ความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนตอน 1

ความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนตอน 1

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จากปฏิญญาชะอำ-หัวหิน ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ซึ่งเหล่าประเทศสมาชิกอันประกอบด้วยบรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้ร่วมลงนามในเวทีการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 ที่ชะอำ-หัวหิน ที่ผ่านมา ถือเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่จะสนับสนุนให้เกิดการก่อตั้งประชาคมอาเซียนอันประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยทั้ง 3 เสาหลักนี้ต่างก็ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันให้สำเร็จภายในปี 2558 ตามที่ได้ตกลงกันโดยผู้นำในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2550 และหนึ่งในวัตถุประสงค์ของอาเซียนที่ระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียน คือ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในเรื่องการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีพ รวมทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างพลังประชาชนอาเซียนและเสริมสร้างความเข้มแข็งแห่งประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ การศึกษา ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมในการก่อตั้งประชาคมอาเซียน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีความรับผิดชอบทางสังคม เพื่อที่จะยึดเหนี่ยวกันอย่างแน่นแฟ้นให้เป็นผลสำเร็จ และเพื่อความเป็นเอกภาพในหมู่ชาติสมาชิกและประชาชนอาเซียน โดยการเร่งสร้างอัตลักษณ์ร่วมกัน และการสร้างสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปันที่ครอบคลุมไปถึงความอยู่ดีกินดี การดำรงชีวิตและสวัสดิการของประชาชนที่ดีขึ้น จากทัศนะของรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนที่แสดงในที่ประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 1 (ASED) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549 ที่กล่าวว่า การศึกษาไม่ควรถูกพิจารณาภายใต้เสาสังคมและวัฒนธรรมแต่เพียงอย่างเดียวแต่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควรพัฒนาผ่านทั้ง 3 เสาของประชาคมอาเซียนเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับรัฐสมาชิกแต่ละรัฐ รวมไปถึงในระดับภูมิภาคอาเซียนด้วย ได้นำไปสู่ปฏิญญาชะอำ-หัวหินว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (2552-2558) ซึ่งประกอบด้วยร่างแผนงานของ 3 ประชาคม และแผนปฏิบัติงานสำหรับข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียนฉบับที่ 2 ซึ่งเน้นไปที่การพัฒนามนุษย์ในฐานะที่เป็นกุญแจสำคัญต่อการพัฒนาประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน นอกจากนี้ ทัศนะของรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนในการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2552 ที่ภูเก็ต ซึ่งได้พิจารณาและปรับปรุงชุดของข้อเสนอแนะที่ได้จากการสัมมนาภูมิภาค ครั้งที่ 1 ว่าด้วยความร่วมมือที่แน่นแฟ้นทางการศึกษาเพื่อบรรลุการเป็นประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ะหว่างวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ 2552 ที่กรุงเทพฯ และชลบุรี รวมทั้งการพัฒนาแผนปฏิบัติการเรื่องการศึกษา 5 ปีของอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาอย่างเข้มแข็งภายในอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ได้นำไปสู่การตกลงในการดำเนินการดังต่อไปนี้ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นในการเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อบทบาทของการศึกษาเรื่องการสร้างประชาคมอาเซียนในปี 2558 ได้แก่ อาเซียนจะสนับสนุน ความเข้าใจและความตระหนักรับรู้เรื่องกฎบัตรอาเซียนให้มากขึ้นโดยผ่านหลักสูตรอาเซียนในโรงเรียน และเผยแพร่กฎบัตรอาเซียนที่แปลเป็นภาษาต่างๆ ของชาติในอาเซียน ให้ เน้นในหลักการแห่งประชาธิปไตยให้มากขึ้น เคารพในสิทธิมนุษยชน และค่านิยมในเรื่องแนวทางที่สันติภาพในหลักสูตรของโรงเรียน สนับสนุน ความเข้าใจและความตระหนักรับรู้ในความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อในภูมิภาคในหมู่อาจารย์ผ่านการฝึกอบรม โครงการแลกเปลี่ยน และการจัดตั้งข้อมูลพื้นฐานออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ จัดให้มี การประชุมผู้นำโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอในฐานะที่เป็นพื้นฐานสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคอาเซียนที่หลากหลาย การสร้างศักยภาพและเครือข่าย รวมทั้งยอมรับการดำรงอยู่ของเวทีโรงเรียนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia School Principals Forum: SEA-SPF) ด้านการพัฒนา อาเซียนจะพัฒนากรอบทักษะภายในประเทศของแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อช่วยสนับสนุนการมุ่งไปสู่การจัดทำการยอมรับทักษะในอาเซียน ด้านการสนับสนุน อาเซียนจะสนับสนุนและขับเคลื่อนความสามารถของนักเรียน นักศึกษาให้ดีขึ้น โดยการพัฒนาบัญชีรายการระดับภูมิภาคของอุปกรณ์สารนิเทศด้านการศึกษาที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจัดหาได้ รวมทั้งสนับสนุน การเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือในภูมิภาคอาเซียน โดยผ่านกลไกความร่วมมือในระดับภูมิภาคระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะต้องดำเนินควบคู่ไปกับความพยายามในการปกป้องและปรับปรุงมาตรฐานทางด้านการศึกษาและวิชาชีพ นอกจากนี้ อาเซียนจะพัฒนา มาตรฐานด้านอาชีพบนพื้นฐานของความสามารถในภูมิภาคอาเซียนโดยมุ่งไปที่การสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก และเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยประสานกับกระบวนการกรอบการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านแรงงาน - พัฒนา เนื้อหาสาระร่วมในเรื่องอาเซียนสำหรับโรงเรียนเพื่อใช้เป็นตัวอ้างอิงสำหรับการฝึกอบรมและการสอนของครูอาจารย์ - เสนอให้มี หลักสูตรปริญญาด้านศิลปวัฒนธรรมอาเซียนในมหาวิทยาลัย - เสนอให้มี ภาษาประจำชาติอาเซียนให้เป็นภาษาต่างประเทศวิชาเลือกในโรงเรียน - สนับสนุน โครงการระดับภูมิภาคที่มุ่งเน้นที่การส่งเสริมการตระหนักรับรู้เกี่ยวกับอาเซียนให้แก่เยาวชน และอาเซียนจะรับรองการมีอยู่ของโครงการอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ เช่น การนำเที่ยวโรงเรียนอาเซียน โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนนักศึกษาอาเซียน การประชุมเยาวชนอาเซียนด้านวัฒนธรรม การประชุมสุดยอดเยาวชนนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยอาเซียน การประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน และการประกวดสุนทรพจน์ระดับเยาวชน - สนับสนุน การเรียนรู้ตลอดชีพในประเทศสมาชิกอาเซียนโดยการสนับสนุนการศึกษาสำหรับทุกคน - จัดให้มี การประชุมวิจัยทางด้านการศึกษาอาเซียนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการวิจัยและพัฒนาในภูมิภาคให้เป็นเวทีสำหรับนักวิจัยจากประเทศสมาชิกเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นและเรื่องที่เกี่ยวข้องของภูมิภาค - สนับสนุน ความเข้าใจและการตระหนักรับรู้ในประเด็นและเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอาเซียนโดยการบูรณาการให้อยู่ในหลักสูตรในโรงเรียน และการมอบรางวัลโรงเรียนสีเขียวอาเซียน - เฉลิมฉลอง วันอาเซียน (วันที่ 8 สิงหาคม) ในโรงเรียนโดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การร้องเพลงชาติอาเซียน การจัดการแข่งขันเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอาเซียน การจัดแสดงเครื่องหมายและสัญลักษณ์อื่นๆ ของอาเซียน การจัดค่ายเยาวชนอาเซียน เทศกาลเยาวชนอาเซียน และวันเด็กอาเซียน นอกจากนี้ อาเซียนได้เห็นชอบ ที่จะเสนอในรัฐสมาชิกอาเซียนแบ่งปันทรัพยากรแก่กัน และพิจารณาการจัดตั้งกองทุนพัฒนาด้านการศึกษาของภูมิภาคเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอในการปฏิบัติการต่างๆ ได้ตามที่ได้รับการเสนอแนะมา และมอบหมายให้องค์กรระดับรัฐมนตรีรายสาขาของอาเซียนที่เกี่ยวข้องและเลขาธิการอาเซียนดำเนินการปฏิบัติตามปฏิญญานี้โดยการให้แนวทางและสนับสนุนแผน 5 ปีของอาเซียนว่าด้วยเรื่องการศึกษา รวมทั้งข้อตกลงในการควบคุมดูแลที่ได้รับการสนับสนุนโดยคณะกรรมการผู้แทนถาวรและรายงานต่อผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นประจำผ่านคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนเพื่อให้ทราบผลการคืบหน้าของการดำเนินการ ทั้งหมดนี้คือความมุ่งมั่นและข้อผูกพันของประเทศสมาชิกอาเซียนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาเพื่อให้เกิดประชาคมอาเซียนที่มีการเคลื่อนไหว ประชาคมที่มีความเชื่อมโยงกัน และประชาคมของประชาชนอาเซียน และเพื่อประชาชนอาเซียน ในตอนหน้าสำนักข่าวแห่งชาติ จะนำเสนอความคืบหน้าในการดำเนินการตามปฎิญญาที่กล่าวมา ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในส่วนของประเทศไทยและประเทศสมาชิกบางประเทศที่ได้เร่งเดินหน้าไปบ้างแล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook