ตะลุยสุดยอดโรงหมอ... รอ เพื่อชีวิต

ตะลุยสุดยอดโรงหมอ... รอ เพื่อชีวิต

ตะลุยสุดยอดโรงหมอ... รอ เพื่อชีวิต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : บุษกร ภู่แส

คนได้ที่ 1 ใช่ว่าจะเลอเลิศสมบูรณ์แบบเสมอไป หลายครั้ง ภาพลักษณ์ความเก่งกาจก็นำพาความท้าทาย และภารกิจใหญ่หลวงมาให้โดยไม่เชื้อเชิญ

โรงพยาบาลที่ขึ้นว่าเป็นที่ 1 ของประเทศ 2 แห่ง ซึ้งใจในบทเรียนนี้ดี

05.05 น. หน้าประตูทางเข้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หม่อง หนุ่มน้อยวัย 12 ปี ตัวเล็กท่าทางขี้อายกับแม่นั่งตาปรือเฝ้าอยู่หน้าประตูฝั่งถนนพระรามสี่ สายตาเหลือบไปที่ประตูเป็นระยะ เมื่อเห็นเงาคนเดินผ่านมาจากทางด้านใน

ทุกๆ 4 เดือน หม่องกับแม่จะนั่งรถไฟจากจังหวัดเพชรบูรณ์เที่ยวตีสามมาสถานีหัวลำโพง กรุงเทพฯ เพื่อมาตรวจและรับยารักษาโรคไต และไทรอยด์ (คอพอก) ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ตั้งแต่นกยังไม่ออกจากรัง

"ฉันกับลูกนั่งหลับข้างโรงพยาบาลเนี่ยแหละจนฟ้าสาง ลุกขึ้นมารอยามเปิดประตูให้เข้าไปรอคิว จริงๆ แล้วหมอจะมา 9 โมงขึ้นไป ช่วงรอก็ไปหลับต่อหน้าห้องชั้น 9 แผนกเด็กกว่าจะเสร็จใกล้เที่ยง" แม่น้องหม่องเล่าท่ามกลางเงามืดของผู้ป่วยอีกหลายคนที่ยืนรอเป็นเพื่อน

พอได้ยา 2 ถุงใหญ่ สองคนแม่ลูกพากันลงลิฟต์ ซื้อข้าวกล่องหัวมุมตึก นั่งกินที่เก้าอี้ม้าหินก่อนกลับนอนพักเอาแรงที่บ้านญาติ วันรุ่งขึ้นเธอต้องพาหม่องมาตรวจ ไทรอยด์ ที่แผนกต่อมไร้ท่อช่วงบ่าย ถึงอย่างไรสองแม่ลูกยังต้องมาแต่เช้าเหมือนเดิม เพื่อยื่นใบนัดช่วงเช้า

ด้วยแรงศรัทธา ความเชื่อมั่นในคุณภาพ มาตรฐานการรักษา และค่าบริการของโรงพยาบาลรัฐบาลที่ยอมรับกันว่ามีความเป็นเลิศทางการแพทย์ ทำให้แต่ละวันมีคนไข้จำนวนมาก ทุกอาชีพ ทุกสถานะทางสังคม เดินทางมายืนต่อแถวรอคิวหาหมอกันยาวเหยียดตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง

เมตตา มหานิยม


07.00 น. ทันทีที่ประตูเปิด ผู้ป่วยและญาติที่มารอตั้งแต่ฟ้ายังไม่สางเดินเบียดทะลักเข้ามาในโรงพยาบาล เต็มพื้นที่ จนทำให้ห้องคัดกรองผู้ป่วยดูคับแคบ แทบจะไม่พอจุคนไข้และญาติที่มารอรับบริการ แม้ว่าจะไม่ถึงขั้นถอดรองเท้าจองคิวเหมือนสมัยก่อน

"คนไข้มากันเช้าขึ้นจากเดิมโรงพยาบาลเคยเปิด 8 โมงครึ่งก็ต้องเขยิบขึ้นมาเรื่อยๆ จนต้องเลื่อนมาเปิด 7 โมงก็ยังมีคนไข้มารอก่อนเวลาตั้งแต่ตี 4 ตี 5 เหมือนเดิม" สมใจ อาสากาชาดประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เล่าพร้อมกับถอนหายใจ

ผู้บริหารโรงพยาบาลจุฬาฯ เข้าใจปัญหาดี และนำรูปแบบการให้บริการผ่านระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้คนไข้ได้รับบริการเร็ว ขึ้น แต่ด้วยปริมาณของคนไข้ที่แห่มาจากทั่วทุกสารทิศ ทำให้การลำเลียงผู้ป่วยไปตามขั้นตอนต่างๆ ไม่มีทางคล่องตัวได้เลย ยิ่งสายจำนวนคนไข้ที่มารอรับบริการยังคงเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

"ไม่รู้ว่า เขามาจากไหนกัน เช้ามาคนไข้ที่มารอรักษาจะยืนเข้าแถว นั่งรถเข็นเพื่อรอยื่นบัตรรับคิวตรวจกันก่อนเวลามากมายไม่ว่าจะเป็นวัน ธรรมดา หรือวันหยุดที่มีคลินิกพิเศษ" เธอเล่า

ลูกหลานที่พาพ่อแม่ญาติพี่น้องมาโรงพยาบาลมักมีหนังสือติดมือมาอ่านฆ่า เวลา เพราะจะต้องใช้เวลารอไม่ต่ำกว่าชั่วโมง หนังสือที่ขายดีคงหนีไม่พ้นหนังสือพิมพ์ นิตยสารคู่สร้างคู่สม เรื่องย่อละคร ที่วางจำหน่ายบนแผงหนังสือ บ้างใช้ขอบทางเดินเป็นที่นั่งพักรับลมเย็น หรือบริเวณม้าหิน รอบโรงพยาบาลจะมีคนไข้และญาติไปนั่งรอกันอยู่แทบทุกมุม

บางครั้งคนไข้ที่มารอก็ไม่ได้ตรวจ เพราะคิวเต็มต้องมาใหม่วันรุ่งขึ้น บางคนที่เป็นโรคเรื้อรังต้องรักษาต่อเนื่อง ทางโรงพยาบาลไม่สามารถรับได้ทันที คนไข้ต้องรอคิวเป็นเดือน

"ตรงนี้เป็นข้อจำกัดที่เกิดขึ้น เพราะดีมานด์คนไข้สูงกว่าซัพพลายของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาลหรือผู้ช่วย ขนาดเปิดคลินิกพิเศษ ก็ไม่ได้ช่วยทำให้เบาลง แต่ถือเป็นทางเลือกให้กับคนไข้อีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องการเข้ามาใช้บริการนอก เวลาทำงานเท่านั้น" หมอโรงพยาบาลจุฬาฯ รายหนึ่งเปรยให้ฟัง

มาก่อน ได้ก่อน


"ความจริงพยาบาลเขาเคยบอกนะว่า ไม่ต้องมาเช้าก็ได้เพราะหมอนัดตรวจบ่าย แต่เคยมาแล้วรอนาน กว่าจะเสร็จเกือบ 5โมงเย็น สู้เรารีบมาจองคิวก่อนจะได้ตรวจเร็วขึ้น จะได้นั่งรถกลับบ้านได้เลยไม่ต้องกวนญาติเขาอีกคืน ช่วงที่รอหมอฉันก็พาลูกไปนั่งเล่นนอนเล่นที่สวนลุม" แม่หม่องเล่าการผจญภัยในเมืองหลวง

ก่อนหน้านี้ หม่องไม่สบายเคยไปหาหมอในตัวจังหวัดแต่ไม่หาย แม่เลยตัดสินใจพาเขามาหาหมอที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ปรากฏว่า อาการดีขึ้นแถมยังตรวจพบว่า หม่องมีโรคถึง 2 โรคด้วยกันคือ โรคไต และไทรอยด์ จึงต้องมาตรวจและรับยาประจำทุกเดือน แต่ระยะหลังหมอนัดให้มาพบ 4 เดือนครั้ง

"เจอหมอเก่งแล้วไม่อยากให้เขาเปลี่ยนหมอ ฉันยอมเหนื่อยดีกว่าจะได้สบายใจว่าได้หมอเก่งๆ มารักษาลูกแล้ว" คุณแม่ดีเด่นที่โลกไม่แซ่ซ้อง ว่าเช่นนั้น

เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราชเช่นกัน

บนเก้าอี้นั่งหน้าห้องจ่ายยา ชั้น 2 ของโรงพยาบาลศิริราช หญิงวัย 65 ปี ผิวขาว รูปร่างผอมสูงกำลังง่วนอยู่กับการนับยา 2 ถุงใหญ่ ไม่สนใจใคร เธอชื่อ กิมลั้ง ทุกๆ 4 เดือน ที่ถึงเวลานัด คุณยายกิมลั้ง บังคับสังขารเดินทางออกจากบ้านย่านธนบุรี -ปากท่อ แถวเซ็นทรัลพระราม 2 ตั้งแต่ตี 4 เพื่อมาถึงโรงพยาบาลศิริราชก่อน 6 โมงเช้าให้ทันเข้าแถวรอตรวจโรคลำไส้

"มารักษาโรคที่นี่ 10 ปีแล้ว ทุกครั้งกว่าจะได้ยาก็ปาเข้าไปเที่ยง แต่ถือว่าเร็วแล้วนะ โชคดีที่หมอไม่ได้นัดวันจันทร์ เพราะคนจะเยอะมาก ไม่รู้ว่าทำไม หรือจะเป็นอย่างเขาบอกกันว่า หมอที่รักษาทุกโรคจะมาพร้อมกัน"

ยายกิมลั้งบอกว่า การรอพบแพทย์ตรวจเหมือนกับการฝึกความอดทน ขนาดสามีของเธอที่เคยมาเป็นเพื่อนอยู่พักหนึ่ง หลังจากที่ต้องนั่งรอนานเป็นชั่วโมงๆ เข็ดขยาดถึงขั้นประกาศว่า ไม่มาอีกแล้ว แกเลยต้องมาคนเดียว

ช่วงคอยหมอ คุณยายจะไม่ไปไหน เพราะไหนจะต้องตรวจเลือด รอรับผลก่อนพบหมอเวลา 9.00 น. ระหว่างนั้นยายได้หลับเอาแรงอยู่หลายตื่นเหมือนกัน

"ถ้าหิวอย่างเก่งเดินไปซื้อของกินในเซเว่นฯ บนตึกเพราะเดินขึ้นเดินลงไม่ไหว และกลัวจะพลาดเวลาพยาบาลเรียกชื่อ"

ปกติ ค่ายาของยายจะราคาไม่เกิน 2,000 บาท แต่วันนี้หมอสั่งยาเยอะ ยายกิมลั้งเลยเดินไปบอกหมอให้ช่วยลดยาลงจะได้มีเงินค่ารถกลับบ้าน หมอยอมลดยาลงให้เหลือแค่ 900 บาทจากที่เดิมราคาเกือบ 3,000บาท แม้ราคาลดลงแต่ปริมาณยาที่แกหอบหิ้วขึ้นแท็กซี่ไม่ใช่น้อย ทำเอายายตัวเอียงไปเลยทีเดียว

สองด้านของความเป็นเลิศ

บรรยากาศทั่วไปในโรงพยาบาลศิริราช ส่วนใหญ่เรามักจะเห็นผู้สูงอายุนั่งรถเข็น มีลูกหลานคอยดูแลอยู่ไม่ห่าง โดยเฉพาะชั้น 2 ตึกหน้า แผนกอายุรกรรม จะมีคุณตา คุณยายหลายคนนั่งหลับคารถเข็นเพื่อรอหมอตรวจ ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่จะแขวนป้ายที่เสาใส่ขวดน้ำเกลือว่า "รอวัดความดัน" ให้กับผู้สูงอายุที่กำลังรอคิวอยู่เพื่อป้องกันความสับสน และอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงวัยพยาบาลจะให้เข็นวิลแชร์ ไปนั่งรอรวมกันในห้องแอร์ที่จัดไว้

พยาบาลจะคอยประกาศออกไมโครโฟนเป็นระยะ บอกให้ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ยกมือทันที ถ้าระหว่างคอยหมอ เกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก

โรงพยาบาลยังจัดมุมอ่านหนังสือ และตะกร้าใส่พัด (มือ) เขียนกระดาษแปะไว้ว่า "พัดเย็น -กายสบายใจ" วางไว้เป็นตัวช่วยคลายร้อนระหว่างที่คนไข้และญาติรอพบคนในชุดกาวน์ ลำพังพัดลมเพดานอายุเกินกว่า 30ปี คงไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก คนไข้และญาติที่นั่งรอแทบจะทุกคนต่างหิ้วถุงขนม ผลไม้ น้ำดื่มติดตัวไว้รองท้อง

คนไข้บางรายขอร้องให้ญาติที่อยู่กรุงเทพฯ ช่วยมายืนรอเข้าคิวให้ก่อนตั้งแต่ตี 5 เพราะตัวเองอยู่จังหวัดใกล้ๆ และใช้วิธีเหมารถตู้มาส่ง-รับกลับ หนึ่งในจำนวนนี้คือป้าสังเวียน วัย 69 ปีที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ เคยมารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชตอนมาเที่ยวกรุงเทพฯ เกิดแน่นหน้าอก หายใจไม่ออกกะทันหัน และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ป้าสังเวียนจะเหมารถตู้มาจากอำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี มาหาหมอที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นประจำ

"ที่นี่เป็นแหล่งรวมหมอเก่งขนาดในหลวงยังมารักษาทีนี่เลยแล้วฉันจะไปหา ที่อื่นทำไมให้เสียเงิน เสียเวลา เดินทางแค่นี้ไม่เป็นไรหรอก" ป้าสังเวียนบอกเหตุผล

วรรณ น้องสะใภ้ป้าสังเวียน เล่าว่า ทุกครั้งเวลามาจองคิวต้องมาถึงโรงพยาบาลก่อน 6 โมงเพื่อต่อคิวยื่นบัตรนัดแทนป้าสังเวียน เธออยู่แถวปิ่นเกล้าจึงสะดวกที่จะมายืนรอคิวให้ก่อน

"ศิริราช เป็นศูนย์รวมทุกอย่างทั้งหมอ เครื่องไม้เครื่องมือ แต่ก็ต้องทำใจ เวลามารอหมอที่นี่ก็ต้องรอนานแบบนี้แหละ ใครก็อยากเจอหมอเก่ง"

เช่นเดียวกับ วินัย ชายหนุ่มวัย 30 พนักงานบริษัทเอกชน ย่านพัฒนาการ ที่พาแม่มาหาหมอคลินิกพิเศษโรคหัวใจ ยอมรับว่า เชื่อมั่นในตัวหมอที่ศิริราชว่า ฝีมือดี มีอุปกรณ์ทันสมัยจึงตัดสินใจพาแม่มารักษา

"เฉพาะค่ารถแท็กซี่ไปกลับเกือบ 1,000 บาท ขนาดเป็นคลินิกพิเศษ แทนที่จะเร็วกลับช้าพอๆ กับที่ต้องรอหมอในเวลาปกติ เพราะคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการมีจำนวนมากเช่นกัน แทบจะไม่มีที่นั่งรอเลยด้วยซ้ำ มา 6 โมงเย็น แต่กว่าจะได้ตรวจ 3 ทุ่ม" วินัย เล่าด้วยน้ำเสียงเซ็งๆ

โรงพยาบาลศิริราช ได้ชื่อว่าเป็นโรงพยาบาลรัฐเก่าแก่ ที่รวมบรรดาหมอระดับหัวกะทิของประเทศ ในแต่ละปีมีผู้ป่วยแห่กันมาใช้บริการมากถึง 3 ล้านครั้ง ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในประเทศ ส่งผลให้หมอ พยาบาลที่นี่ต้องทำงานหนักจนแทบไม่มีเวลาพัก หมอและพยาบาลหลายคนติดเชื้อวัณโรค จนต้องพักรักษาตัวหลายเดือนกว่าจะกลับมาทำงานได้ตามปกติ

อยากให้มี "ที่ 1" หลายคน

"คนไข้เยอะมากเวลาทำงานแทบไม่ได้พักกินข้าว เพราะอยากทำให้เสร็จ จนถึงเวลาเปลี่ยนเวรกับเพื่อนนั่นแหละ แทบหมดแรง อยากนอนอย่างเดียวปกติเวลากินข้าวเที่ยงใช้เวลาไม่เกิน 10 นาทีหรอก ดีไม่ดีไม่ได้กินด้วยซ้ำ ยิ่งถ้าเป็นวันจันทร์คนไข้ไม่รู้มาจากไหนเต็มไปหมด" พยาบาลคนหนึ่งเล่า

คนไข้ส่วนใหญ่มักบอกว่า ญาติพี่น้องมารักษาที่นี่แล้วหายเลยเดินทางมาที่นี่ แทนที่คนไข้จะไปรักษาตัวตามโรงพยาบาลประจำจังหวัด กลับมุ่งตรงมาที่กรุงเทพฯ ทำให้เกิดการกระจุกตัวของคนไข้ในโรงพยาบาลรัฐบาลที่กรุงเทพฯ มาก ส่งผลให้คุณภาพบริการไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่มีการลงทุนวางระบบ ขั้นตอน วิธีการทำงานตลอดเวลา

"จะโทษคนไข้ก็ไม่ได้ หรือว่าการบริหารจัดการภายในโรงพยาบาลก็ไม่ถูกที่ทำให้คนไข้ต้องรอคิวนาน แต่มันน่าจะเป็นปัญหาการบริหารจัดการเชิงนโยบายที่รัฐบาลควรที่เข้ามาดูแล อย่างจริงจัง เพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศดีขึ้น"

ในฐานะผู้ที่อยู่ในวงการ เธอมองว่า แนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว น่าจะใช้หลักการเดียวกับการสร้างมหาวิทยาลัยในแต่ละภาคเพื่อให้คนในพื้นที่ ใช้บริการ แทนที่จะมุ่งหน้ามารักษาในกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความน่าเชื่อถือในคุณภาพการให้บริการที่มีมาตรฐานทัด เทียมกันออกมาให้คนไข้เกิดความมั่นใจเวลาเข้าไปตรวจ

"หากทำได้จริง เชื่อว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของคนไข้ได้มาก เพราะเขาจะได้ไม่ต้องเสียเงินเสียทองเสียเวลาในการเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ ยกเว้นเคสพิเศษ จะทำให้คุณภาพในการรักษา และการดูแลสุขภาพของคนไข้ดีขึ้นกว่าทุกวันนี้" พยาบาลคนเดิม เชื่อและหวังเช่นนั้น

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook