ครบรอบ 3 ปี “ประเทศกูมี” แร็ปเครื่องด่าพัฒนาประชาธิปไตย

ครบรอบ 3 ปี “ประเทศกูมี” แร็ปเครื่องด่าพัฒนาประชาธิปไตย

ครบรอบ 3 ปี “ประเทศกูมี” แร็ปเครื่องด่าพัฒนาประชาธิปไตย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • 23 ตุลาคม 2564 เป็นวันครบรอบ 3 ปี เพลงประเทศกูมี ซึ่งเป็นเพลงที่ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคมไทยในวงกว้าง
  • ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น และประเทศกูมีก็เป็นหนึ่งในแรงกระตุ้นสำคัญ ทั้งต่อวงการเพลงและสังคม
  • อย่างไรก็ตาม Rap Against Dictatorship ระบุว่า หากสถานการณ์การเมืองมั่นคง พวกเขาคงไม่ต้องทำเพลงการเมือง แต่สามารถสร้างสรรค์ผลงานตามแนวทางของตัวเอง เพื่อผลักดันวงการเพลงให้พัฒนามากขึ้น

 Rap Against DictatorshipRap Against Dictatorship

ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2561 เกิดปรากฏการณ์ที่สั่นสะเทือนสังคม เมื่อกลุ่มศิลปินแร็ปที่ใช้ชื่อว่า Rap Against Dictatorship ได้เปิดตัวเพลง “ประเทศกูมี” ที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคมไทยอย่างเผ็ดร้อน พร้อมมิวสิกวิดีโอที่ใช้ภาพจำลองเหตุการณ์นองเลือดอย่าง 6 ตุลา 2519 การเคลื่อนไหวของเหล่าแร็ปเปอร์ดังกล่าว ไม่เพียงแต่ท้าทายอำนาจรัฐจนถูกทางการเพ่งเล็ง และถูกโจมตีจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากท่าทีที่ก้าวร้าวหยาบคายเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในตัวจุดชนวนให้คนจำนวนมากลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับรัฐบาล จนกระทั่งเกิดกระแสการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ประเทศกูมี และบทเพลงอื่นๆ ของ Rap Against Dictatorship ก็ได้มีบทบาทในการเคลื่อนไหวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาด้วย

แร็ปเปอร์เบิกเนตร

“วันที่ 14 ตุลาคม 2561 เพลงประเทศกูมีปล่อยเป็น audio ในโซเชียล หน้าปกวาดโดย Alex Face ครับ ณ ตอนนั้นมันเริ่มแค่นั้นเลย แล้วก็น่าจะค่อยๆ เป็นข่าวเล็กๆ ก่อน แล้ววันที่ 23 ตุลาคม ก็เป็นมิวสิกวิดีโอ ที่มันออกมาก้าวร้าว เพราะว่าเรากำลังสื่อสารเรื่องที่มันกำลังเป็นปัญหาและเรารู้สึกโกรธกับมัน เผอิญพวกเราเป็นผู้ชายด้วย แล้วเราก็รวมตัวกันด้วยพลังความโกรธเกรี้ยวกันมาตั้งแต่แรก คนก็จะติดภาพว่า Rap Against Dictatorship เป็นเพลงด่าการเมือง มีคีย์เวิร์ดเพลงด่าการเมือง” HOCKHACKER แร็ปเปอร์ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเริ่มเล่า

ท่ามกลางกระแสดราม่าและการถกเถียงระหว่างผู้ที่เห็นด้วยกับเพลงและผู้ที่ไม่เห็นด้วย เพลงประเทศกูมีได้ทำหน้าที่ของมันโดยอัตโนมัติ นั่นคือการกระตุ้นให้เกิดการคิดและตั้งคำถาม ทั้งในหมู่คนฟัง และแม้กระทั่งวงการเพลงฮิปฮอป ซึ่ง Chaotic Guy หนึ่งในแร็ปเปอร์ผู้ร่วมขบวนการอธิบายว่า

“จริงๆ แล้วรากเหง้าของฮิปฮอปมันเป็นดนตรีที่แสดงออกถึงความเหลื่อมล้ำของคนผิวดำอยู่แล้ว ที่เขาเติบโตมาในชนชั้นทาส แล้วเฉดในมุมนี้ของดนตรีฮิปฮอปในประเทศไทยมันไม่ได้ถูกเน้นมากเท่านี้ จนกระทั่งเพลงของพวกเรา ประเทศกูมี ออกมา คราวนี้ทุกคนก็สามารถแสดงออก เอาบทกลอนหรือสิ่งพวกนี้ใส่ลงไปในเพลง เพราะนั่นคือหน้าที่ของฮิปฮอปโดยตรงอยู่แล้ว”

เช่นเดียวกับ ProtoZua ซึ่งมองว่า ที่ผ่านมา เพลงฮิปฮอปส่วนใหญ่จะแต่งขึ้นเพื่อความบันเทิง ส่วนเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมมักจะเป็นเพลงที่ “ทำเองฟังเอง” แต่เมื่อประเทศกูมีกลายเป็นกระแสโด่งดัง ก็ทำให้ศิลปินหลายคนเห็นตัวอย่าง และหันมาทำเพลงแนวการเมืองอย่างจริงจังมากขึ้น

“ก่อนหน้านี้ก็คงมีเล็กๆ น้อยๆ เนื้อหาการเมืองในเพลง ไม่ว่าจะฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยหรืออนุรักษ์นิยม แต่ว่าพอมันมีประเทศกูมี ผมว่ามันมีเป้าเดียวกันชัดเจน คืออำนาจเผด็จการ ตอนนั้นก็คือ คสช. ต่อเนื่องมาจนถึงประยุทธ์ในปัจจุบัน ปัจจุบันผมเชื่อว่าทุกคนเห็นเพลงการเมืองเต็มไปหมดเลย ทั้งฮิปฮอปรุ่นใหม่ๆ ทั้งจากแนวอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ถามว่ามันมีบทบาทไหม ผมว่าประเทศกูมีก็เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้เห็นแล้วว่า มันไม่ได้โดนอะไร เราพูดเรื่องนี้ได้ เราควรพูด” HOCKHACKER กล่าวเสริม

ไม่เพียงแต่จะจุดประกายการแสดงออกทางการเมืองในสังคมไทยเท่านั้น เพลงประเทศกูมีและกลุ่ม Rap Against Dictatorship ยังสร้างแรงบันดาลใจให้กับแร็ปเปอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างกลุ่ม Rap Against Junta ในเมียนมา ที่มีการรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และยังเผชิญกับอำนาจรัฐที่พยายามปิดปากประชาชนด้วยวิธีการที่รุนแรงอีกด้วย

การเมืองกับศิลปะ

“ศิลปินทุกแขนงต้องได้รับแรงบันดาลใจจากอะไรบางอย่างอยู่แล้ว และด้วยความที่เราทำเพลงเกี่ยวกับการเมือง เพราะฉะนั้น มันแยกไม่ออกที่จะต้องได้รับอิทธิพลจากสถานการณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะในเชิงสถานการณ์หรือในเชิงอารมณ์ของผู้คน” Jacoboi เปิดประเด็นเกี่ยวกับสภาพสังคมและการเมือง ที่ส่งผลต่อแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน และทำให้ศิลปะมีบทบาทอย่างสูงในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้าน HOCKHACKER ก็ยกตัวอย่างการทำงานเพลงของกลุ่ม ซึ่งมีแรงผลักดันจากสถานการณ์ทางการเมือง

“อย่างเพลงปฏิรูป ที่ปล่อยตอนที่ครบรอบ 2 ปีประเทศกูมี ช่วงนั้นมันมีม็อบอยู่ แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เราปล่อยเพลงปฏิรูปจริงๆ มันมาจากวันที่สื่อมวลชนกำลังจะโดนตักเตือน เราก็รู้สึกว่ามันเกินขอบเขตแล้ว อำนาจเผด็จการมันกลับมาอีกรอบ ก็เลยเกิดเพลงปฏิรูปขึ้นมา หรือเพลงล่าสุด งบประมาณ ก็เหมือนกัน อาจจะไม่ใช่การเมืองบนท้องถนน แต่ว่าเป็นการเมืองในสภาที่เข้าใกล้ช่วงอนุมัติงบปี 65 เรารู้สึกว่าเรื่องนี้มันน่าพูดถึง แล้วก็หยิบอะไรพวกนี้มาเล่า”

ด้าน ProtoZua ระบุว่า ศิลปะยังทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวและความรู้สึกนึกคิดของศิลปินที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆ ขณะที่ HOCKHACKER แสดงความคิดเห็นต่อการปกป้องงานศิลปะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง ซึ่งสะท้อนถึงการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ผมนึกถึงเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือการเคลื่อนไหวที่นักศึกษาทำงานศิลปะขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเมือง หรือสัมผัสแตะต้องเรื่องใดเรื่องหนึ่งทางการเมือง แล้วมีคนจะมาสั่งเก็บงานชิ้นนั้น แล้วก็มี อ.ทัศนัย ที่ลุกขึ้นมาขวาง มันคือการปกป้องงานศิลปะ และมันคือการเคลื่อนไหวที่สำคัญมากๆ ที่ทำให้เห็นคุณค่าของการแสดงออก เสรีภาพในการสื่อสาร การลุกขึ้นมาของ อ.ทัศนัย รวมถึงคนที่สนับสนุนในกรณีนี้ มันมีพลังมากๆ ในการปกป้องคนทำงานศิลปะ”

“เมื่อใดก็ตามที่รัฐพยายามกดคนที่แสดงความคิดเห็น ก็จะมีคนที่สะดวก ณ เวลานั้น ออกมาเรียกร้อง ออกมากดดันอยู่เสมอ คือมันเป็นเจตจำนงร่วมกันของคนอยู่แล้ว ที่ว่าโผล่ขึ้นมาแล้วก็ไม่อยากถูกกดลงไปอีก” ProtoZua กล่าวเสริม

จากประเทศกูมีถึงวันนี้

จากที่ประเทศไทยถูกค่อนขอดว่าเป็น “ประเทศที่ด่าไม่ได้ทั้งๆ ที่ติดที่ปลายเหงือก” ในเพลงประเทศกูมี 3 ปีผ่านไป เสียงวิพากษ์วิจารณ์อำนาจต่างๆ สังคมไทยกลับดังขึ้นเรื่อยๆ และหลายครั้งปัญหามากมายในสังคมก็ถูกปรับปรุงแก้ไขด้วยเสียงก่นด่าของประชาชน อย่างที่ SKBB หนึ่งในแร็ปเปอร์ของ Rap Against Dictatorship บอกว่า “อะไรที่ไม่เคยได้เห็นก็ได้เห็น”

“ผมว่าเราเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนครับว่า จาก 3 ปีที่แล้วที่เรายังไม่กล้าพูด ยังไม่กล้าแสดงความคิดเห็น มันเปลี่ยนแบบพลิกฝ่ามือในพริบตาเดียวเลยนะ มันจะมีคำพูดที่ว่า “อะไรที่ไม่เคยได้เห็นก็จะได้เห็น” ในช่วงปีสองปีนี่แบบ โอ้โห... มันทะลุเพดาน ทะลุฟ้าไปไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร ผมว่าอันนี้น่าจะเป็นนิมิตรหมายอันดีของประเทศด้วย ถึงแม้ว่าตอนนี้มันจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก แต่ก็เชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันกำลังเริ่มต้น มันเริ่มมีการนับหนึ่งมาแล้ว” SKBB ระบุ

ด้านนิลโลหิต แร็ปเปอร์ที่ทำงานคลุกคลีกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ก็กล่าวว่า ฝั่งคนรุ่นใหม่เองก็มีการเปลี่ยนแปลงแบบ “หลังมือเป็นหน้ามือ” เช่นกัน

“เมื่อก่อน ถ้าเราจะโพสต์อะไรลงโซเชียล หรือออกเสียงอะไรสักนิดเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ เราจะโดนแล้ว ‘เฮ้ย! คุกนะ คุกนะ…’ ‘เฮ้ย! เบาๆ หน่อย’ ซึ่งในปัจจุบันผมรู้สึกว่ามันมีเสรีภาพในการพูดมากขึ้น มันเข้าสู่ความเป็นปกติมากขึ้น ทั้งที่มันควรจะเป็นสิ่งที่เป็นปกติมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว มันไม่ควรจะมีอะไรมากดหัวเรา เราไม่ควรจะอยู่ใต้ความกลัวที่จะแสดงเสรีภาพอะไรสักอย่างของเรา ก็ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่ดี แล้วก็อยากเห็นภาพในอนาคตมากกว่านี้เหมือนกัน”

สำหรับ Jacoboi เขามองเห็นความเปลี่ยนแปลงของอำนาจทางการเมือง ซึ่งแม้จะยังคงเป็นขั้วอำนาจเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือพรรคฝ่ายค้าน

“สิ่งที่เปลี่ยนไปหลังจากการเลือกตั้ง แม้ว่าขั้วอำนาจจะเป็นขั้วอำนาจเดิมที่ครองอำนาจรัฐอยู่ แต่เรามีฝ่ายค้านว่ะ ซึ่งมีประโยชน์มากน้อยไม่รู้ แต่ผมเห็นว่ามีนักการเมืองเข้าไปวิ่งเล่นอยู่ในบทบาทของการวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อสู้กับอำนาจรัฐเพิ่มเข้าไปด้วย รวมถึงแม้แต่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล จะดีจะเลวอีกประเด็น แต่ว่าการต่อสู้ต่อรองเพื่ออำนาจของตัวเขาเองนั่นแหละ มันก็ทำให้อำนาจพวกนี้มันไม่เสถียรน่ะ ฉะนั้นมันก็จะไม่เป็นเผด็จการที่มันเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเท่ากับในยุค คสช.

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ส่วน แต่สิ่งหนึ่งที่ HOCKHACKER มองว่าเปลี่ยนแปลงได้ช้าที่สุด คือการเมืองในสภา

“การเมืองในสภามันมีอำนาจในการควบคุมสิ่งต่างๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ ไม่ว่าจะออกกฎหมายหรืออนุมัติอะไรต่างๆ มันต้องผ่านการเมืองในสภา ทีนี้มันตามสถานการณ์ของการเมืองข้างนอกไม่ทัน ก็เลยเกิดปัญหาความแตกแยกของคน ทั้งคนที่ยังเชียร์รัฐบาลอยู่ ทั้งคนที่ต่อต้านรัฐบาล เด็กรุ่นใหม่ก็คือไปแบบสุดโต่งกันมากๆ เราก็เห็นกันอยู่ในโซเชียล ทีนี้จะทำอย่างไรให้ในสภามันเปลี่ยนตาม นั่นคือสิ่งที่เราพยายามหา พยายามคุยกันอยู่ว่าเพลงของเราจะมีบทบาทอะไรได้ไหม” HOCKHACKER กล่าว

ถ้าการเมืองดี...

“ถ้าการเมืองดีผมก็จะทำเพลงที่ดีดกีตาร์ครับ ผมก็เบื่อแร็ปบ้างเหมือนกัน แต่มันก็รับใช้อารมณ์ในจุดนี้ได้ เราเลือกสื่อตามความรู้สึกเราว่าอันไหนมันจะเข้า ถ้าใจมันผ่อนคลายมากๆ ผมก็คงจะดีดกีตาร์ เล่นเปียโน เพลงช้า กล่อมเกลาจิตใจ พักผ่อนครับ” ProtoZua เปิดประเด็น เมื่อถูกถามด้วยวลีแห่งยุคสมัยอย่าง “ถ้าการเมืองดี”

“Rap Against Dictatorship ไม่ได้เกิดมาเพราะการเมือง คือเราเป็นแร็ปเปอร์ที่ทำเพลง จริงๆ เราควรทำเพลงรัก ทำเพลงปาร์ตี้ด้วยซ้ำ หรือเพลงที่แสดงออกถึงชีวิตของเราตามปกติ แต่ว่าพอมันมีประเด็นการเมืองขึ้นมา เราเลยต้องแบ่งสมองมานั่งเครียดกับเรื่องพวกนี้ แล้วคิดมันออกมา เพื่อสื่อสารมันออกมาด้วยความโกรธของเรา ถ้าการเมืองมันดีจริง เราคงไม่ต้องมานั่งพูดเรื่องนี้หรอก เราก็คงเอาเวลาไปสร้างสรรค์งาน ยกระดับงาน จัดงานอีเวนต์ จัดคอนเสิร์ต สร้างซีนใหม่ๆ ในวงการเพลงของเราตามบทบาท” HOCKHACKER กล่าวเสริม

ด้าน K.AGLET ก็ปิดท้ายว่า

“ผมเคยได้ยินว่า ถ้าการเมืองมันดี ทุกอย่างมันดี ศิลปวัฒนธรรมพวกนี้ก็จะดีตามไปด้วย เพราะว่าคนไม่ต้องเอาเวลาไปสนใจปัญหาการเมืองที่มันมีผลกระทบต่อตัวเอง ก็เอาเวลาไปสร้างสรรค์ศิลปะ สร้างสรรค์สิ่งที่ตัวเองชื่นชอบแทน ผมก็อยากเห็นศิลปะในไทยไม่เหมือนอย่างทุกวันนี้ อยากให้มันเจริญไปในทางที่มันสวยงามมากขึ้น สักวันหนึ่งเราอาจจะเห็น Rap Against Dictatorship ทำเพลงรักก็ได้ ถ้าการเมืองมันมั่นคง

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ ครบรอบ 3 ปี “ประเทศกูมี” แร็ปเครื่องด่าพัฒนาประชาธิปไตย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook