Indentation Error โปรแกรมเมอร์เยาวรุ่นในสมรภูมิอวกาศ

Indentation Error โปรแกรมเมอร์เยาวรุ่นในสมรภูมิอวกาศ

Indentation Error โปรแกรมเมอร์เยาวรุ่นในสมรภูมิอวกาศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เช้าวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ประเทศไทยได้รับข่าวดีจากความสำเร็จของเด็กไทยอีกครั้ง เมื่อทีม Indentation Error เยาวชนจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Achievement Onboard Award ระดับเอเชีย จากการแข่งขันเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์อวกาศ ในโครงการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge ซึ่งจัดโดยองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) นับเป็นความภาคภูมิใจอีกครั้งหนึ่งของไทย และตอกย้ำถึงความสามารถของเด็กไทยที่ไม่แพ้ใครในโลกเช่นกัน

(จากซ้าย) เสฎฐพันธ์ เหล่าอารีย์, กรปภพ สิทธิฤทธิ์ และธฤต วิทย์วรสกุล(จากซ้าย) เสฎฐพันธ์ เหล่าอารีย์, กรปภพ สิทธิฤทธิ์ และธฤต วิทย์วรสกุล

Indentation Error

ธฤต วิทย์วรสกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หัวหน้าทีม Indentation Error เล่าให้ Sanook ฟังว่า เขาและสมาชิกในทีมอีก 2 คน คือกรปภพ สิทธิฤทธิ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และเสฎฐพันธ์ เหล่าอารีย์ ซึ่งอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นนักเรียนห้องพิเศษวิทยาศาสตร์ หรือห้อง STEM ของโรงเรียน และได้ทำกิจกรรมร่วมกันมาก่อน โดยเฉพาะการแข่งขันหุ่นยนต์ในเวทีต่างๆ ทำให้ทั้งสามคนรู้จักและคุ้นเคยกันอย่างดี จนกระทั่งธฤตได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการแข่งขันในโครงการ Kibo Robot Programming Challenge ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เขาจึงไม่ลังเลที่จะชักชวนน้องๆ เข้าร่วมทีม

“ก่อนที่จะมาถึงการแข่งขันครั้งนี้ พวกเราเขียนโปรแกรมกันมาก่อนอยู่แล้ว ก็เขียนภาษา Python เป็นหลัก แต่การแข่งขันครั้งนี้มันเป็นการแข่งที่ใช้ภาษา Java เป็นหลักครับ ซึ่งพวกผมก็ตั้งชื่อทีมเป็นมุกตลกขำๆ ว่า Indentation Error ซึ่งมันก็คือ ข้อผิดพลาดที่มันจะเกิดขึ้นแค่ในภาษา Python ครับ” กรปภพเล่าถึงที่มาของชื่อทีม

สู่สมรภูมิอวกาศ

สำหรับการแข่งขันในโครงการ Kibo Robot Programming Challenge ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมจะได้รับโจทย์สำหรับเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA โดยมีภารกิจคือ บังคับหุ่นยนต์ให้อ่าน QR Code ภายในสถานีอวกาศจริง และยิงเป้าตามที่กำหนด จากนั้นให้กลับไปยังจุดจอดยาน ซึ่งนอกจากจะเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้ใช้ภาษา Java ในการเขียนโปรแกรมแล้ว การแข่งขันครั้งนี้สร้างความท้าทายใหม่ๆ แก่ทั้งสามคนอีกด้วย

กรปภพเล่าว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เขาได้ควบคุมหุ่นยนต์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ใน 3 มิติ ในขณะที่ธฤตกล่าวว่า

“การแข่งขันครั้งนี้มันเป็นมิติใหม่เลย ที่เราไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน อย่างแรกเลยมันเป็นการแข่งขันที่เป็น simulation ก่อนที่มันจะขึ้นไปบนอวกาศจริง แล้วผมไม่เคยแข่งขันหุ่นยนต์ที่เป็น simulation ที่เราไม่เคยได้จับหุ่นตัวจริงเลย แต่ว่าเราก็แข่งขันกันได้ แล้วผมก็รู้สึกว่ามันเป็นโอกาสที่ดี เพราะว่าอยู่ดีๆ เราคงไม่สามารถที่จะรันโค้ดของเราบนอวกาศจริงๆ ได้ ถ้าไม่ได้ผ่านโอกาสแบบนี้”

ธฤตเล่าว่า ในการแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันจะส่งโปรแกรมไปยังผู้จัดงาน และทางผู้จัดงานจะรันโปรแกรม โดยให้ผู้เข้าแข่งขันลุ้นผลผ่านไลฟ์ เพราะฉะนั้น จึงเรียกได้ว่าพวกเขาดูผลงานของตัวเองที่ทำไปแล้ว และคอยลุ้นว่าคู่แข่งจะทำได้ดีแค่ไหน

“มันมีแข่งทั้งหมด 2 รอบ ก็คือรอบ Programming Skill Round ที่เป็น simulation กับรอบที่รันบนสถานีอวกาศจริง รอบแรกพวกผมค่อนข้างมั่นใจในระดับหนึ่ง คือพวกผมได้รันเป็นทีมสุดท้าย แล้วก็ได้เห็นทีมอื่นมาค่อนข้างเยอะแล้ว ก็ค่อนข้างจะมั่นใจในระดับหนึ่งว่าพวกผมสามารถได้ที่ระดับสูงๆ ในการแข่งขันครั้งนั้น และจากรอบแรกที่พวกผมได้ที่ 1 มา ในรอบ Programming Skill Round ทำให้พวกผมต้องรันเป็นคนแรกในสถานีอวกาศ พอพวกผมรัน โปรแกรมมันก็ไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ ก็เลยรู้สึกใจแป้วว่าเราคงพลาดแล้ว ก็คือทำได้แค่รอไปเรื่อยๆ ว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไรบ้าง” กรปภพเล่านาทีระทึกใจในขณะชมการแข่งขัน

ไม่เพียงแต่ผลงานที่ไม่เป็นไปตามที่คิดเท่านั้น ทีม Indentation Error ยังต้องเจอกับคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างบังกลาเทศ ที่ทำผลงานได้ดีทั้งสองรอบอีกด้วย

“บอกเลยว่าหลังจากเห็นบังกลาเทศแล้ว ผมเลิกหวังที่ 1 ไปแล้ว ที่ 2 ที่ 3 ก็ได้ ที่ 2 ที่ 3 ก็ยังดี ก็ไม่เป็นไร ผมคิดว่าคนเราไม่จำเป็นต้องชนะตลอดเวลา มันก็มีแพ้ มีชนะเป็นเรื่องปกติ แต่ว่าสุดท้ายโชคดี เป็นเพราะว่าเราทำเวลาได้เร็ว ก็เลยชนะมาได้” ธฤตกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลคะแนนปรากฏว่า ทีม Indentation Error จากประเทศไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศไปครอง

“ก็รู้สึกประหลาดใจ เห็นบังกลาเทศดูดีกว่าแล้ว แล้วเห็นเขาประกาศว่าได้ที่ 2 ซึ่งผมก็คิดว่า พวกผมหลุดที่ 1 กันแล้วเหรอเนี่ย แสดงว่าพวกผมไม่ได้รางวัลอะไรเลยหรือเปล่า กำลังงงๆ ว่า ทำไมทีมที่เราคิดว่าได้ที่ 1 มันได้ที่ 2 นะ ก็กำลังงงๆ อยู่ แต่พอเขาประกาศชื่อเราก็ดีใจครับ” กรปภพกล่าว

ด้านน้องเล็กอย่างเสฎฐพันธ์ ก็ระบุว่า เขาตื่นเต้นดีใจกับผลการแข่งขันครั้งนี้มาก เนื่องจากเป็นการแข่งขันในระดับประเทศครั้งแรก เช่นเดียวกับธฤต ที่ยังไม่เคยผ่านการแข่งขันในเวทีต่างประเทศ ก็รู้สึกภูมิใจกับความสำเร็จครั้งนี้

นอกจากนี้ ธฤตยังกล่าวอีกว่า การแข่งขันดังกล่าวได้เปิดโลกให้พวกเขาได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษา Java การเขียนโปรแกรมสำหรับหุ่นยนต์ที่บินได้ รวมทั้งการใช้ระบบปฏิบัติการใหม่อย่าง Linux และ Android Studio ที่เขาไม่เคยใช้ในการเขียนโค้ดมาก่อน ขณะที่เสฎฐพันธ์มองว่า การแข่งขันในเวทีนี้ช่วยให้เขาเห็นเส้นทางใหม่ๆ สำหรับต่อยอดเรื่องการเรียน

“สำหรับผมมันเป็นเรื่องของการปรับใช้ คือในการแข่งขันมันมีช่วงหนึ่งที่พี่ธฤตเอาสูตรคณิตศาสตร์ที่เรียนในห้องมาปรับใช้กับการแข่งขันครั้งนี้ ก็เลยคิดว่าเหมือนเป็นการให้เหตุผลกับตัวเองว่าเราจะตั้งใจเรียนไปทำไมมากขึ้นครับ เหมือนเป็นการตั้งใจเรียนไป ยังไงก็ได้ใช้อยู่ดีสักทางหนึ่ง” กรปภพกล่าวเสริม

มิสพิชชาพร ประยูรอนุเทพมิสพิชชาพร ประยูรอนุเทพ

ลมใต้ปีกของโปรแกรมเมอร์รุ่นเยาว์

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากความมุ่งมั่นและความสามารถของเด็กๆ ที่ทำให้พวกเขาคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ ยังมี “ลมใต้ปีก” ได้แก่ครูจำนวน 4 ท่าน ที่เป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง หนึ่งในนั้นคือ มิสพิชชาพร ประยูรอนุเทพ ครูสอนฟิสิกส์ และยังเป็นที่ปรึกษาประจำชั้นของธฤตและกรปภพอีกด้วย

“ธฤตเขาจะเป็นผู้ใหญ่ค่ะ มีความเป็นผู้ใหญ่ นิ่งๆ สุขุม เขาจะมีความโดดเด่นในเรื่องการจัดสรรเวลา เรื่องของการเรียน ธฤตก็ไม่บกพร่องเลยค่ะ แล้วก็มีการแบ่งเวลามาทำกิจกรรมที่เขาสนใจมากยิ่งขึ้นได้ด้วย แล้วก็เป็นคนค้นคว้า เวลาว่างจากการเรียนเขาก็จะลองดูว่ามีสนามไหนที่น่าสนใจ มีจัดอบรมอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เขาสนใจ เขาเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่รู้ตัวเองแล้ว”

“กรก็เป็นคนที่มีความตั้งใจเช่นเดียวกัน เขาจะเป็นคนที่ต้องได้ มีความมุ่งมั่นตั้งใจ เวลาทำโครงงานของเขาสักอย่าง เขาจะขลุกอยู่กับงานของเขาเลยค่ะ ถ้างานเขาไม่เสร็จ ข้าวก็ไม่กินค่ะ จนครูต้องเดินมาไล่ให้ไปทานข้าว ส่วนของโชกุน (เสฎฐพันธ์) ก็เหมือนเอาพี่สองคนมาผสมกันค่ะ ด้วยความเป็นน้องเล็ก พี่ฝึกมาอย่างไร ก็ดูพี่ๆ เป็นหลัก เขามีธฤตเป็นไอดอล พี่ว่าอย่างไรเขาก็จะค่อยๆ ทำตามไป” มิสพิชชาพรเล่าถึงลูกศิษย์ทั้ง 3 คน

มาสเตอร์เจริญ กรทรวงมาสเตอร์เจริญ กรทรวง

ด้านมาสเตอร์เจริญ กรทรวง ครูผู้ดูแลชมรมหุ่นยนต์ ก็ระบุว่า แม้นักเรียนแต่ละคนจะมีทักษะที่แตกต่างกัน แต่จุดแข็งที่ทั้ง 3 คน มีร่วมกันคือความมุ่งมั่นตั้งใจ ซึ่งเมื่อทั้ง 3 คน ทำงานร่วมกันแล้ว ก็กลายเป็นทีมที่ดี มีการส่งเสริมซึ่งกันและกัน และทำให้ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน

มาสเตอร์ปิยะชาติ นพคุณวิจัยมาสเตอร์ปิยะชาติ นพคุณวิจัย

ส่วนมาสเตอร์ปิยะชาติ นพคุณวิจัย ครูสอนคอมพิวเตอร์ ที่ร่วมลุ้นกับลูกศิษย์ตลอดการแข่งขัน ก็กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อทราบว่าลูกศิษย์ได้รับรางวัลชนะเลิศว่า เขารู้สึกดีใจ และมองว่าเด็กๆ จะได้รับประสบการณ์มากขึ้นจากการแข่งขัน

“เวลาเขาผ่านศึก เหมือนคนเล่นหมากรุกน่ะครับ ยิ่งเล่นกระดานมากขึ้น ความรอบคอบก็จะมีมากขึ้น เขาก็จะมองได้รอบด้านมากขึ้น หรือว่ามองได้กว้างมากขึ้น ฉะนั้นแล้ว อันนี้มันเป็นสิ่งที่มันสะท้อนออกมา ว่าในงานนี้ที่เขาแข่ง พอเวลาเขาเขียนโปรแกรม เขาก็จะหาทางป้องกันเลยว่าจะทำอย่างไร ถ้าปัญหาเกิดอย่างนี้ หุ่นของเขาจะต้องทำอย่างไร ถ้าเกิดเจอปัญหาอย่างที่สอง หุ่นของเขาจะต้องทำอย่างไร จะต้องแก้ไขอย่างไร ผมว่าจุดนี้มันทำให้เป็นผลตกทอดมา แล้วก็ทำให้มองเกมได้กว้างมากขึ้น” มาสเตอร์ปิยะชาติสรุป

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ ของ Indentation Error โปรแกรมเมอร์เยาวรุ่นในสมรภูมิอวกาศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook