หมอโอ๋ ฝาก 13 บทเรียนกรณี #หนึ่งจักรวาล "เส้นบางๆ ระหว่างรัก-ละเมิดสิทธิ"

หมอโอ๋ ฝาก 13 บทเรียนกรณี #หนึ่งจักรวาล "เส้นบางๆ ระหว่างรัก-ละเมิดสิทธิ"

หมอโอ๋ ฝาก 13 บทเรียนกรณี #หนึ่งจักรวาล "เส้นบางๆ ระหว่างรัก-ละเมิดสิทธิ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"หมอโอ๋" เจ้าของเพจเฟซบุ๊กชื่อดัง "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" ฝากข้อคิด 13 ข้อ ไปยังพ่อแม่ถึงการแสดงความรักต่อลูก เพราะมีเส้นบางๆ คั่นอยู่ระหว่างการแสดงความรัก กับการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย

วันนี้ (27 ต.ค.) ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ "หมอโอ๋" เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก "เลี้ยงลูกนอกบ้าน" แสดงความคิดเห็นจากประเด็นที่โลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ถึงการแสดงความรักต่อลูกจากกรณีในแฮชแท็กดัง #หนึ่งจักรวาล ว่าเป็นการกระทำที่เหมาะหรือไม่เหมาะสม โดยมีรายละเอียด ดังนี้

"เส้นบางๆ ระหว่างรักและละเมิด"

สังคมกำลังมีประเด็นถกเถียงกัน ถึงการแสดงความรักของพ่อลูก ที่ดูเหมือนอยู่บนเส้นบางๆ ระหว่างการแสดงความรัก กับการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ไปจนถึงดูคล้ายการคุกคามทางเพศ? ที่น่าตกใจกว่าสิ่งที่เห็น คือ คอมเมนท์ที่หลากหลาย…

“ลูก 13 ยังจับจู๋ลูกอยู่เลย อย่างนี้ก็ผิดปกติหรอ”

“ใช่ค่ะ ทุกวันนี้ยังจับจู๋ลูกชายเล่นอยู่เลยค่ะ ทั้งที่ลูกอายุ 14 แล้ว บางครั้งก็แข็งสู้มือด้วย อิอิ เรื่องของแม่ลูก คนอื่นชอบยุ่งจัง”

“ลูกสาว 20 แล้ว ผมยังอาบน้ำกับลูกอยู่เลย”

ฯลฯ

เราเติบโตมากับวัฒนธรรม ที่พ่อแม่มักคิดว่าตนเองเป็นเจ้าชีวิต และมีสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายลูก เราตี หยิก ด่า ทำร้าย ใช้บุหรี่จี้ … หรือ แม้แต่การแสดงความรัก เราก็หลงลืมที่จะเคารพ “สิทธิ” “อำนาจในการตัดสินใจ” ไปจนถึง “เคารพพื้นที่ส่วนตัว”

“พ่อหอมแค่นี้ ต้องมาสะบัดหนีด้วย”

“กอดคุณตาหน่อยสิลูก”

“คุณป้าเค้าก็แค่จับจู๋หนู แหย่เล่นๆ แค่นี้เอง”

ฯลฯ

ส่วนตัวหมอคิดว่าภาพที่ออกมาดูน่าเป็นห่วงจริงๆ แต่ขออนุญาตไม่วิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่รู้ถึงเจตนา แต่ขอพูดถึงกรณีทั่วๆ ไป เผื่อเราจะได้เรียนรู้ร่วมกันนะคะ

  1. พ่อแม่ต้องทำให้ลูกเข้าใจ ว่าลูกมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง “เสมอ”
  2. พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างของการไม่ละเมิดสิทธินั้นเสียเอง เพื่อให้เด็กไม่เกิดความสับสน หรือเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะปฏิเสธผู้ใหญ่ไม่ได้
  3. หลายครั้งด้วยความรักและความใกล้ชิด เด็กๆ “ไม่สามารถ” กล้าปฏิเสธ สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกอึดอัด และบางครั้งเด็กก็เล็กเกินไป จนแยกไม่ได้ ระหว่างการแสดงความรักกับการถูกล่วงละเมิด
  4. การล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในเด็ก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากคนในครอบครัว ดังนั้นผู้ใหญ่ในบ้านต้องช่วยกันสอดส่องดูแล
  5. สอนลูกเรื่อง "สิทธิในร่างกายตนเอง" ลูกเป็นเจ้าของร่างกายตนเอง มีสิทธิปฏิเสธ ไม่ให้ใครมาวุ่นวาย ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นคนในหรือนอกครอบครัว
  6. การแสดงความรัก ควรอยู่ในขอบเขตที่ไม่มากเกินไป และไม่สร้างความอึดอัดใจให้กับผู้รับ
  7. การแสดงความรัก การแหย่ การเล่น ไม่ควรลุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว เช่น พื้นที่ในร่มผ้า หน้าอก ก้น อวัยวะเพศ และ “ทุกพื้นที่” ที่ลูกดูมีความอึดอัดใจเมื่อเราไปสัมผัส
  8. แม้เราจะแสดงความรัก แต่เมื่อลูกแสดงอาการปฏิเสธ แข็งขืน หรือดูอึดอัดใจ ให้เคารพความรู้สึกของลูกเสมอ
  9. สอนลูก ใช้ประโยคที่เข้าใจง่าย เช่น "มีบางคนเข้ามายุ่งกับร่างกายของเรา โดยที่เราไม่เต็มใจ และไม่อยากให้ทำ เช่น บางคนมาจับหน้าอก มายุ่งกับอวัยวะเพศ มากอด หอม หรือบางทีก็ให้เราไปจับของส่วนตัวเค้าโดยที่เราไม่ยินยอม แบบนี้ถือเป็นเรื่องผิดปกติ และแม่อยากให้ลูกบอกผู้ใหญ่ให้รับรู้เสมอ”
  10. บอกลูกเสมอ ไม่ว่าจะอย่างไร “การถูกละเมิดไม่ใช่ความผิดของผู้ถูกกระทำ” ไม่ใช่ความผิดเพราะเราเป็นเด็ก เพราะเราแต่งตัวไม่เรียบร้อย ใส่ขาสั้น เมา หรือไม่ดูแลตัวเองให้ดี "ไม่มีใครมีสิทธิที่จะล่วงละเมิดใคร" ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเป็นอย่างไรก็ตาม
  11. บอกลูกว่าพ่อแม่จะอยู่กับลูกเสมอ ถ้ามีใครมาทำอะไรที่ทำให้เรารู้สึกอึดอัดใจ ให้บอกพ่อแม่ได้ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใครก็ตาม
  12. ข้อนี้ขอกาสามดาว *** ไม่บังคับให้ลูกกอดหอมใคร หรือให้ใครมากอดหอมลูก โดยที่ลูกรู้สึกไม่เต็มใจ ลูกจะสับสนในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ และไม่แน่ใจในสิทธิในเนื้อตัวร่างกายตนเอง
  13. การโพสต์อะไรลงใน social ให้คิดไว้เสมอว่าสิ่งนั้นจะอยู่ที่นั่นตลอดไป ถ้าเป็นไปได้ควรไตร่ตรองสิ่งที่จะลงไป และขออนุญาตลูกก่อนลงทุกครั้ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุด ณ ขณะนี้… ในขณะที่เราคิดว่าการทำให้เรื่องนี้เป็นกระแสสังคม จะนำไปสู่การช่วยเหลือเด็กคนหนึ่ง

โปรดอย่าลืมว่า ทุกอย่างจะกลายเป็น digital footprint ที่ทำร้ายเด็กคนหนึ่งและครอบครัวตลอดไป… ได้อย่างเจ็บปวดที่สุด

เราอาจช่วยเขาได้ ด้วยการไม่สร้างบาดแผลทางใจให้หยั่งรากลึก

แนะนำว่าใครเจอกรณีที่สงสัยการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ ควรแจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 หรือ ศูนย์พึ่งได้ OSCC ที่มีในโรงพยาบาลใหญ่แทบทุกที่ ให้ช่วยเข้าไปประเมินถึงความเหมาะสม

นี่เป็นสิทธิและหน้าที่ ที่เราทุกคนพึงกระทำได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook