ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ผ่านวาระแรก! ส.ส. เห็นด้วย 368 เสียง ไร้ค้าน

ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ผ่านวาระแรก! ส.ส. เห็นด้วย 368 เสียง ไร้ค้าน

ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ผ่านวาระแรก! ส.ส. เห็นด้วย 368 เสียง ไร้ค้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สภาผู้แทนราษฎร มีมติเมื่อวันพฤหัสบดี (16 ก.ย.) เห็นชอบในวาระที่ 1 ต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ด้วยเสียงเห็นชอบ 368 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย 

หลังจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 ที่จะเป็นการพิจารณารายมาตรา และวาระ 3 ที่จะมีการโหวตในภาพรวม และถ้าหากผ่านขั้นตอนนี้ก็จะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นวุฒิสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ต่อไป

ร่างกฎหมายนี้ มีสาระสำคัญคือการมุ่งเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ซ้อมทรมานและอุ้มผู้อื่น และมีการพิจารณารวมกับร่างกฎหมายคล้ายกันนี้อีก 3 ฉบับ คือ ร่างของกระทรวงยุติธรรมและคณะรัฐมนตรี ร่างของคณะกรรมาธิการ ร่างของพรรคประชาชาติ และร่างของพรรคประชาธิปัตย์ โดยจะนำร่างของคณะรัฐมนตรีมาพิจารณาเป็นหลักในวาระที่ 2

ด้านโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) เปรียบเทียบความร่างกฎหมายทั้ง 4 ร่างนี้เอาไว้ ซึ่งพบว่า ร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีเสนอนั้นยังมีจุดอ่อน เช่น การมีภาคประชาชนเข้าไปนั่งในคณะกรรมการไม่ถึงครึ่ง การมีแต่มาตรการเชิงรับในการป้องกันโดยไม่มีมาตรการเชิงรุก เช่น การออกตรวจ เลย และการไม่ให้สิทธิ "คู่ชีวิต" ร้องทุกข์ได้ 

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายก็มองว่า การรับหลักการครั้งนี้อาจมีการนำจุดเด่นของร่างกฎหมายที่เหลือที่ยังไม่เข้าสภาฯ มาปิดจุดอ่อนดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายแล้ว กำหนดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 25 คน มาจากสัดส่วนคณะรัฐมนตรี และจากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล อาทิ นายสมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ที่พรรคเพื่อไทยเสนอ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภรรยาของทนายสมชาย ที่หายตัวไปเมื่อปี 2547 ซึ่งพรรคเสรีรวมไทยเสนอ ร่วมทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวรายมาตรา พร้อมเปิดให้สมาชิกแปรญัตติภายใน 7 วัน เพื่อเสนอสภาต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook