''ราเกซ''เริ่มแย้มรายชื่อ

''ราเกซ''เริ่มแย้มรายชื่อ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นักการเมืองพัวพันบีบีซีเมียคนไทยโผล่เยี่ยมผัว

เมียชาวไทยของราเกซเข้าเรือนจำเยี่ยมผัวเป็นครั้งแรก ขณะที่พ่อมดการเงินเป็นห่วงความปลอดภัยของครอบครัว เพราะเริ่มแย้มถึงนักการเมืองบางคนที่มีเอี่ยวโกงเงินแบงก์บีบีซี ให้กับเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันฟัง ส่วนอธิบดีดีเอสไอ ระบุ ผู้ต้องหายังไม่ยอมให้การอะไร และไม่ได้ร้องขอให้ส่งกำลังไปดูแลอารักขาลูกเมีย ด้าน จตุพร ได้ทีขุดผีขึ้นจากหลุมมาทวงสัญญา สุเทพ ที่เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของอดีตนายกฯ บรรหาร เมื่อปี 39 ว่ามีคนของพรรคชาติไทยรับเงิน ราเกซ เป็นค่าเปิดทางให้หลบหนีออกนอก ซ้ำยังโวหากได้เป็น มท.1 จะจับ เติ้ง ดำเนินคดี แต่ตอนนี้เป็นรองนายกฯ ดูแล สตช. กลับไม่จับแถมยังทำผิดเสียเอง

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการดำเนินคดี นายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษาธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ หรือบีบีซี ผู้ต้องหาคดียักยอกเงินกว่า 3 พันล้านบาทของ บีบีซีที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มาว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์ รักษาการ ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการควบคุมตัว นายราเกซ ว่า นายราเกซ มีสุขภาพร่างกายดีขึ้น หน้าตาสดใส โดยแพทย์ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่ตรวจร่างกายนายราเกซ รายงานว่า นายราเกซ มีอาการปกติ ส่วนอาการอัมพฤกษ์ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ ภรรยาชาวไทยของนายราเกซ เข้าเยี่ยม นายราเกซ ตามระเบียบ ที่เรือนจำกำหนด คือ เยี่ยมได้วันละ 1 ครั้ง ใช้เวลา 20 นาที

ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กล่าวอีกว่า ในส่วนของมาตรการรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ได้ผลัดเปลี่ยนกันมาเข้าเวรรักษาความปลอดภัยร่วมกับผู้คุมของเรือนจำตลอด 24 ชม. โดยเป็นการควบคุมผ่านระบบกล้องวงจรปิด

ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวจากกรมราชทัณฑ์แจ้งว่า ภายหลังการใช้ชีวิตในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นวันที่ 6 นายราเกซ เริ่มคุยกับเพื่อนผู้ต้องขังถึงผู้ร่วมกระทำความผิด ในคดียักยอกเงินบีบีซีว่ามีความเชื่อมโยงกับนักการเมืองบางคน โดยนายราเกซมีความวิตกกังวลและเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของภรรยาที่อยู่นอกเรือนจำ อย่างไรก็ตาม หากมีข้อมูลว่าภรรยาและญาติของนายราเกซอาจอยู่ในอันตรายหรือถูกคุกคาม กรมราชทัณฑ์จะประสานดีเอสไอหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้ส่งกำลังไปดูแลความปลอดภัย ภรรยานายราเกซ

ส่วน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ขณะ นี้นายราเกซยังไม่ร้องขอความคุ้มครองใด ๆ และยังไม่ให้การกับเจ้าหน้าที่ แม้ว่านายราเกซ จะอยู่ในฐานะผู้ต้องหาในคดีอาญา จึงไม่อยู่ในข่ายพยานที่มีสิทธิร้องขอการคุ้มครองพยานตามกฎหมาย แต่นายราเกซถือเป็นผู้ต้องหาที่มีข้อมูลสำคัญ หากนายราเกซ เกรงว่าครอบครัวและญาติมิตรอาจตกอยู่ในอันตราย ก็มีเหตุผลเพียงพอที่สามารถร้องขอให้ดีเอสไอส่งเจ้าหน้า ที่ไปดูแลความปลอดภัยให้กับญาติพี่น้องได้

อธิบดีดีเอสไอ กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีนักการเมืองคนใกล้ชิดกับรัฐบาลชุดปัจจุบันพัวพันในคดีนี้ ดีเอสไอยังไม่ได้รับการประสานให้ตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว โดยสำนวนการสอบสวนคดีของนายราเกซตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด เพราะคดีนี้เกิดขึ้นก่อนการก่อตั้งดีเอสไอ อย่างไรก็ตาม หากมีฝ่ายใดจะยื่นเรื่องร้องขอให้ดีเอสไอตรวจสอบหานักการเมืองที่เกี่ยวข้องก็สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอน ซึ่งดีเอสไอจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลหลักฐานเบื้องต้นรวมทั้งพิจารณาว่าเป็นเรื่องที่ตำรวจตรวจสอบไปแล้วหรืด้วย

ด้าน นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยอมรับว่าให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยของนายราเกซ แต่ไม่ได้ให้เพราะนายราเกซเป็นผู้ต้องหาที่มีเงินมาก แต่เป็นเพราะนายราเกซเป็นผู้ต้องหาในคดีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหลายกลุ่มจึงมีความจำเป็นต้องเข้มงวดเรื่องการรักษาความปลอดภัย และถ้ามีโอกาสว่าง ๆ จะเข้าไปพบนายราเกซอีก

วันเดียวกันนี้ นายสมพร แย้มนิล อัยการพิเศษฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 3 หนึ่งในคณะทำงานอัยการคดีนายราเกซ กล่าวปฏิเสธกระแสข่าวที่ระบุว่าคณะทำงานอัยการตีกลับสำนวนการสอบปากคำนายราเกซ ของพนักงานสอบสวน บช.ก. ว่า ในการประชุม คณะทำงานอัยการ เมื่อวันที่ 5พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมพบข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวน 2 ประเด็น เกี่ยวกับการแปลเอกสารภาษาอังกฤษ ที่แนบมากับคำสั่งศาลแคนาดาในคดีส่งตัวนายราเกซเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งประกอบมาในสำนวน และเรื่องการแจ้งสิทธิต่อสู้คดีให้ผู้ต้องหาทราบ ตามประมวลกฎมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 อัยการจึงได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนไปสอบเพิ่มเติมในทั้งสองประเด็น ทั้งยังกำชับให้ดำเนินการโดยเร็ว

ข่าวที่ออกมาน่าจะเป็นการเข้าใจผิด เพราะคณะทำงานอัยการให้ตำรวจไปสอบสวนเพิ่มเติมไม่ใช่ตีกลับสำนวน และยังเร่งรัดให้ดำเนินการโดยเร็ว ซึ่งเชื่อว่าพนักงานสอบสวนกำลังเร่งดำเนินการอยู่ ทั้งนี้หากพนักงานสอบสวนส่งสำนวนสอบเพิ่มเติมมาครบถ้วนแล้ว เชื่อว่าอัยการจะยื่นฟ้องนายราเกซได้ก่อนครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 2 ในวันที่ 11 พ.ย.นี้ นายสมพร กล่าวตอนท้าย

ที่รัฐสภา ตอนบ่ายวันเดียวกัน มีการ ประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ได้ตั้งกระทู้สดถาม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับ นายราเกซ ผู้สร้างความเสียหายให้กับบีบีซี ว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2539 นายสุเทพ สมัยที่เป็นฝ่ายค้านเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องนี้ในสมัยรัฐบาลที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็น นายกรัฐมนตรี ว่า มีคนของพรรคชาติไทย ร่วมยักยอกเงินของบีบีซีด้วย โดยให้คนในรัฐบาลเรียกเงินจากนายราเกซ 20 ล้านบาท เพื่อให้การถูกดำเนินคดียืดเวลาออกไป พร้อมทั้งระบุอีกว่า มีสุภาพสตรีคนหนึ่งไปรับเงินใส่ กล่องสีน้ำตาล ก่อนที่นายราเกซ จะหลบหนีออกนอกประเทศไปอย่างง่ายดาย และยังอภิปรายด้วยว่า อดีตนายกฯให้ลูกสาวโทรฯคุยกับนายราเกซถึง 5 ครั้ง

นายจตุพร กล่าวต่อว่า หากข้อเท็จจริงชัดเจนขนาดนี้แสดงว่า นายบรรหาร ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ใช้ตำแหน่งเจ้าพนักงานโดยมิชอบจูงใจให้ผู้อื่นนำทรัพย์สินมาให้ ทั้ง 2 ข้อหามีอายุความ 15 ปี นายสุเทพ ยังนำพยานหลักฐานเอกสารและบันทึกข้อเท็จจริงจากนายราเกซ ว่า นายบรรหาร มีความผิดตามกฎหมาย และระบุด้วยว่า หากได้เป็น รมว.มหาดไทย จะจับนายบรรหารให้ได้ภายใน 2 เดือน แต่ขณะนี้ นายสุเทพ มีหน้าที่ดูแล สตช.จึงขอถามว่าจะดำเนินคดีกับนายบรรหาร หรือไม่ เหตุใดไม่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ และยังยืนยันที่เคยอภิปรายว่ามีหลักฐานเป็นเช็คของธนาคารแหลมทองสำนักงานใหญ่อยู่หรือไม่

นายสุเทพ ชี้แจงว่า ตนได้ทำหน้าที่ ส.ส.ฝ่ายค้านตรวจสอบรัฐบาลครบถ้วนกระบวน ความและรวบรวมเอกสารเท่าที่ทำได้ ตนไม่มีหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลที่ตนอภิปราย คนที่ต้องร้องทุกข์กล่าวโทษคือผู้เสียหาย และ กรณีนี้คนที่ร้องทุกข์กล่าวโทษกรณีธนาคารบีบีซี คือธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารบีบีซีก็ไปร้องทุกข์เพราะเป็นผู้เสียหาย ส่วนเอกสารก็หาได้ที่สภา ส่วนตนก็มีสำเนาอยู่แต่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์อะไร

ายจตุพร ถามต่ออีกว่า นายสุเทพ เคยอภิปรายตอนหนึ่งว่า พรรคชาติไทยมีการนำเงินนายราเกซมาใช้ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2538 และยังอภิปรายด้วยว่าได้ต้นขั้วเช็ค 75 ล้านบาท และเห็นต้นตอการฟอกเงิน จึงถามว่าเมื่อนายสุเทพ อภิปรายระบุข้อเท็จจริงว่านายบรรหารกระทำความผิดตามมาตรา 40 ของพ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ. 2524 ในขณะนั้น ฐานรับเงินจากผู้ไม่มีสัญชาติไทย ต้องจำคุก 2-10 ปี ซึ่งหมดอายุความในปี พ.ศ. 2553 และเมื่อนายสุเทพยืนยันเองว่านายราเกซเป็นชาวต่างชาติ เป็นประชาชนประเทศอินเดีย จึงถามว่าเมื่อนายสุเทพและพวกยืนยันหลักฐานเช็คต้นขั้วเรียกเงิน 75 ล้านที่เป็น ของพรรคชาติไทย นายสุเทพยังยืนยันหลักฐานนี้หรือไม่ และในขณะที่นายราเกซถูกจับกุมตัวมายังประเทศไทย เหตุใดนายสุเทพไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษเข้าสู่กระบวนการทางอาญา เพื่อจำคุกนายบรรหารและพรรคพวก ทั้งที่เคยพูดในการอภิปรายไว้ว่าหากให้นายสุเทพเป็น รมว.มหาดไทย ภายใน 2 เดือน จะจับนายบรรหารให้ดู

นายสุเทพ ชี้แจงว่า ตอนอภิปรายจบได้นำพยานหลักฐานส่งให้ประธานสภา ในความคิดของตนได้ปฏิบัติหน้าที่การเป็น ส.ส. ฝ่ายค้านแล้วในการตรวจสอบฝ่ายบริหารสมัยนั้นยังไม่มีองค์กรอิสระเหมือนสมัยนี้ ไม่มีกกต. ถ้ามีตนคงทำเหมือนยื่นเรื่องยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนอย่างที่ทำมา ส่วนเรื่องนี้ใครผิดใครถูก เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องดำเนินการเมื่อมีคนร้องทุกข์

นายจตุพร กล่าวต่อว่า การที่นาย สุเทพอภิปรายไม่ไว้วางใจนายบรรหารมีหลาย ประเด็นและนำสู่การล้มลงของรัฐบาลนายบรรหาร แต่สุดท้ายเมื่อธนาคารบีบีซีล้ม นาย สุเทพ กลับไปหาประโยชน์เสียเอง โดยเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2540 นายสุเทพ แจ้งบัญชีทรัพย์สินหนี้สินก่อนเข้ารับตำแหน่ง รมว.คมนาคมในช่วงรัฐบาลชวน 2 ว่า เป็นหนี้ 3 ธนาคาร เป็นเงิน 65 ล้านบาท แต่เมื่อแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินอีกครั้งเมื่อ 14 ก.พ. 2544 หนี้สินดังกล่าวกลับหายวับไป ทั้งที่ ไม่มีรายได้อย่างอื่นนอกจากรายได้ที่ได้จากตำแหน่ง รมต. และ ส.ส. แค่ปีละ 1.2 ล้าน แล้วทำไมตอนนี้ นายสุเทพเป็นรองนายกฯ ที่กำกับดูแล สตช. จึงไม่ดำเนินการกับนายบรรหาร และเมื่อเป็น รมต.กลับกระทำผิดเสียเอง โดยเสกหนี้ให้หายวับภายใน 3 ปี 3 เดือน ทั้งที่มีรายได้รวมแล้วแค่ 3 ล้านกว่าบาท

นายสุเทพ ตอบว่า ตนรับผิดชอบในคำอภิปรายที่บันทึกไว้ เอกสารหลักฐานที่บันทึกไว้ได้ส่งให้ประธานสภาแล้ว และตำรวจมาขอหลักฐานรวมทั้งคำอภิปรายตาม ขั้นตอนแล้ว ส่วนมีการอภิปรายที่พาดพิงพรรคประชาธิปัตย์ว่าพรรคประชาธิปัตย์ใช้วิธีพิเศษมาเป็นรัฐบาลนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากรัฐบาล พล.อ.ชวลิตล้มเพราะไปลดค่าเงินบาทและถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วท่านก็ลาออก เอง พรรคประชาธิปัตย์จึงเข้ามาเป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ไม่จับกุมนายบรรหาร เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่และหากนายราเกซซัดทอดใคร เจ้าหน้าที่ก็สามารถ ตั้งต้นคดีใหม่ได้.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook