ทั้งหมดนี้เพื่อ ผู้หญิง

ทั้งหมดนี้เพื่อ ผู้หญิง

ทั้งหมดนี้เพื่อ ผู้หญิง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โดย : กันยาภรณ์ เผือกวิสุทธิ์

การก่ออาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น และข้อบังคับทางวัฒนธรรม ทำให้โลกยุคใหม่หันมาให้ความสนใจ กับความปลอดภัย

และการทำกิจกรรมนอกบ้านของ 'ผู้หญิง' มากขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศ มีการจัดบริการให้เพศหญิงเท่านั้น และแน่นอนว่าได้รับการขานรับอย่างดี

เมื่อเร็วๆ นี้ เทศบาลเมืองพูบลา ในเม็กซิโก กลายเป็นเมืองล่าสุด ที่โดดเข้าร่วมกระแส 'เฉพาะผู้หญิง' เหมือนอย่างที่เคยเกิดมาแล้วในเมืองอื่นๆ ทั่วโลก เช่น กรุงมอสโก รัสเซีย และนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กับบริการ 'แท็กซี่สีชมพู'

แน่นอนว่า แท็กซี่สีชมพูนี้ มีคนขับเป็นผู้หญิง บริการรับส่งเพื่อนเพศเดียวกัน แต่ความพิเศษก็ไม่ได้จำกัดอยู่เท่านั้น เพราะบริการแท็กซี่สีหวานนี้ ยังมาพร้อมอุปกรณ์เสริมความงาม ตามคำร้องขอ เผื่อว่าคุณผู้หญิงต้องการเพิ่มเสริมเติมแต่งตัวเอง ระหว่างการนั่งรถไปยังจุดหมายปลายทาง

แนวคิดสำหรับบริการนี้ เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า บรรดาคนขับรถแท็กซี่ มักจะทำเจ้าชู้หยอกไก่ หรือพูดจากกระเซ้าเย้าแหย่กับสาวๆ ที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งแน่นอนว่า คงไม่มีสาวรายใดกล้าหยิบเครื่องสำอางขึ้นมาเสริมความงามแน่ แต่ถ้าคนขับเป็นผู้หญิง ผู้โดยสารเพศเดียวกันจะรู้สึกมีอิสระที่จะทำความต้องการได้

ในเบื้องต้นนี้ เมืองพูบลาออกใบอนุญาต และจัดฝึกอบรมคนขับแท็กซี่ให้กับพิงค์ แท็กซี่ เดอ พูบลา บริษัทเอกชน เพื่อให้บริการรถแท็กซี่สีชมพูจำนวน 35 คัน ด้วยเงินลงทุนเริ่มแรกจำนวน 440,000 ดอลลาร์ ซึ่งหากประสบความสำเร็จด้วยดี ก็มีแผนที่จะขยายไปยังเมืองอื่นๆ ต่อไป

ไอดา ซานโตส หนึ่งในคนขับรถแท็กซี่ ที่มีขนาดกะทัดรัด และมีอุปกรณ์ติดตาม พร้อมด้วยปุ่มกดเตือนภัยสำหรับบริการฉุกเฉิน เผยว่า มีผู้โดยสารหญิงบางรายที่เล่าให้ฟังถึงเรื่องโดนคนขับแท็กซี่ชายข้ามเส้น และพยายามจีบพวกเธอ แถมยังแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับพวกเธอด้วย

"การนั่งรถแท็กซี่สีชมพูนี้ ทำให้พวกเธอไม่ต้องมานั่งวิตกถึงความปลอดภัยของตัวเอง และรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น" ซานโตส กล่าว

บริการดังกล่าว ยังถือเป็นการเปิดโอกาสทำงานให้กับผู้หญิงเม็กซิโก ในตลาดแรงงานท้องถิ่น ที่มีแต่ความต้องการพนักงานเพศชายเท่านั้น โดย ลิเดีย เฮอร์นานเดซ คนขับวัย 40 ปี ซึ่งเคยทำงานที่สถานีบริการน้ำมันมาก่อน เรียกบริการใหม่นี้ว่า เป็นแหล่งการจ้างงานที่ใหม่ และน่าสนใจอย่างมาก

ก่อนหน้านี้ กรุงเม็กซิโก ซิตี้ เมืองหลวงของเม็กซิโก ก็เคยมีแนวคิดที่จะให้บริการแท็กซี่สีชมพูเช่นนี้มาก่อน แต่ก็ต้องล้มเลิกไปเมื่อปี 2550 แต่ทางการก็จัดให้บริการรถโดยสาร และตู้รถไฟใต้ดิน เฉพาะผู้หญิง ในช่วงเวลาเร่งด่วนแทน

อย่างไรก็ดี บรรดานักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้หญิง กลับมีความเห็นที่แตกต่างออกไป โดยชี้ว่า บริการข้างต้นไม่ได้แก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงที่ต้นตอแต่อย่าง ใด

แบงก์นี้ ห้ามผู้ชายเข้า


แท็กซี่ไม่ได้เป็นบริการ เดียว ที่ประเทศต่างๆ มีการจัดหาเฉพาะเพศหญิง แต่ยังรวมถึงบริการอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ที่หลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประเทศมุสลิม ที่มีข้อบังคับที่เข้มงวดในการติตต่อระหว่างเพศ ล่าสุดที่เมืองนาจาฟ หนึ่งในเมืองศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม นิกายชีอะห์ ในอิรัก ก็ได้มีการเปิดสาขาธนาคาร ที่ให้บริการเฉพาะกลุ่มผู้หญิงเท่านั้น

แม้ผู้จัดการธนาคารบาเบล สาขานาจาฟแห่งนี้ จะเป็นผู้ชาย ท่ามกลางเหล่าพนักงานหญิงล้วน สำหรับลูกค้าหญิงล้วน แต่ผู้จัดการสาขารายนี้ ก็ต้องผ่านกระบวนการที่ยุ่งยาก ในการที่จะเข้ามาในสาขา เพราะต้องนัดหมายล่วงหน้า และต้องเข้าธนาคารทางประตูหลังเท่านั้น

"ที่ธนาคารแห่งนี้ บรรดาลูกค้าที่เป็นเพศหญิงทั้งหมด สามารถเปิดเผยหน้าตาตัวเอง และติดต่อทำธุรกรรมต่างๆ กับพนักงานได้อย่างอิสระ" มาเซน อับดุล ราซซัค รองผู้อำนวยการบาเบล ระบุ

ผลศึกษากลุ่มผู้หญิงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึง อิรัก ที่บอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป จัดทำขึ้น พบว่า ผู้หญิงทั่วโลกจะขาดความพึงพอใจอย่างมากในเรื่องบริการการเงิน

ขณะที่บรรดาลูกค้าหญิงของธนาคารแห่งนี้ เผยความในใจว่า รู้สึกไม่สะดวกใจกับการต้องติดต่อพนักงานธนาคารชาย ในธนาคารทั่วไป และรู้สึกผ่อนคลายมากกว่ากับการมาทำธุรกรรมในสาขาใหม่

การก่อตั้งสาขานาจาฟดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงจารีตประเพณีที่เข้มงวดมากสำหรับผู้หญิงในเมืองแห่งนี้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของนิกายชีอะห์ โดยลูกค้ารายหนึ่งเผยว่า เมืองนาจาฟต้องการสถานที่แบบนี้อีกมาก

"ผู้หญิงจะได้เดินทางไปยังสถานที่ที่มีแต่ผู้หญิงอย่างเสรี ฉันสนับสนุนแนวคิดแบบนี้ เพื่อที่ผู้หญิงจะได้ไม่รู้สึกอับอาย"

ขณะที่ อับดุล อาซิส ฮัสซูน ประธานสหพันธ์ธนาคารเอกชนอิรัก ชี้ว่า หากธนาคารเพื่อผู้หญิงที่มีสาขาเดียวในประเทศขณะนี้ประสบความสำเร็จ ก็อาจจะมีธนาคารรายอื่นๆ ทำตาม

รถไฟเพื่อเธอ


ประเทศที่มีประชากรขึ้นหลักพันล้านคน อย่างอินเดีย ก็มองเห็นความเสียเปรียบของผู้หญิงในการใช้บริการสาธารณะเช่นกัน และตัดสินใจที่จะจัดหาความปลอดภัย และสะดวกสบายให้กลุ่มผู้หญิงทำงานที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ด้วยการจัดหารถไฟขบวนพิเศษ 8 ขบวน เพื่อผู้หญิง ในกรุงนิวเดลี มุมไบ กัลกัตตา และมัดราส

รถไฟสาย 'เลดี้ส์ สเปเชี่ยล' เหล่านี้ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้โดยสาร แน่นอนว่า ผู้หญิง โดยรถไฟสายพิเศษเหล่านี้ ทาสีสันสดใส ด้านหน้าของหัวรถไฟเป็นสีน้ำเงิน และแดง ส่วนตัวตู้รถไฟเป็นสีเหลืองสดใส มีที่นั่งบุนวม และติดพัดลมเพดาน ช่วยทำให้การเดินทางในช่วงเวลาเร่งด่วนเป็นไปอย่างปลอดโปร่งมากขึ้น

"ไม่มีคนพูดจาลามก ไม่มีใครมาแซวพวกเรา ถ้าเป็นรถไฟสายธรรมดา มันจะวุ่นวายมากเลย ส่วนใหญ่พวกเราจะไม่ได้นั่ง และต้องยืนไปตลอดทาง ทั้งบนรถไฟยังไม่ปลอดภัย มีการล้วงกระเป๋ากันบ่อยๆ แต่เรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นกับรถไฟสายนี้ เราสามารถเดินทางได้อย่างเพลิดเพลิน" เหล่าผู้โดยสารแสดงความเห็น

แนวคิดการให้บริการรถไฟเฉพาะผู้หญิงของอินเดีย เกิดขึ้นหลังเมื่อก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี ทางการอินเดียต้องเจอกับความล้มเหลวในโครงการที่มีชื่อว่า 'ภัยราวี' ที่มีเป้าหมายเพื่อลงโทษบรรดาผู้ชายที่ไปใช้บริการรถโดยสารเฉพาะผู้หญิง

เชียลา ชาร์มา สาวใหญ่ที่ใช้บริการมานานกว่า 25 ปี กล่าวถึงรถไฟสายผู้หญิงนี้ว่า เป็นเหมือนของขวัญจากพระเจ้า และเป็นสิ่งที่พวกเธอรอมานานแสนนาน

"เราสามารถหัวเราะ เลือกนั่งได้ทุกที่ที่ต้องการ ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ เรารู้สึกมีอิสระ"

ที่มา : สำนักข่าวต่างประเทศ

 

 

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ ทั้งหมดนี้เพื่อ ผู้หญิง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook