์กระดูกใหม่ได้ตามธรรมชาติ แต่หากมีการแตกหักกว่า 1 เซนติเมตรแล้ว โอกาสในการรักษาก็ยากมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะใช้กระดูกจากผู้ป่วย เอง หรือกระดูกเทียมที่ทำจาก เซรามิก หรือโลหะแล้ว แนวโน้มการรักษาในปัจจุบันยังมุ่งไปที่การใช้กระดูกเทียมที่ผลิตจากชีววัสดุธรรมชาติ เป็นตัวเหนี่ยวนำให้เกิดการสร้างเซลล์กระดูกรอบ ๆ และกระดูกเทียมเหล่านี้จะย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องผ่าตัดอีกครั้ง

โครงเลี้ยงเซลล์กระดูกเทียมจากไหมไทย จากทีมนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนำโดยทีมรศ.ดร.ศิริพร ดำรงค์ จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี จึง ถือเป็นงานวิจัยล่าสุดที่น่าสนใจ และถูกนำมาจัดแสดงในงาน วันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 50 ปี ที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติหรือวช. จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นางสาวหทัยรัตน์ ตั้งทัศนา นิสิตปริญญาโทสาขาวิศวกรรมชีวเวช คณณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า โครงเลี้ยงเซลล์กระดูกเทียมจากไหมไทย เป็นหนึ่งในโครงการวิจัยบูรณาการด้านวิศวกรรมเนื้อเยื่อเพื่อการพัฒนากระดูกเทียม โดยการสนับสนุนจากวช.

ต่อยอดมาจากงานวิจัยระยะที่ 1 ที่ได้ทำวิจัยโครงเลี้ยงเซลล์จากไคติน หรือ ไคโตซาน ที่ได้มาจากเปลือกปูเปลือกกุ้ง โครงการวิจัยระยะที่ 2 จึงขยายผล ทำโครงเลี้ยงเซลล์จากไฟโบรอินในเส้นใยไหมไทย ซึ่งเป็นชีววัสดุ ที่หาได้ง่ายในประเทศอีกชนิดหนึ่ง

โดยนำรังไหมไทยมาลอกกาวไหมออกจะได้เส้นใยไฟโบรอินนำไปผ่านกระบวนการทำเป็นสารละลาย และขึ้นรูปเป็นโครงเลี้ยงเซลล์ ทำให้แห้ง มีการปรับปรุงคุณสมบัติต่าง ๆ โดยใช้ไคโตซานจากงานวิจัยระยะแรกเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของโครงเลี้ยงเซลล์กระดูกเทียมที่พัฒนาขึ้น นอกจากนี้ยังมีการทดลองกับงานวิจัยด้านการแพทย์อื่น ๆ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการเหนี่ยวนำให้เกิดการสร้างเซลล์กระดูกได้อย่างรวดเร็ว

นักศึกษาที่ร่วมทีมวิจัยบอกอีกว่า ที่ผ่านมากระดูกเทียมต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งทำจากคลลาเจนจากสัตว์เช่นวัว หรือหมู การใช้งานมักประสบปัญหาว่าสามารถเข้ากันได้กับคนหรือไม่ เพราะคนละสปีชีส์ แต่ไฟโบรอินจากไหมไทยนั้น จะมีความเข้ากันได้กับร่างกาย ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และสามารถชักนำให้เซลล์สร้างเนื้อเยื่อกระดูกได้ดี ย่อยสลายได้ภายใน 3-6 เดือน ปัจจุบันงานวิจัยดังกล่าวอยู่ระหว่างการทดสอบในสัตว์ทดลอง

คาดว่าต้องใช้เวลา 1-2 ปีในการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อขยายผลในการทดสอบเชิงคลินิกกับคน

แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในระดับโลก แต่ก็น่ายินดีในความสามารถของนักวิจัยไทย ที่หากงานวิจัยนี้ประสบผลสำเร็จและต่อยอดใช้งานเชิงพาณิชย์ได้ ก็จะช่วยให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเอง ลดการนำเข้า แถมยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุในประเทศอีกด้วย.

นาตยา คชินทร

nattayap@dailynews.co.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook