จีดีพีปลายปีไทยโตร้อยละ 2.7-3.2

จีดีพีปลายปีไทยโตร้อยละ 2.7-3.2

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วันนี้( 23 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แถลงว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปีนี้ปรับตัวดีขึ้นจาก 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ โดยหดตัวเหลือร้อยละ 2.8 จากที่หดตัวร้อยละ 7.1 และ 4.9 ในไตรมาสแรก และ 2 ตามลำดับ เป็นการหดตัวน้อยที่สุดในรอบปี เมื่อรวม 9 เดือนแรกของปี เศรษฐกิจไทยติดลบร้อยละ 5.0

นายอำพน กล่าวว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากการใช้จ่ายครัวเรือน การลงทุนเอกชนและการส่งออกปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับการกระตุ้นจากมาตรการทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ ประกอบกับปัญหาการเมืองภายในประเทศเริ่มมีสัญญาณคลี่คลายลง ทำให้ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นและหากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 มีการขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 1.3 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีการปรับตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก อัตราการใช้กำลังการผลิตสูงขึ้น และอัตราการว่างงานลดลง

ส่วนเศรษฐกิจไทยไทยในไตรมาส 4 สศช. คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยจะขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 2.7-3.2 และเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบปี ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลด้านบวกต่อการส่งออก การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของครัวเรือน ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น มาตรการเร่งรัดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของป2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวร้อยละ 3.0 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ติดลบร้อยละ 0.9 มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะติดลบร้อยละ 13.7 มูลค่านำเข้าติดลบร้อยละ 26.1 ดุลการค้าเกินดุล 21,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 22,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.7 และมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณร้อยละ 8.8 ของจีดีพี อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจปลายปีที่คาดการณ์ไว้ไม่ได้นำปัญหาการเมืองมาคำนวณ เพราะหากมีการเคลื่อนไหวหรือมีปัญหาการเมืองยอมรับว่า อาจกระทบต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ต้องใช้ความต่อเนื่องในการเดินหน้าโครงการต่าง ๆ

เลขาธิการ สศช. กล่าวถึงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0-4.0 เป็นการ

ขยายตัวภายใต้เงื่อนไขการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการรักษาความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและการดูแลแก้ไข ปัญหาการลงทุนภาคเอกชน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปร้อยละ 2.5-3.5 อัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดร้อยละ 5.3 ของจีดีพี ภายใต้ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในช่วง 75-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจปี 2553เป็นบวก คือ รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพราะการที่เศรษฐกิจเร่งฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมา มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหลายด้านเป็นผลมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นและการลงทุนของภาคเอกชน ตลอดจนการเร่งลงทุนในโครงการภาครัฐ การเร่งสร้างเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนจากการแก้ปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ขณะที่การบริหารเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2553 นายอำพน กล่าวว่า ควรให้ความสำคัญ กับการขับเคลื่อนและผลักดันการลงทุนของภาคเอกชนให้สามารถเป็นกลไกขเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะการสร้างความชัดเจนของกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเปิดกิจการใหม่หรือขยายกิจการเดิม เพื่อช่วยให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เริ่มมาจากภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในระยะที่ 1 และแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์จากการลดภาษีสินค้าในตลาดอาเซียน จากการเปิดเสรีทางการค้าของอาเซียนที่จะเริ่มในเดือนมกราคม 2553 มากขึ้น รวมทั้งเร่งรัดการพัฒนาความเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างโอกาสขยายกำลังการผลิตและขยายตลาดให้เชื่อมโยงได้ระหว่างอาเซียนเดิมและอาเซียนใหม่ และประสานนโยบายการเงินและการคลังในการสร้างความมั่นใจให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง

ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลเดินหน้าร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีข้อตกลงต่าง ๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวและแผนของรัฐบาลที่ลงนามผ่านข้อตกลงร่วมกันไว้ เพราะนโยบายหลักของไทยต้องพึ่งพาและอาศัยเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเป็นแผนที่รัฐบาลวางไว้เพื่ออาศัยแรงงานของเพื่อนบ้านในการผลิต ขณะที่ไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินและบริการ รวมถึงเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นปัญหาระยะสั้นเท่านั้นไม่กระทบต่อการดำเนินนโยบายระยะยาว.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook