ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชากับความยิ่งใหญ่ของมิตรภาพ (ตอนที่ 2) : ความเห็น-ผลกระทบ-คำวิงวอน

ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชากับความยิ่งใหญ่ของมิตรภาพ (ตอนที่ 2) : ความเห็น-ผลกระทบ-คำวิงวอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวแห่งชาติได้นำลำดับเหตุการณ์ รวมทั้งการโต้ตอบทางการทูตมาอธิบายให้เข้าใจภาพรวมในระดับหนึ่งแล้ว ในตอนนี้จะเป็นการกล่าวถึงความเห็นต่าง ๆ ต่อความขัดแย้งในครั้งนี้ รวมทั้งภาพรวมของผลกระทบ และเสียงวิงวอนจากภาคธุรกิจ ความเห็นภายในประเทศไทย ต่อกรณีการดำเนินการตอบโต้ทางการทูตของไทย นายเตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความเห็นว่าการเรียกทูตไทยกลับประเทศเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว และการยกเลิก MOU พื้นที่ทับซ้อนส่งผลกระทบต่อประเทศไทยไม่มากนัก โดยมองว่าการยกเลิก MOU จะทำให้ได้รับผลกระทบทั้ง 2 ฝ่าย แต่คงจะไม่มากเนื่องจากทรัพยากรยังคงไม่สูญหายไปไหน เพียงแต่ไม่ได้นำออกมาใช้ โดยการหาทางออกในกรณีความขัดแย้งนี้ นายเตชให้ความเห็นว่ารัฐบาลควรมีการหารือให้มีเอกภาพก่อนจะไปเจรจากัมพูชา ด้าน นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความแห็นว่า ความขัดแย้งเรื่องการแต่งตั้งทักษิณ ทำให้นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ได้ "แสดงความพยาบาท ต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย โดยฮุนเซนนั้น ต้องการทำให้นายอภิสิทธิ์ขายหน้า หลังจากที่ไทยปฏิเสธที่จะเจรจากับกัมพูชา กรณีข้อพิพาทเรื่องเขาพระวิหาร และหลังจากที่ครั้งหนึ่ง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศไทย ตราหน้าว่า เป็นอันธพาล ความเห็นและเสียงตอบรับของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินกิจการระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก สำหรับกรณีความขัดแย้งที่ทางรัฐบาลไทยมีการตอบโต้ทางการทูตที่ชัดเจนสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์บ้าง แต่เสียงสะท้อนกลับประชาชนกลับเป็นที่น่าพอใจ และน่าจะเป็นกำลังใจที่ดีสำหรับผู้บริหารประเทศในการยืนหยัดรักษาศักดิ์ศรีประเทศไทยได้ต่อไป โดยผลสำรวจที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นี้มีดังนี้ เอแบคโพล เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องคะแนนนิยมระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ กับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยใช้การสัมภาษณ์แบบเรียลไทม์วันที่ 6 พ.ย. จำนวน 1,127 ครัวเรือนใน 17 จังหวัด พบว่า นายอภิสิทธิ์ ได้คะแนนสนับสนุนร้อยละ 60.0 ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ 21.0 ขณะเดียวกันร้อยละ 77.9 ยังให้โอกาสรัฐบาลนี้ทำงานต่อไป มีเพียงร้อยละ 14.5 ที่ไม่ให้โอกาสรัฐบาลทำงาน ขณะเดียวกันร้อยละ 71.3 กังวลว่าการแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาของผู้นำกัมพูชาอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายระหว่างไทย-กัมพูชา นอกจากนี้ร้อยละ 70 ยังระบุว่าการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และ พล.อ. ชวลิต ไม่ได้ทำเพื่อประเทศไทย อย่างไรก็ตามร้อยละ 58.7 หวังว่าทั้งสองประเทศจะจับมือกันพัฒนาเศรษฐกิจ และสวนดุสิตโพล ทำการสำรวจในช่วงวันที่ 5-7 พ.ย. จากบุคคลทั่วไป 1,652 คน พบว่าค่อนข้างพอใจบทบาทของนายอภิสิทธิ์ ต่อการแก้ไขปัญหากรณีที่รัฐบาลกัมพูชา แต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ ความเห็นจากภายนอก สำนักข่าวต่างประเทศให้ความสนใจกับประเด็นความขัดแย้งไทย-กัมพูชาในครั้งนี้มาก เนื่องจากเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 15 ไม่ว่าจะในฐานะประธานอาเซียน เจ้าภาพจัดการประชุม หรือแม้กระทั่งในฐานะเพื่อนบ้าน จึงถือว่าความท้าทายของกัมพูชาในครั้งนี้เป็นการบั่นทอนศักดิ์ศรีของประเทศไทย โดยขาดความคำนึงด้านสัมพันธ์ทางการทูตและความร่วมมือต่าง ๆ สำนักข่าวเอเอฟพี ได้รายงานโดยอ้างความเห็นของนักวิเคราะห์ว่าการเยือนกัมพูชาของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เป็นประโยชน์ต่างตอบแทนทั้งต่อตัวทักษิณเอง และนายกรัฐมนตรีฮุนเซน แต่ความเคลื่อนไหวนี้ อาจจะทำให้ไทยและกัมพูชา กลับไปสู่การเผชิญหน้ากันตามแนวชายแดนทีรื่องพิพาทกรณีเขาพระวิหารอีก และได้ให้ความเห็นเตือนว่าผู้นำไทยต้องอดทนต่อแรงยั่วยุอันจงใจ และอย่าตอบโต้เกินกว่าเหตุ "สถานการณ์ใหม่นี้ขับเคลื่อนให้ไทยและกัมพูชาขยับใกล้ความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้มากยิ่งขึ้น พอล แชมเบอร์ส นักวิจัยด้านการเมืองไทยแห่งมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ในเยอรมนี แสดงความเห็น นอกจากนี้สำนักข่าวเอเอฟพียังระบุตามความเห็นของนักวิเคราะห์อีกด้วยว่า ผู้นำกัมพูชายังพยายามสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลไทยอีกด้วย เนื่องจากความรู้สึกเป็นปรปักษ์ตามประวัติศาสตร์ ผลกระทบ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาว่าส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และเสถียรภาพของอาเซียน แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการก้าวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ภายในปี 2558 อย่างแน่นอน โดยนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กระทบต่อภาพลักษณ์ของอาเซียน และบั่นทอนเสถียรภาพของอาเซียน แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อเป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยคาดหวังว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาทางการเมืองที่น่าจะเกิดผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น ส่วนการเจรจาอื่นๆ ด้านการค้าและการทำธุรกิจระหว่างกันนั้นยังคงดำเนินต่อไปตามปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่จะลืมไม่ได้ก็คือ กัมพูชาเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าไทยเป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละปี ในขณะที่การค้าชายแดนทั้งหมดของไทยมีมูลค่าถึง 50,000 ล้านบาทการค้าชายแดนที่กัมพูชาเป็นตลาดใหญ่โดยคิดเป็นตัวเลข ได้ถึงร้อยละ 80 เท่าที่ผ่านมา สินค้าไทยเป็นที่นิยมของชาวกัมพูชา ด้วยทั้งความพยายามในการบุกเบิกตลาดของผู้ประกอบการไทย และคุณภาพของสินค้าไทยที่ถือได้ว่ามีคุณภาพสูงกว่าสินค้าจากประเทศอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง ๆ นั้นสามารถแจกแจงได้ดังนี้ 1. สิ่งแรกที่เป็นแรงกระทบจากเหตุความขัดแย้งในครั้งนี้ก็คือ ความรู้สึกของทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชา โดยเฉพาะตามแนวตะเข็บชายแดนที่มีการค้าขายระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ระดับรากหญ้าไปจนถึงระดับอุตสาหกรรม โดยเฉพาะชาวกัมพูชาที่ผ่านประสบการณ์การเกิดสงครามในประเทศมาแล้ว ย่อมเกิดความตระหนกต่อสถานการณ์ ส่วนชาวไทยเองก็เกิดความหวั่นวิตกว่าเหตุการณ์จะทำให้ชาวกัมพูชาลดความนิยมในสินค้าไทยลงไป 2. แม้จะมีการออกมายืนยันจากทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลในครั้งนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการค้าในภาพรวมมากนัก แต่ในระดับรายละเอียด ผู้ประกอบการไทยในกัมพูชาจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อม และเตรียมตัวต่อเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ สิ่งที่เกิดตามมาจากการมีข่าวความขัดแย้งคือ ความพยายามในการกักตุนสินค้าของชาวกัมพูชา ซึ่งเกรงว่าจะเกิดเหตุบานปลายจนกระทั่งเกิดการปิดด่าน และจะทำให้สินค้าขาดตลาด ความพยายามในการกักตุนสินค้าเป็นผลให้มีการสั่งสินค้าจากผู้ประกอบการชาวไทยเข้ามาเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ผู้ประกอบการชาวไทยซึ่งยังคงไม่มั่นใจในสถานการณ์ก็ไม่อาจส่งสินค้าได้ตามคำสั่งสินค้าได้ทั้งหมด ด้วยปัญหาเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงิน โกดังสินค้า หรือแม้กระทั่งความมั่นใจในความปลอดภัยของสถานการณ์ 3. นอกจากผู้ประกอบการชาวไทยในกัมพูชาแล้ว โรงงานต่าง ๆ ในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง และความหวั่นวิตกต่อสถานการณ์นี้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานที่มีการจ้างแรงงานชาวกัมพูชาที่หลั่งไหลเข้ามาขุดทองในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้ง ก็มีแรงงานชาวกัมพูชาบางส่วนที่เดินทางบประเทศของตนเอง หากเหตุการณ์บานปลายจนมีการเดินทางกลับประเทศของชาวกัมพูชาจำนวนมาก จะส่งผลให้กำลังการผลิตของโรงงานในประเทศไทยลดลง และส่งผลกระทบเป็นทอด ๆ ต่อการส่งออกและการค้าในด้านอื่น ๆ ต่อไป เสียงวิงวอนจากภาคธุรกิจ ในการเสวนาเรื่อง "หัวอกคนไทยและธุรกิจในกัมพูชา ที่จัดขึ้นโดยความร่วมมือของโครงการอุษาคเนย์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 52 ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักธุรกิจที่คลุกคลีกับประเทศกัมพูชามาเป็นเวลานาน อาทิ สมศักดิ์ รินเรืองสิน นายกสมาคมนักธุรกิจไทยในกัมพูชา วิชัย กุลวุฒิวิลาส กรรมการผู้จัดการบริษัทสไมล์ภัณฑ์ จำกัด ปรีดา สามแก้ว กรรมการผู้จัดการบริษัท PD Intertrade 92 จำกัด สม ไชยา บก.สถานีโทรทัศน์ CTN กัมพูชา และคุณประภาพรรณ ศรีสุดา ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดไทย-กัมพูชา จากการเสวนาดังกล่าว ได้มีเสียงวิงวอนจากภาคธุรกิจว่า สิ่งสำคัญที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นก็คือ "การปิดด่าน เนื่องจากจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อผู้ประกอบการ รวมถึงชาวบ้านทั้งชาวไทยและชาวกัมพูชา นอกจากนี้นายกสมาคมนักธุรกิจไทยในกัมพูชา ได้เน้นย้ำด้วยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คืออาจมีการเกิดข่าวลือและเติมเชื้อไฟให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องมีการควบคุมเป็นอย่างดี และไม่ควรให้ปัญหากินระยะเวลายาวนานมากเกินไปนัก เพราะส่งผลกระทบต่อทั้งสองฝ่ายอย่างแน่นอน มิตรภาพ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับไทยและกัมพูชาในขณะกลายเป็นประเด็นเกี่ยวกับ "มิตรภาพ ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชา อ้างถึงมิตรภาพที่มีต่ออดีตนายกรัฐมนตรี จนถึงขั้นหักความสัมพันธ์กับคณะรัฐบาลปัจจุบันของไทยที่ทำหน้าที่บริหารประเทศ และกระทบถึงมิตรภาพระหว่างประเทศที่อยู่ร่วมภูมิภาคเดียวกัน มีชายแดนติดกัน รวมทั้งมีความตกลงต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าในระดับทวิภาคี หรือในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ยังมีเหตุผลหรือผลประโยชน์แฝงใด ๆ หรือไม่ ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีกัมพูชานำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาแลกกับมิตรภาพส่วนบุคคล รวมทั้งเหตุผลหรือผลประโยชน์ต่าง ๆ เหล่านั้นจะส่งผลเสียหรือผลดีต่อทั้งสองประเทศมากเพียงใด สิ่งเหล่านี้ยังจะต้องเป็นคำถามคาใจหลาย ๆ คนไปอีกนาน รอเพียงแค่การคลี่คลายของสถานการณ์ ที่จะค่อย ๆ เผยสิ่งที่อยู่เบื้องหลังออกมาเท่านั้น สิ่งเดียวที่พอจะทำได้ในตอนนี้ก็คือ การรักษาความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือ รวมทั้งมิตรภาพกับประเทศอื่น ๆ ไว้อย่างเหนียวแน่น อย่างน้อยก็เพื่อรักษาประโยชน์ของไทยในฐานะประเทศที่มีมิตรไมตรีอันดีต่อนานาประเทศ แม้จะมีความเห็นมากมายต่อกรณีความขัดแย้งในครั้งนี้ แต่สำนักข่าวแห่งชาติเชื่อว่า ไม่มีใครต้องการความขัดแย้งในครั้งนี้บานปลาย จนกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ ได้แต่หวังว่าผู้นำทั้งฝ่ายไทย ฝ่ายกัมพูชา หรือแม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรี จะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของทั้งสองประเทศ มากกว่าการนำความสัมพันธ์ของ เพื่อน มากระทบความสัมพันธ์อันเป็น มิตรภาพระหว่างประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook