ลดภาษีลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ลดภาษีลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เตรียมศึกษารูปแบบเสนอคลัง ชี้ทุกโครงการสอดคล้องแผน 10

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.กำลังศึกษาการให้สิทธิประโยชน์กับบริษัทที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศโลก เพื่อออกมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศึกษารูปแบบที่เหมาะสม และเปรียบเทียบกับต่าง ประเทศ เพื่อไม่ให้มีข้อบกพร่องในทางปฏิบัติ โดยจะทำเป็นข้อเสนอพร้อมข้อเสนอแนะให้นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ตัดสินใจ ก่อนเสนอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในวันที่ 16 พ.ย.นี้

ทั้งนี้การออกมาตรการที่จะให้สิทธิประโยชน์เป็นการชั่วคราวเท่านั้น เพราะหากให้สิทธิประโยชน์เกินไป จะทำให้ผู้ประกอบการมุ่งเน้นรับผลประโยชน์ด้านภาษีมากกว่าที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งจะได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ โดยพิจารณาว่า จะยกเว้นเงินได้จากการขายคาร์บอน แต่อาจเกิดปัญหาว่า จะหักเป็นรายจ่ายด้วยหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์ 2 ทางคือนำรายรับมาหักภาษีได้ 2 เท่าหรือนำมาหักภาษีได้บางส่วนเท่านั้น ซึ่งแนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดน่าจะยกเว้นภาษีเงินได้ แต่ห้ามนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษี เพราะอาจนำรายจ่ายจากส่วนนี้ไปรวมกับรายจ่ายส่วนอื่นเพื่อมาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มากเกินจริง

เดิมบีโอไอเป็นคนดูแลเรื่องนี้ เพื่อให้สิทธิประโยชน์กับบริษัทที่ได้รับสิทธิบีโอไอ แต่เมื่อสศค.ดูแล้ว จึงมาเริ่มที่กรอบใหญ่ว่า ต้องการให้เกิดขึ้นกับทุกองค์กร หรือเฉพาะ บริษัทที่ได้บีโอไอ หากต้องการเฉพาะบีโอไอ ก็อยู่ภายใต้กรอบบีโอไอ แต่เราเห็นว่าถ้าจะให้ทุกบริษัทเห็นความ สำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจก ควรให้กรมสรรพากรดูแลให้ เป็นระบบภาษีรวม ภายใต้ประมวลกฎหมายรัษฎากร เพราะการสนับสนุนให้ลดก๊าซเรือนกระจก นอกจากเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังดีต่อประเทศที่มีรายได้จากการขายคาร์บอนด้วย

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า หลัง จาก ครม.เห็นชอบแผนการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของประเทศไทยเพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนซีทีเอฟ ของธนาคารโลก แล้ว กระทรวงการคลังต้องเจรจารายละเอียดกับธนาคารโลกทั้งเงื่อนไขการกู้เงิน วงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาการกู้ ก่อนเสนอให้ครม.พิจารณาเห็นชอบและนำเข้าสู่กระบวนการรัฐสภาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ก่อนจะกู้อย่างเป็นทางการต่อไป

แต่ละโครงการถือว่าสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ปี 51-65 และมีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook