กษิต เตรียมร่อนหนังสือขอเขมรดูแล ศิวรักษ์

กษิต เตรียมร่อนหนังสือขอเขมรดูแล ศิวรักษ์

กษิต เตรียมร่อนหนังสือขอเขมรดูแล ศิวรักษ์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รมว.ต่างประเทศเตรียมร่อนหนังสือขอความร่วมมือกัมพูชา ดูแล ศิวรักษ์ ต่อสายตรงคุยกับ ฮอร์ นัม ฮง ขอให้ปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรม

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่กัมพูชาคุมตัวนายศิวรักษ์ ชุติพงศ์ วิศวกรชาวไทย ว่า ตั้งแต่นายศิวรักษ์ถูกควบคุมเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางสถานเอกอัครราชทูตไทยในกัมพูชาได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ลดละ และเพียรพยายามเป็นอย่างยิ่งในการติดต่อกับทางการกัมพูชา โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกรมราชทัณฑ์ของกัมพูชา ในการขอเข้าเยี่ยมถามทุกข์สุขของนายศิวรักษ์ โดยจนถึงขณะนี้เรายังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเยี่ยม โดยเมื่อช่วงเช้านายชโลธร เผ่าวิบูล อุปทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ได้ไปที่กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา และได้พบกับอธิบดีกรมเอเชีย

ส่วนตนนั้น ล่าสุดได้แสดงเจตจำนงไปที่กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาว่าต้องการโทรศัพท์สายตรงถึงนายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศของกัมพูชา ซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินทางไปยังประเทศอิตาลี ในเวลา 18.00 น.ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งตนหวังว่าตนจะได้มีโอกาสพูดคุยทางโทรศัพท์กับรมว.ต่างประเทศกัมพูชา

นายกษิต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนจะมีหนังสือถึงรมว.ต่างประเทศกัมพูชาด้วย เพื่อขอความร่วมมือในการที่จะให้มีข้อยุติในแง่หลักปฏิบัติของกฎหมายและหลักมนุษยธรรมว่าใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาใดๆก็ตามนี้ จะได้รับการเข้าถึงซึ่งการเยี่ยมเยียนของญาติพี่น้องหรือตัวแทน และได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี รวมถึงได้รับการดูแลด้านกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะได้รับทราบข้อหา และได้รับการจัดตั้งทนาย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ โดยสถานเอกอัครราชทูตไทยที่จะต้องให้ความร่วมมือ และประสานกับฝ่ายทนาย บริษัท สามารถ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และครอบครัวอย่างเต็มที่ ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการตามหลักปฏิบัติสากลโดยทั่วไป และที่สำคัญที่สุด เป็นเรื่องมนุษยธรรม ซึ่งเรากำลังรอคำตอบจากทางการกัมพูชา

รมว.ต่างประเทศ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นการประสานงานกับครอบครัวของนายศิวรักษ์นั้น ซึ่งมีมารดาและญาติพี่น้องพำนักอยู่ที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งทางกระทรวงฯได้คุยโทรศัพท์รายงานสถานะล่าสุดของนายศิวรักษ์ และรับฟังความห่วงใย ความร้อนใจจากครอบครัวของนายศิวรักษ์อย่างเต็มที่ โดยในช่วงบ่ายวันนี้(17 พ.ย.) ได้ส่งรองอธิบดีกรมการกงสุลเดินทางไปจ.นครราชสีมา เพื่อเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ และให้ข้อมูลประสานว่าจะร่วมดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตนได้พบกับนายเจริญรัตน์ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถฯ โดยตนได้รับฟังข้อคิดเห็น และประเด็นต่างๆจากทางบริษัทฯ ซึ่งเราให้การยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างเต็มที่ และประสานงานกัน สำหรับเรื่องของข้อกล่าวหานั้น เราได้มีหนังสือจากสถานเอกอัครราชทูตไทยฯไปแล้วเพื่อขอทราบข้อกล่าวหาที่แท้จริง เพราะที่ผ่านมายังไม่ได้รับคำตอบเป็นลายลักษณ์อักษรว่าคืออะไรกันแน่ ซึ่งเท่าที่ทราบก็เป็นข้อกล่าวหาผ่านทางสื่อ

เมื่อถามว่ามีรายงานข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศอ้างคำกล่าวของโฆษกรัฐบาลของกัมพูชา ที่ว่าทางการกัมพูชาอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเข้าพบนายศิวรักษ์ได้แล้ว เมื่อเวลา 14.00 น. เป็นการให้ข่าวที่คลาดเคลื่อนหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เพราะข่าวที่ออกมาจากฝ่ายกัมพูชาต้องมีการยืนยันกัน เป็นเรื่องการตรวจสอบ แต่ตนไม่อยากให้มีการตื่นตระหนกตกใจเมื่อได้รับทราบข้อมูลใดๆ และไม่อยากให้เป็นเรื่องร้อน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องความปลอดภัยของตัวบุคคล และต้องการได้รับความยุติธรรมตามกระบวนการกฎหมาย เราพยายามด้วยความสุขุมตามหลักปฏิบัติสากลและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ส่วนประเด็นที่ว่านายศิวรักษ์มีโรคประจำตัวนั้น ได้รับการยืนยันจากกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชามายังสถานเอกอัครราชทูตไทยฯว่าเขามียาทุกอย่างพร้อม ไม่ว่าจะมีโรคใด แต่เราอยากจะมีคนของเราเข้าไปสอบถามอาการ หรือจัดหาแพทย์เข้าไปหรือจัดเตรียมยาประจำที่นายศิวรักษ์ต้องการไว้

เมื่อถามว่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นทางการเมืองหรือไม่ นายกษิต ปฏิเสธทันทีและกล่าวว่า เรื่องนี้เกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ที่ชื่อคุณศิวรักษ์ อย่าไปโยงกับเรื่องอื่น และเขาเป็นพนักงานบริษัท ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ

ต่อข้อถามถึงกรณีของนายคำรบ ปาลวัฒน์วิไชย เลขานุการเอก ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยฯ รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า นายคำรบได้มารายงานตัวต่อทางกระทรวงฯแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการคุยทางโทรศัพท์กับนายคำรบอยู่ตลอด และมีการสอบถามถึงเรื่องที่เกิดขึ้นตามหลักปฏิบัติทั่วไปหลังจากถูกขับไล่มา ทั้งนี้ยืนยันว่านายคำรบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีของนายศิวรักษ์ เพราะข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตไม่ใช่เจ้าหน้าที่โจรกรรม เราต้องเชื่อในความซื่อสัตย์สุจริตของข้าราชการ และรัฐบาลไม่มีนโยบายเช่นนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook