ญี่ปุ่น-แม่โขง มิติใหม่ทางเศรษฐกิจของอาเซียน

ญี่ปุ่น-แม่โขง มิติใหม่ทางเศรษฐกิจของอาเซียน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งที่ 15 ยังคงมีวาระสำคัญจำนวนมากที่เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมและขยายผลการประชุม การประชุมสุดยอดประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น ที่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเดินทางเข้าร่วม ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2552 ก็เป็นอีกหนึ่งความคืบหน้าในด้านความร่วมมือกับภายนอกของอาเซียน กำหนดการน่าสนใจของนายกรัฐมนตรี ในการเดินทางไปครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะเดินทางออกจากประเทศไทยในช่วงค่ำของวันที่ 5 พฤศจิกายน 52 วันที่ 6 พฤศจิกายน 52 สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขง จากนั้นผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขงจะ เข้าเฝ้ามกุฎราชกุมารญี่ปุ่น และพบปะหารือกับประธานสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น และประธานวุฒิสภาญี่ปุ่น หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่นครั้งที่ 1 ในหัวข้อ การพัฒนาภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Development of Mekong Region) และในช่วงค่ำนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขง วันที่ 7 พฤศจิกายน 52 นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วม การประชุมผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่นในประเด็นระหว่างประเทศ (International Issues) และเข้าร่วม พิธีลงนามและแถลงข่าวระหว่างผู้นำประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี และเข้าการหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น สำหรับประเด็นที่คาดว่าจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรียูกิโอะ ฮาโตะยามะ คือการหารือเกี่ยวกับการสานต่อประเด็นที่ได้เคยเสนอไว้เมื่อระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ที่ผ่านมา ณ ชะอำ-หัวหิน อาทิ ความสัมพันธ์ทั่วไปกับญี่ปุ่นในระดับภูมิภาค ความร่วมมือระหว่างนักการเมือง การให้ช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจกับไทย การผลักดัน JTEPA ให้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นต่อประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และในวันที่ 7 พฤศจิกายน 52 นายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางกลับถึงท่าอากาศยานทหาร (กองบิน 6) เวลา 23.30 น. ความร่วมมือจากญี่ปุ่นสู่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น ซึ่งริเริ่มโดยญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2551 โดยมีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แ่ ญี่ปุ่น ไทย พม่า ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม เป็นสมาชิก มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมบทบาทของญี่ปุ่นในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงของอาเซียน และหารือแนวทางในการขยายความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ทั้งนี้ญี่ปุ่นได้พยายามให้ความสำคัญกับความร่วมมือนี้มาก โดยประกาศให้ปี 2552 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Exchange Year) เพื่อกระชับความสัมพันธ์รอบด้าน สาระสำคัญของความร่วมมือ ในปี 2552 ญี่ปุ่นได้เสนอกรอบความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่นขึ้น และได้มีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan SEOM) ขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งญี่ปุ่นได้เสนอแนวคิดที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจภายในภูมิภาคด้วยการส่งเสริมให้ภาคเอกชนมาร่วมลงทุนในลักษณะ Public-Private Partnership (PPP) โดยมอบให้ JETRO (Japan External Trade Organization) ดำเนินการสำรวจยุทธศาสตร์และความต้องการของภาคเอกชนเพื่อกำหนดจัดทำแผนความร่วมมือ หลังจากที่คณะทำงานได้จัดทำร่าง "ความริเริ่มว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น โดยได้ผลสรุปที่มีสาระสำคัญครอบคลุม 5 ด้าน คือ 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยเสนอให้จัดทำการศึกษาความเป็นไปได้และการจัดลำดับความสำคัญโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น โครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง พลังงาน อุตสาหกรรม 2) การอำนวยความสะดวกทางการค้าและโลจิสติกส์ โดยเสนอให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อประเมินสภาพมาตรการและกฎระเบียบในปัจจุบัน 3) การยกระดับ SME โดยการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการ และการอำนวยความสะดวกในการสร้างเครือข่าย SME ในภูมิภาค 4) การยกระดับสาขาบริการและอุตสาหกรรมใหม่ของภูมิภาค โดยเสนอให้จัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำโครงการนำร่อง 5) การจัดเวทีหารือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเพื่อเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม โอกาสสำหรับชาวไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นประเด็นที่ถูกนำขึ้นมาหารือในทุก ๆ เวทีที่เกี่ยวกับการพัฒนาและการแก้ไขและบรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นในด้าน การขนส่ง พลังงาน และอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการลงทุนที่ให้ผลในระยะยาวสำหรับประเทศกำลังพัฒนา และเป็นการลงทุนที่สร้างงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยซึ่งมีความชำนาญพอสมควรในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะบุคลากรทั้งในระดับผู้ใช้แรงงานและผู้บริหาร จึงน่าจะใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาศักยภาพด้านอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้ความช่วยเหลือและเกื้อกูลต่อการพัฒนาในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงด้วยกัน ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME เป็นกลไกสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง การยกระดับ SME โดยการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการ และอำนวยความสะดวกในการสร้างเครือข่าย SME ในภูมิภาค จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทยที่มีศักยภาพสูงพอสมควรในการเข้าถึงตลาด รวมทั้งพัฒนาระบบทั้งระบบให้ก้าวหน้ามากขึ้น นอกจากนี้ธุรกิจบริการซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งในการพัฒนาของการประชุมนี้ บุคลากรชาวไทยต่างมีความชำนาญและมีศักยภาพในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เวทีการหารือยังเป็นอีกช่องทางที่จะทำให้ชาวไทยและชาวลุ่มแม่น้ำโขงรวมถึงไทย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเองอีกด้วย โครงการต่าง ๆ ที่มีการเสนอในการประชุมสุดยอดประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น ที่นายกรัฐมนตรีไปปฏิบัติภารกิจ ระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 52 นี้ เป็นความเริ่มต้นสำคัญทั้งสำหรับไทย และประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่จะได้พัฒนาตนเอง โดยอาศัยความชำนาญ ความช่วยเหลือ และความร่วมมือจากประเทศที่มีความก้าวหน้าจากญี่ปุ่น สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเริ่มต้นในครั้งนี้ก็คือ เราจะต้องไม่พึ่งพิงญี่ปุ่นมากจนเกินไป แต่ใช่ว่าจะต้องปฏิเสธความช่วยเหลือต่าง ๆ การศึกษาญี่ปุ่นและนำมาพัฒนาในรูปแบบของตนเองเป็นสิ่งที่น่าจะได้ผลมากกว่าสำหรับความร่วมมือที่เพิ่งจะเกิดขึ้นและกำลังจะพัฒนาต่อไปจากนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook