สถิติน่าสนใจเนื่องในวันครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

สถิติน่าสนใจเนื่องในวันครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

สถิติน่าสนใจเนื่องในวันครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 12 ของประวัติศาสตร์ไทย เกิดขึ้นโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมีพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ ยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น รวมทั้งยกเลิกการเลือกตั้งซึ่งมีกำหนดจัดในเดือนตุลาคม ยกเลิกรัฐธรรมนูญ สั่งยุบสภา สั่งห้ามการประท้วงและกิจกรรมทางการเมือง ยับยั้งและตรวจพิจารณาสื่อ ประกาศใช้กฎอัยการศึก และจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคน จากนั้นได้มีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยมีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

หลังจากนั้น คปค. ได้แปรสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และได้แถลงสิ้นสุดภารกิจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดยระบุว่าเนื่องจากประเทศไทยได้สู่สภาวะปกติอย่างสมบูรณ์ตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบในการแต่งตั้งนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี

AFP

เกิดอะไรขึ้นบ้างหลังรัฐประหาร 2549

หลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ตลาดหุ้นเปิดทำการซื้อขายเป็นวันแรก เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2549 ปรับตัวลงไปแรงที่สุด 29.56 คิดเป็น 4.2% ในช่วงเปิดตลาด ทว่าในช่วงใกล้ปิดตลาด ดัชนีกระเตื้องขึ้นจึงปรับตัวลงไปเพียง 1.42% เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจขณะนั้นยังแข็งแรงอยู่

ด้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ได้ตัดเงินช่วยเหลือด้านการทหาร และด้านการรักษาสันติภาพแก่ไทยเป็นจำนวน 24 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 900 ล้านบาท

วันที่ 24 กันยายน 2549 สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง "ความคิดเชิงประเมินผลของประชาชนต่อสังคมไทยและคุณลักษณะของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ประชาชนต้องการ: กรณีศึกษาประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล" โดยสอบถามประชาชนจำนวน 1,550 คน ระหว่างวันที่ 22 - 23 กันยายน พบว่า ประชาชน 92.1% รู้สึกว่าทหารเป็นที่พึ่งได้ 89.1% รู้สึกปลอดภัย 87% รู้สึกทหารเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง 82.6% รู้สึกอบอุ่น ขณะที่อีก 24.9% รู้สึกกังวล 20.5% รู้สึกไม่สะดวก 19.7% รู้สึกตกใจ 7.6% รู้สึกไม่ชอบ และ 6.5% รู้สึกกลัว

รัฐประหาร 2549 จุดเริ่มต้นของหลายสิ่ง

การยุบพรรคการเมือง

หลังจากการรัฐประหาร คปค. ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ส่งผลให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเก่าถูกยกเลิกไปด้วย และมีการตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ รวมทั้งออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 กำหนดให้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ยังคงบังคับใช้ต่อไป และกรณีที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคนาน 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมือง

จากประกาศดังกล่าว มีพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรค นับตั้งแต่ปี 2549 - 2551 จำนวน 5 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคไทยรักไทย พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคพลังประชาชน ส่วนพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรคและกรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีจำนวน 2 พรรค ได้แก่ พรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งถูกยุบพรรคในปี 2562 และพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกยุบพรรคในปี 2563 ทั้งสองพรรคถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี

งบประมาณกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้น

สมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ในปี 2547 ปี 2548 และปี 2549 งบประมาณของกระทรวงกลาโหมอยู่ที่ 7.85 หมื่นล้านบาท 8.12 หมื่นล้านบาท และ 8.59 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ทว่าหลังจากการรัฐประหาร 2549 งบประมาณของกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้นถึงหลักแสนล้าน โดยในปี 2563 ได้รับงบประมาณ 2.31 แสนล้านบาท และในปี 2564 ได้รับงบประมาณอยู่ที่ 2.14 แสนล้านบาท

เศรษฐกิจชะลอตัว

ก่อนการรัฐประหารปี 2549 อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับสูง ทว่าหลังจากการรัฐประหาร ปี 2549 อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยลดต่ำลง โดยเฉพาะในปี 2554 ที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ อัตราการขยายตัวอยู่ที่ 0.1% ปี 2557 ที่เกิดการรัฐประหารโดย คสช. มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 0.7% และปี 2563 มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ที่ -6.1% ส่วนปี 2564 ในช่วงครึ่งแรกของปี เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2%

สถานการณ์ด้านเสรีภาพ

ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน

สำหรับสถานการณ์ด้านเสรีภาพหลังจากการรัฐประหารโดย คปค. มีการประกาศกฎอัยการศึก รวมทั้งออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 7 ห้ามมิให้มีการชุมนุมทางการเมือง ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท ประกาศฉบับนี้ถูกยกเลิกเมื่อเดือนธันวาคม 2549 เท่ากับว่า นับจากวันประกาศใช้จนถึงวันที่มีการออกกฎหมายยกเลิก “ประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน” มีอายุเป็นกฎหมายอยู่ที่ 3 เดือน 6 วัน

ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง

21 กันยายน 2549 คปค. ออกประกาศฉบับที่ 15 ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุมหรือดำเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่า เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ประกาศฉบับดังกล่าวถูกยกเลิกเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 รวมระยะเวลาที่อยู่ภายใต้ประกาศดังกล่าว 10 เดือน 27 วัน ตามด้วยการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550

การควบคุมสื่อออนไลน์

20 กันยายน 2549 คปค.ออกคำสั่ง คปค. ที่ 5/2549 กำหนดให้ “กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดำเนินการควบคุม ยับยั้ง สกัดกั้น และทำลาย การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในระบบสารสนเทศ ผ่านระบบเครือข่ายการสื่อสารทั้งปวง ที่มีบทความ ข้อความ คำพูด หรืออื่นใด อันอาจจะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย” คำสั่งดังกล่าวบังคับใช้ถึงในเดือนธันวาคม 2550 รวมระยะเวลาที่อยู่ภายใต้คำสั่งควบคุมสื่อออนไลน์ 1 ปี 3 เดือน

การดำเนินคดี มาตรา 112

หลังจากปี 2549 ยอดฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือมาตรา 112 เพิ่มขึ้น โดยปีที่มียอดการฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลเกินร้อยข้อหา ได้แก่ ปี 2550, 2552 และ 2558


 

ปี 2550 เป็นช่วงเวลาหลังจากการรัฐประหาร และมีการจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) รวมทั้งการชุมนุมของคนเสื้อแดง เพื่อต่อต้านรัฐประหารอย่างแพร่หลาย และมีการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์และองคมนตรีในการรัฐประหาร

ปี 2552 ภายใต้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการชุมนุมของคนเสื้อแดงและการใช้กำลังทหารสลายการชุมนุม จากการบันทึกข้อมูลของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พบว่าการดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มสูงขึ้นในช่วงระหว่างและหลังการสลายการชุมนุมในปี 2553 มากกว่าช่วงปี 2552

ปี 2558 ภายใต้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการรัฐประหารโดย คสช. มีการจับกุมผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลด้วยมาตรา 112 เป็นจำนวนมาก ขณะที่ในปี 2560 iLaw รายงานว่า ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองจากการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตามมาด้วยความโกรธแค้นของประชาชน การระบายออกท่ามกลางความอึดอัด และการดำเนินคดีจำนวนหนึ่งตามมา ซึ่งมีเหตุจากช่วงปลายปี 2559 ทำให้มีสถิติจำนวนคดีที่สูงขึ้นเช่นกัน

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ สถิติน่าสนใจเนื่องในวันครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook