รายงานพิเศษ : หอเครื่องทองไทย แหล่งรวมศิลปะชั้นสูงให้คนยุคใหม่ได้เรียนรู้

รายงานพิเศษ : หอเครื่องทองไทย แหล่งรวมศิลปะชั้นสูงให้คนยุคใหม่ได้เรียนรู้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดตัว หอเครื่องทองไทยแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และศูนย์ส่งเสริมงานศิลปาชีพเครื่องทองไทย ส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพไทยให้เป็นที่เที่ยวชมและศึกษาคุณค่าของเครื่องทองไทย ที่ถ่ายทอดผลงานชั้นครู ผ่านฝีมือของครูทองและนักศึกษา ให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ข้อมูลจาก สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ระบุว่า ในดินแดน สุวรรณภูมิ นี้ ทุกคนล้วนนิยมชมชอบ ทองคำ กันทั้งนั้น จะเห็นว่าทุกชาติทุกภาษาต่างก็นิยมใช้ทองคำ ทำเป็นเครื่องใช้เครื่องประดับเสื้อผ้าอาภรณ์ ทำเป็นเครื่องเคารพ ประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมชั้นสูง ใช้แลกเปลี่ยนแทนเงินตรา หรือใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่คงไม่มีชาติไหนที่ใช้ทองคำมากมายในชีวิตประจำวันเท่าคนไทย คนไทยเราใช้ทองคำแม้กระทั่งเป็นส่วนผสมของยา เช่น ยาหอมบางตำรับ ก็ผสมทองคำเปลว บางตำรับก็ปิดทอง นอกจากนั้น ยังใช้ทำขนม เช่น ขนมทองเอก และขนมจ่ามงกุฎ การสะท้อนความเป็นไทย ผ่านเครื่องทอง ก็นับเป็นอีกศิลปะหนึ่งที่สืบทอดกันมายาวนาน ซึ่งล่าสุดศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เปิดตัวหอเครื่องทองไทย แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และศูนย์ส่งเสริมงานศิลปาชีพเครื่องทองไทยสู่ตลาดสากล ซึ่งเป็นการปรับภาพลักษณ์ของการนำเสนอในรูปแบบใหม่ หลังจากที่เปิดมาในปี 2548 ให้มีความทันสมัยมากขึ้น ทั้งนี้ นายขนก ลิมปิพิชัย ผู้จัดการฝ่ายสมาชิกสัมพันธ์ของศูนย์ฯ กล่าวว่า ในส่วนของหอเครื่องทองไทยนั้น ได้ใช้พื้นที่ชั้น 2 ของอาคารศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ขนาด 460 ตารางเมตร เป็นที่รวบรวมและนำเสนอผลงานเครื่องทองไทยในยุคสมัยต่างๆ ประวัติความเป็นมาของเครื่องทองไทย การผลิต ความแตกต่างในแต่ละสกุลช่างทองไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน รวมถึงการจัดแสดงผลงานศิลปะหัตถศิลป์เครื่องทองไทยในสกุลช่างทองต่างๆ ในรูปแบบมัลติมีเดีย หอเครื่องทองไทย ได้จัดแสดงเครื่องทองไทย เช่นเครื่องทองสุโขทัย เครื่องทองเพชรบุรี เครื่องเงินและทอง 5 กลุ่ม คือ สุโขทัย เพชรบุรี นครศรีธรรมราช เครื่องเงินเชียงใหม่ เครื่องเงินสุรินทร์ ส่วนใหญ่เป็นของใหม่ แต่ทำเลียนแบบของเก่าอายุหลายร้อยปี นายขนก กล่าวอีกว่า การจัดแสดงเครื่องทองไทย ผ่าน หอเครื่องทองไทย ยังเป็นการสะท้อนถึงภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยให้คนรุ่นใหม่เกิดความภาคภูมิใจ ได้ศึกษา เรียนรู้ ผลงานแต่ละชิ้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หาชมได้ยาก โอกาสนี้ทางศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) ยังได้มีการนำผลงานชั้นยอด อาทิ เครื่องถม ผ้าทอยกทอง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยมาจัดแสดงร่วมด้วย สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชม หอเครื่องทองไทยแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และศูนย์ส่งเสริมงานศิลปาชีพเครื่องทองไทย ได้ทุกวันตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 - 17.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนของชั้นยอดนั้นหากพลาดโอกาสเนื่องจากจะจัดแสดงวันนี้ (13 พ.ย.52) เป็นวันสุดท้ายแล้ว ก็จะเข้าชมได้อีกครั้งในวันที่ 17-18 ธันวาคมที่จะถึงนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook