รมว.ศธ. หารือผู้ประกอบการภาคเหนือ หาแนวทางผลิตนักศึกษาที่จบตรงความต้องการของตลาดแรงงาน

รมว.ศธ. หารือผู้ประกอบการภาคเหนือ หาแนวทางผลิตนักศึกษาที่จบตรงความต้องการของตลาดแรงงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หารือผู้ประกอบการภาคเหนือ หาแนวทางผลิตนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน แก้ปัญหาการตกงาน นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในการเป็นประธานการประชุมการขยายเครือข่ายความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษาในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม หอการค้าจังหวัดในภาคเหนือ ผู้แทนสถานประกอบการ และผู้แทนสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กว่า 100 คน เข้าร่วมว่า ที่ผ่านมาการจัดการอาชีวศึกษา ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการผลิตแรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรม โดยที่ไม่มีการวางแผนกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งการเรียนในสายอาชีวศึกษา ถูกมองว่าเป็นการเรียนของคนชั้นสอง ทำให้นักศึกษาในระดับ ปวช. และ ปวส. ไม่ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานในสายอาชีพที่เรียนมา แต่จะไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ในสาขาที่เข้าได้ เช่น สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ทำให้ทักษะด้านวิชาชีพสูญหายอย่างน่าเสียดาย แต่จากที่มีพระราชบัญญํติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 แล้ว จะมีการยุบรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษา เป็นสถาบันการอาชีวศึกษา ซึ่งเปิดสอนจนถึงระดับปริญญาตรีในสายวิชาชีพ ซึ่งนอกจากนักศึกษาอาชีวะเรียนได้ถึงระดับปริญญาตรีแล้ว ยังสามารถเข้าไปต่อยอดปริญญาให้กับแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องออกจากงานมาเรียนต่อ โดยจะมีการเทียบโอนประสบการณ์ เป็นหน่วยการเรียนให้ ขณะเดียวกัน ก็มีนโยบายในการประกันคุณภาพผู้เรียนจบปริญญาตรีด้านอาชีวศึกษา โดยจะร่วมกับสมาคมวิชาชีพ เพื่อกำหนดมาตรฐานวิชาชีพผู้ที่เรียนจบในสาขานั้นๆ เพื่อไม่ให้นักศึกษาอาชีวะ จบปริญญาตรีในสายอาชีพจำนวนมากเกินไปแล้วไม่มีคุณภาพ ทำให้เกิดปัญหาตกงาน ด้านนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่อยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันแก้ คือ เรื่องยาเสพติดและสถานบันเทิงต่างๆ เช่น ที่จังหวัดลำพูน มีร้านเกมส์กว่า 300 ร้าน และมีปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าเข้าไปในหอพักและสถานศึกษา โดยเฉพาะด้านอาชีวะศึกษาค่อนข้างมาก นอกจากนั้นอยากฝากให้การผลิตนักศึกษาของ สอศ. สอดคล้องกับตลาดแรงงานในพื้นที่ เพื่อไม่ให้เด็กต้องทิ้งพื้นที่ไปทำงานในจังหวัดอื่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook