ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาอุบลฯ เชิญชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิกส์ ในช่วงเช้ามืดวันที่ 18 พ.ย.นี้

ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาอุบลฯ เชิญชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิกส์ ในช่วงเช้ามืดวันที่ 18 พ.ย.นี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาอุบลราชธานี เชิญชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิกส์ ในช่วงเช้ามืดวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ ว่าที่ร้อยโทชำนาญ เรียนเลิศอนันต์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 คนไทยจะมีโอกาสได้ชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกเกิดขึ้นบนท้องฟ้า ที่เรียกว่าฝนดาวตกลีโอนิกส์ ซึ่งฝนดาวตกลีโอนิกส์จะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 17 พฤศจิกายน ต่อเนื่องถึงเช้ามืดของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 โดยโลกจะโคจรเข้าไปในระยะใกล้เศษซากอุกาบาต ที่ดาวหาง 55 พี เทมเปล-ทัดเทิล ทิ้งไว้เมื่อปี ค.ศ.1466 และ ค.ศ.1533 ซึ่งกลุ่มดาวสิงโตจะปรากฏสูงเหนือขอบฟ้าตะวันออก 45 องศา เวลา 04.00 น. ของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 จุดศูนย์กลางของฝนดาวตกจะอยู่บริเวณดาวสว่างเรียงรายเป็นรูปหัวสิงโต ซึ่งคนไทยเรียกเคียวเกี่ยวข้าว ดาวตกจะตกกระจายไปทุกทิศทาง ในคืนวันที่ 17 พฤศจิกายน ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลา 04.43 น. โลกจะเข้าใกล้สะเก็ดดาวมากที่สุด อาจจะเกิดฝนดาวตกมากกว่า 100 ดวงต่อชั่วโมง ว่าที่ร้อยโทชำนาญ เรียนเลิศอนันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องฝนดาวตกและดาราศาสตร์ จึงมีการจัดกิจกรรมพิเศษ ก่อนชมฝนดาวตกลีโอนิกส์ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาอุบลราชธานี ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 เริ่มเวลา 19.00 น. เป็นต้นไป ซึ่งจะมีการนำชมดวงดาวและวัตถุบนท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ การบรรยายให้ความรู้ปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิกส์ การแสดงท้องฟ้าจำลอง สารคดีทางดาราศาสตร์ และรอชมปรากฏการณ์ ฝนดาวตกลีโอนิกส์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook