จับตาร่าง พ.ร.ก.โรคติดต่อ คาด ศบค.แปลงกาย พร้อมคุ้มครองบุคลากร-ป้องกันถูกฟ้องคดี

จับตาร่าง พ.ร.ก.โรคติดต่อ คาด ศบค.แปลงกาย พร้อมคุ้มครองบุคลากร-ป้องกันถูกฟ้องคดี

จับตาร่าง พ.ร.ก.โรคติดต่อ คาด ศบค.แปลงกาย พร้อมคุ้มครองบุคลากร-ป้องกันถูกฟ้องคดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาสแกนกันดูว่าในร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มีอะไรน่าสนใจกันบ้าง ที่มีกระแสข่าวออกมาว่าเป็นแปลงกายของ ศบค. รวมทั้งมีการนิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน จะเป็นจริงหรือไม่

หลังจากที่เงื้อง่ามาอยู่นานพอสมควรในการแก้ไขพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่สุดแล้วเมื่อวานนี้ (21 ก.ย.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนด (ร่าง พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม ขอไล่เรียงไทม์ไลน์ให้คุณผู้อ่านเห็นภาพกันซักนิดก่อนที่จะไปลงรายละเอียดในเนื้อหาของกฎหมายฉบับที่แก้ไขกันนะครับ เดิมทีเดียวเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 63 ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเสนอว่า

  1. ด้วยในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ได้แพร่อย่างรวดเร็วและกว้างขวางไปทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ (Pandemic) ซึ่งประเทศไทยได้ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และประกาศให้ท้องที่นอกราชอาณาจักรบางท้องที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย รวมทั้งได้มีการอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และได้ออกข้อกำหนด ประกาศและคำสั่งตามพระราชกำหนดดังกล่าวเพื่อให้ส่วนราชการนำไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลานาน ซึ่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สามารถรองรับหรือใช้บังคับกับบางสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หรือโรคติดต่อได้ ทำให้มาตรการทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งหากมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตามข้อ 1. แล้ว ย่อมส่งผลให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่ได้ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ถูกยกเลิกตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อให้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 สามารถใช้ดำเนินการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด 19 หรือโรคติดต่อได้อย่างทันสถานการณ์และมีประสิทธิภาพ จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ให้มีความครอบคลุมและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และสามารถรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ รวมทั้งกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่ให้แยกกัก หรือกักกันโรค หรือผู้ที่ไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคเมื่อพบว่าตนเป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคติดต่อ เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศหลีกเลี่ยงการกักตัวโดยหน่วยงานของรัฐ

จนกระทั่งเมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำรายละเอียดของร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือที่รู้จักกันในชื่อ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมบุคลากรสาธารณสุขฯ ซึ่งทำให้ถูกหลายฝ่ายในสังคมออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากไม่เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเร่งรีบออกเป็น พ.ร.ก. อีกทั้งในช่วงเวลานั้นยังอยู่ในช่วงเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญซึ่งสามารถนำร่างกฎหมายฉบับนี้ไปพิจารณาในรูปแบบ พ.ร.บ. ได้

รวมถึงความกังวลว่าการนิรโทษกรรมดังกล่าวจะเหมารวมไปถึงบรรดาผู้กำหนดนโยบายการบริหารสถานการณ์โควิดที่หลายฝ่ายสงสัยว่าจะมีข้อผิดพลาด แม้ว่าผู้บริหารระดับสูงทั้งในกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลจะออกมากล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าการออก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่ให้ต้องมากังวลกับการจะถูกฟ้องร้องในอนาคตก็ตาม

สุดท้ายแล้วเมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติให้นำเอาเนื้อหาของร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปใส่ไว้ในร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เคยมีมติอนุมัติหลักการไว้ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว ก่อนที่เมื่อวานนี้จะสรุปจบเรียบร้อยโรงเรียนไทยคู่ฟ้าด้วยการไฟเขียวกฎหมายทั้ง 2 ฉบับให้มาอยู่รวมกันในฉบับเดียวภายใต้ชื่อ ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ศ. .... นั่นเอง

โดยหลังจากนี้ก็จะเหลือเพียงแค่ขั้นตอนการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งเท่าที่เรียบๆ เคียงๆ มาจากแหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุข มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ ต.ค.นี้เป็นต้นไป เนื่องจากรัฐบาลจะได้ไม่ต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่จะครบกำหนดในวันที่ 30 ก.ย. ซึ่งหากไม่ได้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จริง ก็จะส่งผลให้ ศบค. ต้องสลายตัวไปโดยปริยายเช่นกัน เพราะ ศบค. ตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 7 วรรคห้า ถึงแม้ว่า อ.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล จะระบุว่า ในที่ประชุม ครม. เมื่อวานนี้ไม่ได้มีวาระพิจารณาเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือยุบ ศบค. ตามที่มีบางสื่อรายงานข่าวแต่อย่างใด พร้อมย้ำว่าไม่มีการนิรโทษกรรมฝ่ายบริหาร มีแต่คุ้มครองผู้ปฏิบัติหน้าที่ และร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ จะมีผลบังคับใช้เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา

แปลงกาย ศบค. ไปอยู่ในร่าง พ.ร.ก.โรคติดต่อ

เอาล่ะ ทีนี้มาลองไล่กันดูในเนื้อหาของร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ กันดูบ้าง (เพื่อให้กระชับๆ ไม่ยาวเกินไป หลังจากนี้จะใช้ว่าร่าง พ.ร.ก.โรคติดต่อ นะครับ) แต่ต้องบอกก่อนว่าเนื้อหาที่นำมาเสนอให้คุณผู้อ่านเป็นการพูดคุยกับแหล่งข่าวที่เป็นผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข เพราะเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ผมยังไม่มีโอกาสได้เห็นจนกว่าจะมีการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาครับ

จุดที่ต้องโฟกัสกันก็คือ กฎหมายฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจะยกระดับการทำงานของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้มีความใกล้เคียงกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยในสถานการณ์ปกติซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ อยู่บ้างแต่ไม่รุนแรงหรืออันตรายเข้าขั้นวิกฤต องค์ประกอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ ขณะที่กรรมการจะประกอบด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมอนามัย อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้แทนแพทยสภา ผู้แทนสภาการพยาบาล ผู้แทนสภาเทคนิคการแพทย์ และผู้แทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชน จํานวนแห่งละ 1 คน

ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการสาธารณสุข การควบคุมโรค และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ จํานวน 4 คน โดยในจํานวนนี้ต้องแต่งตั้งจากองค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่เป็นการแสวงหาผลกําไรและดําเนินกิจกรรมด้านการสาธารณสุข อย่างน้อย 1 คน ให้อธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้อํานวยการสํานักโรคติดต่อทั่วไปเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคนที่หนึ่ง และผู้อํานวยการสํานักระบาดวิทยาเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคนที่สอง

แต่หากเป็นภาวะที่เกิดโรคระบาดร้ายแรงอันตราย จะมีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ขึ้นมากำกับดูแลการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สามารถสั่งการกระทรวงต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา รวมทั้งนายกฯ ยังสามารถแต่งตั้งเลขานุการร่วมขึ้นมาทำงานควบคู่กับอธิบดีกรมควบคุมโรคซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติอยู่แล้ว

ทั้งนี้ องค์ประกอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากจะมีคณะกรรมการชุดเดียวกับในภาวะปกติแล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญที่นายกฯ สามารถที่จะแต่งตั้งเข้ามาเพิ่มเติมได้ อาทิ ตัวแทนจากกระทรวงต่างๆ และฝ่ายความมั่นคง ส่วนจะมาจากหน่วยงานใดบ้างขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉินจะพิจารณา

นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะมีอำนาจหน้าที่เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ (ในภาวะปกติ) มีอำนาจหน้าที่เฉพาะด้านสาธารณสุข แต่จะมีการโอนย้ายผ่องถ่ายเนื้องานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ศบค.ชุดใหญ่ ให้มาอยู่ในมือของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉินแทน โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ด้านสังคมซึ่งจะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะมีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์หรือข้อกำหนดต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น การสั่งเปิด-ปิดกิจการขนาดใหญ่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

และอีกจุดที่แหล่งข่าวชี้ให้พิจารณาก็คือ เนื้อหาที่เป็นการปกป้องคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการถูกฟ้องร้องทางปกครองและไม่ต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข จนทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่าจะเป็นการสอดไส้เพื่อนิรโทษกรรมบรรดาผู้บริหารที่เป็นผู้กำหนดนโยบายด้วยหรือไม่

ข้อสังเกตน่าสนใจในร่าง พ.ร.ก.โรคติดต่อ มีดังนี้

  • องค์ประกอบของ “คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรรมการในภาวะปกติเดิมเป็นกรรมการ และนายกรัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งเพิ่มเติมกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญได้อีก 4 คน

  • คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในภาวะปกติ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ และกรรมการโดยตำแหน่ง/ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 29 คน (เหมือนเดิมกับที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558)

  • บทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขนั้น กำหนดให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของ ครม. สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในพื้นที่ต่างๆ โดยกำหนดให้มีระยะเวลาได้ไม่เกิน 3 เดือนนับตั้งแต่วันประกาศ และขยายได้คราวละไม่เกิน 3 เดือน

  • บทบัญญัติในเรื่องการรับผิดนั้น มาตรา 44/11 ระบุว่า ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง มาตรการ หรือการกระทำที่คณะกรรมการกำหนดหรือดำเนินการตามหมวดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข "จะไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง และโดยให้มีผลใช้บังคับตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดเฉพาะในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข"

  • เพิ่มข้อความในมาตรา 48 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งระบุไว้ว่า "ในการดําเนินการของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัตินี้ หากเกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลใดจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรค ให้ทางราชการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้นั้นตามความจําเป็น การชดเชยความเสียหายตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง" โดยในร่าง พ.ร.ก.โรคติดต่อ มีการเพิ่มเติมข้อความว่า "ความในวรรคหนึ่งไม่ใช่บังคับแก่กรณีที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข" ซึ่งหมายความว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมาตรการหรือนโยบายใดๆ ที่บังคับใช้ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขนั้น รัฐไม่ต้องชดเชยความเสียหายแต่อย่างใด

และทั้งหมดนี้ก็คือ เนื้อหาที่น่าสนใจในร่าง พ.ร.ก.โรคติดต่อ ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่นานนับจากนี้ครับ แต่ผมขอดอกจันไว้ตรงนี้นิดนึงนะครับว่าอาจจะมีโอกาสผิดพลาดได้อยู่บ้างนะครับ เพราะอย่างที่อธิบายไปข้างต้นว่ามีการขยับปรับเปลี่ยนกันพอสมควรกว่าที่จะคลอดออกมาจากที่ประชุม ครม. เมื่อวานนี้

เอาเป็นว่าคงต้องรอดูกฎหมายฉบับนี้ตัวเต็มกันอีกทีหนึ่งว่าจะออกมาเป็นแบบไหน โดยเฉพาะการจำแลงแปลงกายของ ศบค. และการจำกัดความรับผิดหรือนิรโทษกรรมที่จะขีดวงไว้ให้กับเจ้าหน้าที่บุคลากรสาธารณสุขเท่านั้นหรือไม่ อีกไม่นานเกินรอครับ!!!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook