แก้วสรรเบิกความขายหุ้นชินแค่นิติกรรมเปลี่ยนมือ เงินอยู่ในบัญชี พจมาน

แก้วสรรเบิกความขายหุ้นชินแค่นิติกรรมเปลี่ยนมือ เงินอยู่ในบัญชี พจมาน

แก้วสรรเบิกความขายหุ้นชินแค่นิติกรรมเปลี่ยนมือ เงินอยู่ในบัญชี พจมาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แก้วสรร ขึ้นศาลพยานอัยการ ไต่สวนยึดทรัพย์7.6หมื่นล. ระบุโอนขายหุ้นชินฯ แค่นิติกรรมเปลี่ยนมือถือหุ้น เงินซื้อขายหมุนเวียนบัญชีคุณหญิงพจมาน ขณะเดียวกันพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ออกมาตราแปลงภาษีสรรพาสามิต-แก้สัญญาโรมมิ่งมือถือ-ดาวเทียมไอพีสตาร์-ปล่อยกู้พม่าผ่านเอ็กซิมแบงค์ เอื้อธุรกิจชินคอร์ป

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง - นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนคดียึดทรัพย์สิน 7.6 หมื่นล้านบาทของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัว พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ไต่สวนพยานอัยการนัดแรก ในคดีหมายเลขดำที่ อม.14 /2551 ที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหา ที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ และได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกัน ระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล และประโยชน์ส่วนรวม และทรัพย์สินของครอบครัวรวมทั้งผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ที่เป็นผู้คัดค้านรวม 22 ราย จำนวน 76,627,603,061.05 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน

โดยวันนี้อัยการ นำ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เข้าไต่สวนเพียงปากเดียว สรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา โอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับ นายพานทองแท้ เมื่อบรรลุนิติภาวะ ซึ่งจำนวนหุ้นที่โอนขายให้เป็นจำนวน 24.99 % ขณะที่ส่วนที่เหลือได้โอนขายให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวและโอนขายให้ บริษัท แอมเพิลริช อินเวสเมนต์ จำกัด จำนวน 10.44 % ขณะที่การซื้อขาย กลับมีการชำระหนี้ด้วยเช็คสั่งจ่ายที่มาจากบัญชีคุณหญิงพจมาน ซึ่งการตรวจสอบพบว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนมือ โดยสุดท้ายเงินนั้นก็กลับเข้าบัญชีคุณหญิงพจมานอีก

นายแก้วสรร เบิกความอีกว่า เนื่องจากเมื่อปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็เกิดคดีโอนหุ้นให้คนรับใช้ จึงเริ่มตรวจสอบการครอบครองหุ้นในบริษัท ซึ่งครั้งนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ก็รับว่าแจ้งข้อมูลผิดพลาดตกหล่นโดยไม่คิดว่าถือหุ้น บ.แอมเพิลริชฯ แล้วต้องแจ้งให้ทราบ และเมื่อปี 2549 พบว่ามีชื่อ น.ส.พินทองทา บุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ถือหุ้น บ.แอมเพิลริชฯ โดยมีดูตามบัญชีผู้ถือหุ้นแล้วจึงมีปัญหาว่า ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ ใครคือผู้ถือหุ้น บ.แอมเพิลริชฯ กันแน่ ซึ่งครั้งแรกพบว่าเงินที่มีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ กับ บ.แอมเพิลริชฯ เป็นของนายพานทองแท้ บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ก็ไม่มีหลักฐานในการโอนขาย ขณะที่นายพานทองแท้ กลับมาให้การหลังจากที่มีการโอนหุ้นแล้ว 6 ปีว่าซื้อหุ้นมาจากบิดาเมื่อ ธ.ค. 2543

ส่วนข้อถกเถียงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นเจ้าของหุ้น บ.แอมเพิลริชฯ ได้อย่างไรนั้น ตามที่มีการอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ โอนหุ้นให้นายพานทองแท้ บุตรชาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาว และนายบรรณพจน์ พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน ตั้งแต่ปี43 และ น.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นจากนายพานทองแท้ พี่ชายเมื่อปี 2546 หลังจากบรรลุนิติภาวะนั้น โดยอ้างว่ามีการทำตั๋วสัญญาสั่งจ่ายหนี้ซื้อหุ้นนั้น จากการตรวจสอบพบว่า ปี 2543 พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน มีหุ้นในหลายบริษัท ทั้ง บริษัทชินแซทเทิลไลท์ จำกัด (มหาชน) , บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) , หุ้นธนาคารทหารไทย และบ.แอมเพิลริชฯ ซึ่งหากรับตำแหน่งนายกฯ ปี 2544 ก็จะเกิดปัญหาตามกฎหมายที่ไม่ให้มีหุ้นเกิน 5 %

โดยพบว่าแม้ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน โอนขายหุ้นให้คนในครอบครัวแล้ว แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีหุ้นใน บ.แอมเพิลริชฯ และวินมาร์ค ลิมิตเต็ด จำกัด อยู่ในมืออีก ซึ่งการชี้แจงทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ต.ท.ทักษิณ แจ้งว่าขายหุ้นแล้วและมีการทำตั๋วสัญญาใช้เงินสั่งจ่ายหนี้กัน

ทั้งนี้นายแก้วสรร ยังตอบคำถามศาลเกี่ยวกับการถือหุ้นธนาคารทหารไทยว่า หุ้นที่มีการอ้างซื้อขายให้นายพานทองแท้ มูลค่า 4,500 ล้านบาทนั้น หุ้นต่างๆ ที่มีการขายให้กันในครอบครัวพบว่าจะขายให้กันในราคาพาร์ที่เป็นราคาต้นทุน โดยมีการอ้างว่าราคาพาร์ละ 10 บาท แต่ราคาหุ้นจริงๆ ตามราคาตลาดขณะนั้นเท่ากับ 50 สตางค์ไม่ใช่ 10 บาท ดังนั้นถ้ามีการซื้อขายหุ้นราคา 10 บาทหมายความนายพานทองแท้ถูกบิดามารดาโกง

สำหรับการรับเงินปันผลจากการถือครองหุ้นในบริษัทที่มีการโอนขายนั้น นายแก้วสรร ตอบศาลว่า นอกจากการซื้อขายหุ้นที่เชื่อว่าไม่มีการชำระเงินจริง และการซื้อขายหุ้น บ.ชินคอร์ปฯ ของ น.ส.พินทองทาง จากพี่ชายใช้เงินมารดาแล้ว เงินปันผลพบว่า นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา เปิดบัญชีเฉพาะขึ้นเพื่อรับเช็คเงินปันผล ขณะที่เงินจากบัญชีนายพานทองแท้ โอนกลับสู่บัญชีคุณหญิงพจมาน ซึ่งอ้างว่าเป็นการชำระหนี้ค่าซื้อขายหุ้นตามตั๋วสัญญาแต่ปรากฏว่ายอดเงินที่โอนเข้ารวมแล้วจำนวนสูงกว่ายอดหนี้ ส่วนบัญชีของ น.ส.พินทองทาไม่มีการสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้เพราะอ้างว่าได้ซื้อขายและชำระเงินหมดแล้ว แต่บัญชีเงินปันผลกลับพบว่านำไปซื้อหุ้นคืนจาก บริษัทวินมาร์ค จำกัด ซึ่งธนาคาร ยูบีเอส ซึ่งดูแลการรับฝากหลักทรัพย์ เคยชี้แจงในคดีหุ้น พ.ต.ท.ทักษิณว่า หุ้นชินคอร์ปฯ ที่ บ.แอมเพิลริช และ บ.วินมาร์คฯ ถือครองอยู่เป็นของคนๆ เดียวกัน

ดังนั้นเมื่อการตรวจสอบพบว่า หุ้น บ.แอมเพิลริช เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ มาตลอด และ บ.วินมาร์คฯ ยังถือหุ้น บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อีก ดังนั้นการที่ น.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นคืนบริษัทเหล่านี้จึงทำให้เงินปันผลการถือครองหุ้นชินคอร์ปฯ ส่งคืนกลับให้คุณหญิงพจมาน มารดาโดยผ่านทางการซื้อขายหุ้นนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่านายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ไม่ได้จับต้องเงินปันผลเลย ขณะที่เงินซื้อขายหุ้นชินคอร์ปของบุตรและ บ.แอมเพิลริช มาจากเงินบัญชีคุณหญิงพจมานในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการนำเงินตัวเองมาซื้อหุ้นตัวเอง สำหรับเงินปันผลหุ้นของนายบรรณพจน์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พบว่า มีลักษณะเดียวกันคือ โอนเข้าบัญชีคุณหญิงพจมาน อ้างว่าชำระหนี้ซื้อหุ้น ซึ่งนายบรรณพจน์สั่งจ่ายเต็มจำนวนหนี้ที่อ้าง แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์สั่งจ่ายสูงเกินยอดหนี้ ส่วนเงินที่เหลือของทั้งสองสั่งจ่ายเป็นเช็คกลับเข้าสู่บัญชีบริษัท ส่วนใหญ่สั่งจ่ายครั้งแรกไม่เกิน 2 ล้านบาทเพื่อไม่ให้ต้องรายงาน

เมื่อทนายความพ.ต.ท.ทักษิณ ถามว่าเอกสารจากธนาคารยูบีเอส นั้นระบุว่ามีการถือหุ้นเกินกว่า 5 % แต่ไม่ได้ระบุว่าใครคือผู้ถือหุ้นของบ.แอมเพิลริชฯ และบ.วินมาร์ค รวมทั้งไม่ได้ระบุว่าหุ้นทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว มีบุคคลคนๆเดียวกันเป็นผู้ถือหุ้นหรือไม่ นายแก้วสรร เบิกความว่า จากตรวจสอบหลักฐานบัญชีธนาคารยูบีเอส มีการยืนยันว่าหุ้น บ.แอมเพิลริชฯ กับ หุ้นบ.วินมาร์คฯ หุ้นทั้งสองอยู่ในชื่อบุคคลคนเดียวกันและถือครองเกิน 5 % และจากการตรวจสอบยังพบว่าหุ้นดังกล่าวมีการนำไปเพิ่มทุนและลงทุนในเครือบริษัทครอบครัวชินวัตร และสุดท้ายหุ้นก็กลับไปยังบัญชีของคุณหญิงพจมาน จากหลักฐานทั้งหมดทำให้ คตส. เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัท ทาง คตส. จึงเห็นว่าเป็นเหตุให้ควรอายัดหุ้นดังกล่าวไว้ตรวจสอบ

เมื่อศาลถามถึงการตรวจสอบกรณีออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพสามิต นายแก้วสรร เบิกความว่า ในสมัยคณะรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ออกกฎหมายกฎหมายดังกล่าวมาทำให้มีการแปลงสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคม จ่ายเป็นภาษีสรรพสามิต 15 % แม้ว่าภาษีสรรพสามิตจะเข้าสู่รัฐ แต่ทำให้องค์การโทรศัพท์ หน่ายงานของรัฐซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทาน ต้องสูญเสียรายได้จากค่าสัมปทานที่ลดลง โดยการประกอบกิจการสัมปทานในส่วนขององค์การโทรศัพท์ เกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ) มีบริษัทเอไอเอสร่วมทุนจึงทำให้เป็นการออกมาตรการที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเครือชินคอร์ปฯ ได้เปรียบบริษัทอื่น เนื่องจากช่วงที่มีการเปิดเสรี โดยมี กทช. เป็นผู้ดูแลกำหนดให้มีการจัดเฉพาะเก็บค่าธรรมเนียมเท่านั้น ซึ่งจะต่ำกว่าค่าสัมปทานที่บริษัท เอไอเอส จะต้องจ่าย

ดังนั้นจึงได้มีการออกมาตรการมาเพื่อจะให้บริษัทที่จะเข้ามาให้บริการรายใหม่ ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตเพิ่ม ส่วนบริษัทเอไอเอส เพียงแต่หักค่าสัมปทานบางส่วน ไปจ่ายเป็นค่าภาษีสรรพสามิต ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย นอกจากนี้ในการตรวจสอบก็ยังพบการลดค่าสัญญาสัมปทานโรมมิ่ง ซึ่งองค์การโทรศัพท์ให้บริษัทเอไอเอส จัดการเชื่อมสัญญาณเครือข่าย เพื่อให้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ครอบคลุมซึ่งการจัดสร้างโครงข่ายโรงมิ่ง เอไอเอส จะต้องเป็นผู้รับภาระ โดยทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องตกเป็นขององค์การโทรศัพท์ตามสัญญาสัมปทาน แต่กรณีดังกล่าวกลับพบว่า เอไอเอส ได้เช่าโครงข่ายโรมมิ่งจากดิจิตอลโฟนที่บริษัทถือหุ้นอยู่ด้วย ขณะที่มีการแก้สัญญาสร้างภาระให้องค์การโทรศัพท์จะต้องชำระค่าเช่าสัญญาณนั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวได้เคยส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความก็ระบุว่าการแก้สัญญาดังกล่าวไม่สามารถทำได้

รวมทั้งในเรื่องของการยิงดาวเทียมซึ่งบริษัทชินแซทฯ ได้ทำสัญญากับกระทรวงคมนาคม จะต้องยิงดาวเทียมไทยคมเพื่อใช้สื่อสารภายในประเทศ รวม 4 ดวง แต่ปรากฏว่าบริษัทยิงดาวเทียมไทยคมเพียง 3 ดวง ส่วนดวงที่ 4 กลับมีการแจ้งเปลี่ยนเทคโนโลยี ใช้ชื่อ IP STAR ยิงแทนดาวเทียมไทยคม 4 ทั้งที่ดาวเทียมดังกล่าวไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ เพราะดาวเทียมนั้นใช้สำหรับสื่อสารในต่างประเทศ ซึ่งหากบริษัทดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาก็ควรจะต้องแจ้งเพื่อให้มีการแก้ไขสัญญาโดยถูกต้อง ซึ่งเรื่องดังกล่าวอดีตรองอธิบดีกรมการไปรษณีย์แจ้งว่าได้เคยคัดค้านแล้ว ขณะที่ปัญหาดาวเทียมดังกล่าวนำมาซึ่งคดีการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับรัฐบาลพม่า โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือ เอ็กซิมแบงค์ ซึ่งเดิมมีการกำหนดวงเงิน 3,000 ล้านบาท แต่มีการเพิ่มวงเงินอีก 1,000 ล้าน เพื่อให้รัฐบาลพม่านำเงินมาใช้ซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทชินแซทฯ โดยมาตรการต่างๆนั้นเกิดขึ้น ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกฯ

ทั้งนี้ นายแก้วสรร ยังเบิกความย้ำด้วยว่า การพิจารณาข้อกล่าวหาต่างๆ คตส. ก็พิจารณาในส่วนที่มีการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย หากส่วนใดที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย คตส. ก็ไม่ได้นำมาพิจารณาตั้งข้อกล่าวหา โดยนายแก้วสรร ยังเบิกความต่ออัยการด้วยว่า สำหรับการออกมาตรการแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมเป็นภาษีสรรพสามิต และการปล่อยกู้ของธนาคารเอ็กซิมแบงค์ ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ แล้ว แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้หลบหนีคดี

ขณะที่ ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้พยายามซักถามถึงคุณสมบัติของ คตส. เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายแก้วสรร ได้เคยเขียนหนังสือกล่าวโจมตี พ.ต.ท.ทักษิณ เกี่ยวกับการดำเนินคดีต่างๆ และมีการนำไปแผยแพร่ต่อประชาชน ซึ่งนายแก้วสรร ตอบทนายความว่า ไม่ได้เป็นการอคติ แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมและจากหลักฐานที่ตนได้มา ขณะที่หนังสือดังกล่าวเขียนขึ้นช่วงที่ตนดำรงตำแหน่ง สว. โดยเป็นการใช้สิทธิที่ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งตนไม่ได้มีเหตุโกรธเคืองกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่อย่างใด รวมทั้งไม่ได้มีส่วนได้เสียกับหนังสือดังกล่าว
ภายหลังไต่สวนนายแก้วสรร แล้ว แต่ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังซักค้านไม่แล้วเสร็จ

ศาลจึงนัดไต่สวนนายแก้วสรรอีกครั้ง ในวันที่ 17 พ.ย. นี้ เวลา 09.30 น. โดยช่วงบ่ายศาลได้นัดไต่สวนนายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์ อดีต คตส. ทั้งนี้ก่อนจะเข้าไต่สวน นายแก้วสรร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การตรวจสอบของ คตส. ที่ใช้เป็นกฎหมายมายื่นฟ้องคดีต่างๆ ไม่ใช่กฎหมายที่คณะรัฐประหารเขียนขึ้น แต่เป็นกฎหมายอาญาที่มีอยู่แล้ว ขณะที่ศาลซึ่งพิจารณาคดีก็ไม่ใช่ศาลพิเศษแต่เป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีมาตั้งแต่ปี 2540 โดยหลังการรัฐประหาร คตส. เป็นแต่เพียง ป.ป.ช. เฉพาะกิจ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย ป.ป.ช. เป็นหลัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ทนายความของฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา ได้ทำการซักค้าน นายแก้วสรร ศาลได้เตือนทนายความหลายครั้งเรื่องประเด็นการตั้งคำถาม ซึ่งได้ตั้งคำถามในประเด็นซ้ำซ้อนกันหลายครั้งและไม่ตรงประเด็นในการไต่สวน และระหว่างที่นายแก้วสรร กำลังตอบคำถาม ทนายความกลับไปโต้แย้งคำตอบของพยาน ศาลจึงเตือนทนายความว่าอย่าตั้งคำถามซ้ำซ้อนหลายครั้ง ซึ่งจะทำให้เสียเวลาในการพิจารณาคดี แต่ทนายฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้โต้แย้งว่า พยานตอบไม่ตรงคำถามที่ตนถาม ทำให้ตนฟังไม่รู้เรื่อง โดยศาลเห็นว่าศาลพิจารณาคำตอบของพยานรู้เรื่องเป็นอย่างดี ซึ่งหากทนายความผู้ซักค้านฟังไม่รู้เรื่อง ควรจะต้องพิจารณาคุณสมบัติของตนเอง หลังจากนั้นศาลได้สั่งพักการไต่สวนเป็นเวลา 10 นาที ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการพิจารณาไต่สวนอีกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook