ทีโอทีเสนอ 3จีเข้าสภาฯวันนี้

ทีโอทีเสนอ 3จีเข้าสภาฯวันนี้

ทีโอทีเสนอ 3จีเข้าสภาฯวันนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กูรูโทรคมชี้ กทช. คลอดไลเซ่น 3จีช้าไม่เสียเปรียบผู้ให้บริการมือถือหวังประมูลไลเซ่นไม่ช้ากว่าแผนเดิม เอกชนนักวิชาการร่วมประชาพิจารณ์ 3จีวันนี้

ทีโอที เดินหน้านำแผนลงทุนโครงข่าย 3จี มูลค่า 2 หมื่นล้านบาทเข้าสภาฯ วันนี้ (12 พ.ย.) รับแผนวางโครงข่ายทั่วไทย ด้าน 2 นักวิชาการชั้นนำวงการโทรคมนาคม ชี้ทีโอทีชิงให้บริการ 3 จีก่อนเป็นกลยุทธ์จำเป็นเพื่อความอยู่รอด ทั้งเพื่อมุมประชาสัมพันธ์เป็นที่จดจำแก่ลูกค้า ก่อน กทช. ให้ไลเซ่นเอกชน ขณะที่ ผู้ให้บริการมือถือหวังประมูลไลเซ่นไม่ช้ากว่าแผนเดิมมากนัก ด้านเอกชน-นักวิชาการ แห่ร่วมประชาพิจารณ์ 3จีวันนี้

นายวิเชียร นาคสีนวล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า วันนี้ (12 พ.ย.) ทีโอที จะเสนอโครงการลงทุนติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 จี ทั่วประเทศ มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท เข้าพิจารณาในสภาฯ ตาม พ.ร.บ. งบประมาณเงินกู้ หวังได้ข้อสรุปจากกระทรวงการคลัง ว่าจะค้ำประกันเงินกู้ให้ทีโอทีหรือไม่

โดย หวังว่าหากกระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้ 2 หมื่นล้านบาทให้ตาม มติ ครม. วันที่ 9 ก.ย. 2551 ก็จะส่งผลในด้านดีคือ จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่า คาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 5-8 ปี แต่หากกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันเงินกู้ให้ ทีโอที ก็ต้องยื่นกู้ด้วยตัวเอง และอาจส่งผลให้ระยะเวลาคืนทุนยืดออกไปเป็น 12 ปี

พร้อม กันนี้ ทีโอที อยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมเจรจากับผู้ให้บริการมือถือรายอื่นๆ เพื่อนำค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ไอซี) มาใช้ รวมถึงรอการตัดสินจาก คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ว่าจะกำหนดอัตราไอซีอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะต่ำกว่า 1 บาทแน่นอน

"ทีดีอาร์ไอ"หนุนทีโอทีลุย3จี


นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การที่ทีโอทีชิงให้บริการ 3จีก่อน เป็นกลยุทธ์ที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอด ใครเป็นซีอีโอก็ต้องทำเช่นนี้ ต้องอยู่ในอุตสาหกรรมที่โต และอยู่ในอนาคต เพราะอนาคตโทรศัพท์มือถือต้องเปลี่ยนจากยุค 2จีสู่ 3จี ส่วนบริการโทรศัพท์พื้นฐาน ที่เป็นเสียงก็อยู่ไม่ได้ ต้องไปอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โมบาย และดาต้า คอมมูนิเคชั่น ถ้ายังอยู่กับของเดิมสู้ไม่ได้แน่ การเริ่มต้นก่อนจึงเป็นความได้เปรียบ

อย่าง ไรก็ตาม ทีโอที ถนัดเรื่องโครงข่ายมากกว่าการตลาด จึงทำตลาดเองไม่ได้ ต้องใช้โมเดลให้เช่าใช้โครงข่าย (เอ็มวีเอ็นโอ) ซึ่งความอยู่รอดขึ้นกับจังหวะเวลา จึงต้องชิงเวลาทำตลาดก่อน เพราะถ้าตลาดยังไม่ตื่นตัว ความต้องการมีไม่มาก เท่ากับโอกาสมีไม่สูง แม้กระทั่งประเทศพัฒนาแล้วการใช้ 3จียังไม่ถึง 20% ยกเว้นเกาหลี ญี่ปุ่น

เพราะฉะนั้น การจะหาวิธีให้ประสบความสำเร็จคือ การเข้าตลาดเร็ว และหาลูกค้า 3จีที่ต้องการใช้งานดาต้ามากๆ และต้องการความเร็วสูงจริงๆ ซึ่งต้องหาตัวให้เจอ แล้วเสนอแพ็คเกจที่เหมาะสม และเก็บรักษาลูกค้าไว้ให้ได้

" โดยฐานะของทีโอทีความสามารถทางการแข่งขันไม่สูงนัก แต่ก็เป็นทางเลือกที่ต้องทำ แต่ทีโอทีต้องทำให้กระทรวงการคลังยอมรับแผนการลงทุนให้ได้ และพิสูจน์ให้เห็นถึงความโปร่งใสเรื่องการจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกัน ต้องทำแผนการตลาดที่น่าเชื่อถือ และขายไอเดียเสนอรัฐ ทั้งอาจต้องมีข้อตกลงบางอย่าง เช่นหากขยายตลาดไม่ได้ตามเป้าหมายจะต้องเปลี่ยนผู้บริหารทีโอที" นายสมเกียรติกล่าว

ด้าน นายอานุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารโทรคมนาคม กล่าวว่า กรณีทีโอที ชิงเปิดตัวบริการ 3 จี ก่อน จะไม่มีผลกระทบในแง่การตลาดในภาพรวม หรือเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ให้บริการมือถือราย อื่น แม้จะเปิดให้บริการก่อน 6 เดือนก็ตาม เนื่องจากทีโอที ยังไม่มีความพร้อมในภาพรวมเท่าใด

"การเปิดให้บริการก่อน ก็เป็นเพียงการช่วงชิงให้บริการรายแรกเท่านั้น อีกทั้งในช่วงแรกบริการจะเน้นวอยซ์ มากกว่าดาต้า เพราะฉะนั้นจึงไม่ต่าง 2 จีมากนัก เพราะทีโอทีโดยตัวเองก็รู้ว่ามีศักยภาพเท่าใด ขณะนี้ก็เพียงเปิดระบบให้เอกชนเก่งๆ มาทำตลาดให้ ซึ่งต้องใช้เวลาหลักปีจึงจะได้กลุ่มลูกค้าหลักที่จะใช้ 3 จีมาอยู่ในมือ" นายอนุภาพกล่าว

แนะทีโอทีใช้กัลริลล่า มาร์เก็ตติ้ง


นาย เชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ ประธานกรรมการ บริษัท เอ็ม คอนซัลต์ เอเชีย ผู้ให้บริการโมบาย เวอร์ชวล เน็ตเวิร์ค ( MVNO) รายหนึ่งจาก บมจ.ทีโอที กล่าวว่า ขณะนี้เป็นยุคที่ทีโอทีเข้าสู่การปรับองค์กรครั้งใหญ่ ด้วยการปรับตัวให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด จึงเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายและส่วนการทำตลาด 3 จี ให้เอกชนดำเนินการ

พร้อม มุ่งสร้างสินค้าหลักตัวใหม่ คือ โมบาย บรอดแบนด์ พร้อมใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ "กัลริลล่า มาร์เก็ตติ้ง (Guerrilla Marketing)" ที่ให้ผู้ทำตลาดรายเล็กที่มีความคล่องตัวหลายๆ รายทำตลาดแต่ละเซ็คเมนต์ ที่ชำนาญ เพื่อต่อสู้กับผู้ทำตลาดรายใหญ่ที่มีอยู่เดิม

เนื่องจากกลยุทธ์ การตลาดแบบนี้ยากต่อการคาดเดาจากคู่แข่ง และยังทำให้คู่แข่งขันเกิดความกังวลได้ เหมาะสมกับเป้าหมายเป็นคู่แข่งที่มีทรัพยากรมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของผู้ให้บริการเอ็มวีเอ็นโอ ของทีโอที อยู่ที่จะต้องช่วงชิงลูกค้าเก่าหรือสร้างลูกค้าใหม่เข้าระบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะการแข่งขันบริการ 3 จีไม่ได้แข่งที่ราคาต่ำ อีกทั้งเมื่อลูกค้า 2 จีใช้บริการได้ดีอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้ 3 จี หากไม่มีแรงจูงใจที่ดีพอ

ดีแทคกระทุ้งทีโอทีลงนามไอซี


นายทอเร่ จอห์นเซ่น ซีอีโอ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า การที่ บมจ. ทีโอที เตรียมเปิดให้บริการมือถือ 3จี ในส่วนของคลื่นความถี่ที่ได้รับสิทธิไปก่อน ในวันที่ 3 ธ.ค. นี้ ทีโอที ควระเข้ามาเซ็นสัญญาค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ไอซี) กับผู้ให้บริการมือถือรายอื่น ได้แก่ ดีแทค และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ด้วย เนื่องจากทั้งสองบริษัท จะต้องมีภาระต้นทุนด้านโครงข่ายที่ต้องรองรับการโทรเข้ามาจากมือถือ 3จี ของทีโอทีด้วย

ขณะที่ ในส่วนของการเปิดประมูลไลเซ่น 3จี คลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ของ กทช. แม้จะถูกจับตามองว่าอาจล่าช้าออกไปอีก แต่เขาเชื่อว่า จะเปิดประมูลได้ต้นปี 2553 ซึ่งหากสามารถเปิดประมูลได้เร็วขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งลดความได้เปรียบเสียเปรียบ ระหว่างใบอนุญาตใหม่ กับทีโอที ซึ่งเปิดให้บริการนำหน้าไปก่อน รวมถึงสร้างการแข่งขันบนพื้นฐานเดียวกันได้

ส่วน เรื่องการแปรสัญญาสัมปทานนั้น ดีแทค ยังไม่เห็นเอกสารใดๆ จาก บมจ. กสท โทรคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าของสัมปทานแต่ประการใด โดยถือเป็นประเด็นที่ซับซ้อน และเกี่ยวพันกับภาครัฐ รวมทั้งคาดว่าจะยังไม่เห็นการแปรสัมปทานเสร็จสิ้นในปี 2553 ดังนั้นจึงไม่ขอออกความเห็นใดๆ

กทช. หนุน 3 จีทีโอที


นาย ประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า การประมูลเพื่อลงทุนติดตั้งโครงข่าย 3 จี ของทีโอที เป็นคลื่นความถี่ที่ ทีโอทีได้รับมาตาม มติ ครม. ตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว และเมื่อได้รับโอนสิทธิ์จาก บมจ.กสท โทรคมนาคม ก็สามารถดำเนินการใดๆ ได้ และเป็นคนละเรื่องกับการจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ของ กทช.

อย่างไร ก็ตาม ผู้ที่จะเข้าประมูลต้องรู้เงื่อนไขนี้แล้วว่าทีโอทีมีโอกาสเริ่มก่อน ก็ต้องคิดถึงความเสี่ยงที่อาจมีมากขึ้น การแข่งขันที่อาจมีมากขึ้น และการเสียเปรียบจากการเข้าสู่ตลาดช้ากว่า ก็อาจจะมีผลต่อวงเงินที่แต่ละรายจะนำเข้ามาสู้ในการประมูล แต่จะมีผลต่อจำนวนผู้เข้าร่วมหรือไม่ ยังไม่ทราบ

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กทช. วานนี้ ( 11 พ.ย.) ได้อนุมัติให้ทีโอที ประกอบกิจการโทรคมนาคม 3 จี ประเภทขายส่งบริการได้ รวมถึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการแนวปฏิบัติการโอนย้ายเลขหมาย ตามหลักเกณฑ์การคงสิทธิเลขหมาย และให้มีคำสั่งทางปกครองเพื่อให้มั่นใจว่า ผู้ให้บริการจะสามารถให้บริการได้ประมาณ 9 เดือนหลังจากมีคำสั่ง จากที่เอกชนเสนอมา 15 เดือน ซึ่ง กทช. เห็นว่านานเกินไป

ประชาพิจารณ์3จี"คึกคัก"


ขณะที่ การเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างเงื่อนไขการประมูล 3จี ครั้งที่ 2 วันนี้ (12 พ.ย.) ได้รับความสนใจจากทั้งผู้บริหารของบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคม ตลอดจนนักวิชาการอย่างมาก เนื่องจากมีหลายประเด็นทั้งที่ค้างมาจากการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ผ่านมา รวมถึงกระแสร้อนๆ ของมติ ครม. ต่อการเดินหน้าขยายการลงทุน 3จี มูลค่า 2 หมื่นล้านบาทของทีโอที และการเปิดประมูลไลเซ่น 3จีของ กทช.

นายอนุ ภาพ กล่าวว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเรื่องคลื่น 3 จี นั้น ที่ผ่านมายังไม่มีการพูดจาก กทช.ถึงการจัดสรรเพื่อมุ่งให้ประชาชนเจ้าของทรัพยากรคลื่นได้ประโยชน์ มีแต่เพียงการถกเถียงกันเรื่องราคาการประมูลคลื่นราคาสูงหรือต่ำไปเท่านั้น ดังนั้นในการรับฟังความคิดเห็นเรื่องดังกล่าวครั้งที่ 2 ในวันนี้ จะเข้าร่วมแสดงจุดยืนในประเด็นดังกล่าว

ขณะที่ นายทอเร่ กล่าวว่า ดีแทค เตรียมนำเสนอความคิดเห็นทั้งในประเด็นที่เกี่ยวกับกฎหมาย และประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดจากโครงการ 3จี โดยคาดหวังว่า 3จี จะต้องเกิด เพราะตอนนี้ไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังไม่มี 3 จีใช้ ถ้ายังต้องเลื่อนออกไปอีก คนไทยก็จะเสียโอกาสได้ใช้ 3 จี ขณะที่ ทุกประเทศที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ได้ประเมินออกมาแล้วว่า ได้รับประโยชน์มาก บรอดแบนด์ก็มีการเติบโตเพิ่มขึ้น และก็ช่วยให้จีดีพีของประเทศโตขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดแล้วหากประเทศไทย ยังไม่มีการเปิดประมูล 3จี ในแง่ของบริษัทเอง คงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพราะมือถือ 2จีที่ให้บริการอยู่ก็ยังสร้างรายได้หลัก เนื่องจากเท่าที่ประเมินในช่วง 1-2 ปีแรก ของการเปิดให้บริการ 3จี จะสามารถสร้างสัดส่วนรายได้ให้เพียง 10-15% ของรายได้รวม

นาย ประชา คุณธรรมดี อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มจับตานโยบายรัฐบาล ( Policy Watch) กล่าวว่า วันนี้ทางกลุ่มมีข้อเสนอแนะต่อการประมูลคลื่น 3จี 3 ข้อ คือ 1.ให้กำหนดวัตถุประสงค์การประมูลเพื่อประชาชน โดยต้องประกาศควบคุมอัตราค่าบริการ ควบคุมคุณภาพบริการ ในเงื่อนไขการประมูลตั้งแต่ต้น

2. ให้เรียกเก็บภาษีสรรพสามิตป้องกันการโอนย้ายลูกค้าจาก 2จีไปสู่ 3จี โดยกระทรวงการคลังเรียกเก็บโดยตรงนำกลับเข้ารัฐ

และ 3. ควรชะลอการประมูลออกไปจนกว่าวุฒิสภาจะเลือก กทช.มาแทนตำแหน่งรักษาการ 4 คน 23 พ.ย.นี้ เพื่อความสง่างามขององค์กร เพราะโดยมารยาทแล้วผู้รักษาการไม่ควรทำเรื่องใหญ่ๆ ฉะนั้น หลังทำประชาพิจารณ์รอบ 2 วันที่ 12 พ.ย. 2552 ควรยุติบทบาท รออีก 2 สัปดาห์กระทั่งมีตัวจริงเข้ามาทำหน้าที่

เอไอเอสแนะเลิกนัมเบอร์พอร์ต


นาย วิเชียร เมฆตระการ ซีอีโอ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า วันนี้ (12 พ.ย.) จะไปร่วมประชาพิจารณ์เพื่อฟังว่า จะมีเรื่องใดพาดพิงถึงหรือไม่ จะได้ชี้แจง

ส่วนเรื่อง อื่นๆ ก็เสนอไปหมดตั้งแต่การประชาพิจารณ์รอบแรก หรือกรณีที่มีผู้เสนอให้กีดกันต่างชาติ โดยยกเหตุผลความมั่นคงขึ้นมา ก็เป็นหน้าที่ของกทช. ดำเนินการ ส่วนหากมีผู้เสนอปัญหาเดิมๆ ผู้ดำเนินรายการควรบอกให้เลิกพูดประเด็นเก่าๆ เพราะเสียเวลา ด้วย กทช. รับทราบแล้ว

ขณะที่ ข้อกังวลเรื่องห้ามโอนย้ายลูกค้าเก่า หากมีการใช้ระบบการคงสิทธิ์เลขหมาย (Number Portability) เขาแนะให้ยกเลิกราชกิจจานุเบกษาเรื่องการคงสิทธิ์เลขหมาย เพราะส่วนของเอไอเอสไม่มีปัญหาแต่ประการใด เพียงขอให้แจ้งเอกชนก่อนลงเงินไปแล้วมายกเลิกภายหลัง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook