นายกฯเมินแนวคิดตั้ง''นครปัตตานี''

นายกฯเมินแนวคิดตั้ง''นครปัตตานี''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เชื่อการพูดดังกล่าวอาจหวังผลทางการเมือง ยันเดินหน้าใช้แผนพัฒนา-ให้ความยุติธรรมในพื้นที่ ที่อาคารรัฐสภา 3 วันนี้(4 พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ที่เสนอแก้ปัญหาภาคใต้โดยการตั้งนครปัตตานี ว่า ตนเกรงว่าจะเกิดความสับสน เพราะรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนเรื่องการกระจายอำนาจและแนวทางการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ หากไปพูดในเชิงโครงสร้าง ก็จะเกิดการถกเถียงและนำไปสู่ความขัดแย้ง จึงอยากให้ระมัดระวัง ถ้าเป้าหมายคือการหากลไกเพื่อตอบสนองประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ พล.อ.ชวลิต ไปรับแนวคิดจากผู้ก่อการร้ายในพื้นที่มา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องไปถาม พล.อ.ชวลิต ว่าไปรับแนวคิดนี้มาจากไหน

เมื่อถามว่า พล.อ.ชวลิต ยังได้เสนอทางออกให้ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบโดยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมเช่นเดียวกับคอมมิวนิวส์ในอดีต นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่รัฐบาลทำอยู่คือการเตรียมนำเอากฎหมายความมั่นคงมาใช้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการโดยเริ่มนำร่องที่ 4 อำเภอใน จ.สงขลา ผู้สื่อข่าวถามว่าคิดว่าประชาชนในพื้นที่จะเกิดความสับสนหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือว่าเป็นการแข่งขันทางการเมือง เป็นสิทธิของแต่ละฝ่าย พรรคการเมืองแต่ละพรรคสามารถที่จะเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าการพูดดังกล่าวจะเป็นการมุ่งหวังที่จะหาเสียง และมุ่งหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่บางกลุ่ม แต่รัฐบาลต้องการที่จะยึดผลประโยชน์ของส่วนร่วม และผลประโยชน์ของคนในพื้นที่ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

เมื่อถามว่าความพยายามแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ยังมีอยู่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวยอมรับว่า กระบวนการนี้มีอยู่ และมีความพยายามที่จะหาทางยกระดับมาเป็นแนวการต่อสู้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวรัฐบาลจึงได้มีแนวทางที่จะต่อสู้ด้วยเรื่องการพัฒนา และการอำนวยความยุติธรรม รวมทั้งโครงสร้างที่จะมีการปรับปรุงกฎหมายใหม่ ซึ่งกำลังจะเสนอเข้าสู่สภาฯ ใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า

ต่อข้อถามกรณี นพ.แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ ส.ส.นราธิวาส พรรคเพื่อแผ่นดิน ระบุว่านายกฯได้ไปพูดกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียว่าจะยกระดับพื้นที่ภาคใต้เป็นเขตปกครองตนเอง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ทราบ ตนเพียงแต่บอกว่าที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียให้สัมภาษณ์ ใช้คำภาษาอังกฤษว่า Autonomyนั้น ตนก็เลยบอกว่าหลักคิดที่ต้องการมีส่วนร่วมที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะของพื้นที่ เป็นหลักการที่รัฐบาลไทยสนับสนุน และพูดทุกครั้งว่าไม่อยากให้ใช้คำว่า Autonomy หรือเขตปกครองพิเศษ เพราะจะตีความไปคนละความหมาย ทำให้เกิดความสับสน อยากให้เอาสาระมากกว่าว่า เรามีหน้าที่ในการช่วยเพื่อนร่วมชาติ ให้มีโอกาสและคงอัตลักษณ์ไว้ให้ได้ และยังคงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook