ชี้ศก.ไทยปี53ปัจจัยเสี่ยงเพียบการเมือง-มาบตาพุด

ชี้ศก.ไทยปี53ปัจจัยเสี่ยงเพียบการเมือง-มาบตาพุด

ชี้ศก.ไทยปี53ปัจจัยเสี่ยงเพียบการเมือง-มาบตาพุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกฯ รับปัญหาการเมืองยังถ่วงเศรษฐกิจ คาดจีดีพีปีหน้าบวก 3.5% ด้านนักวิชาการชี้ "เศรษฐกิจโลก-การเมือง-ปัญหามาบตาพุด" ปัจจัยเสี่ยงในปีหน้า ม.หอการค้ามองจีดีพีไตรมาส 4 ขยายตัว 2.7% หนุนปีหน้าโตได้ 3.2%

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานปาฐกถาเรื่อง "จากไทยเข้มแข็งสู่ไทยยั่งยืน" ยอมรับว่า ปัญหาการเมืองยังคงเป็นความท้าทายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แต่จะไม่ให้ปัญหาดังกล่าวมาเป็นอุปสรรค โดยเศรษฐกิจยังมีความท้าทายเรื่องราคาพลังงาน ราคาอาหาร และปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยกับเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะกลับมาขยายตัวเป็นบวก และจีดีพีทั้งปีจะหด 3-3.5% และในปี 2553 จีดีพีจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก 3.5%

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2553 ว่า ในปีหน้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะกลับมาเป็นบวก จากที่ในปีนี้หดตัว 3% โดยปัจจัยเสี่ยงที่มีโอกาสทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอ ได้แก่ ปัญหาการเมือง การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น และปัญหาการระงับโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ด้านนางปัทมาวดี ซูซูกิ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้าน่าจะอยู่ที่ 2-3% โดยมีปัจจัยหนุนจากการส่งออก และเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่ามากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังต้องติดตามนโยบายการกีดกันทางการค้า จากการเปิดเสรีการค้าที่ถือเป็นอุปสรรคสำคัญ ซึ่งรัฐบาลต้องวางนโยบายให้ชัดเจนว่าจะแก้ไขได้อย่างไร เช่นเดียวกับปัญหาการเมืองที่ยังเป็นความเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ

ขณะที่นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2552 และแนวโน้มปี 2553 ว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 น่าจะขยายตัวราว 2.7% ทำให้ภาพรวมของปีนี้ติดลบ 3.1% ซึ่งจากสัญญาณที่ดีขึ้นในไตรมาส 3-4 ทางศูนย์คาดว่าในปี 2553 เศรษฐกิจน่าจะเติบโต 3.2%

นอกจากนี้ศูนย์ยังสำรวจสถานภาพหนี้ภาคครัวเรือนทั่วประเทศจำนวน 1,202 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 6-13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยผู้ตอบแบบสอบถามไม่เคยร่วมโครงการหนี้นอกระบบมากกว่า 76.37% และเห็นด้วยกับการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และมองว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้ และคิดว่าการที่รัฐบาลแก้ปัญหาหนี้นอกระบบจะทำให้ลดอัตราดอกเบี้ยจ่ายทำให้มีเงินเหลือเก็บ ไม่มีภาระดอกเบี้ยสูง และทำให้มีเงินเหลือลงทุนได้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook